สังคม
แพทย์เผยอาการ นร.หญิง 2 คนยังวิกฤต ด้าน ‘ปธ.นักเรียน’ วัย 14 รู้สึกตัวดี แต่ยังอยู่ในห้องปลอดเชื้อ
โดย petchpawee_k
3 ต.ค. 2567
314 views
วานนี้ (2 ต.ค.) รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยอาการบาดเจ็บของนักเรียน 2 คน วัย 7 ขวบ และวัย 9 ขวบ จากเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ และถูกส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้ข้อมูลสำหรับผู้ป่วยเด็กผู้หญิงอายุ 9 ปี พบว่าถูกไฟไหม้บริเวณแขนและใบหน้า ประมาณร้อยละ 30 ของร่างกาย มีความรุนแรงระดับที่ 2 และระดับที่ 3 ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ สัญญาณชีพปกติ แต่พบว่าบาดแผลบริเวณแขนที่แพทย์ต้องเร่งรักษา เพื่อลดความดันที่แขน นอกจากนั้นยังพบว่ามีบาดแผลที่อวัยวะสำคัญ 2 แห่ง คือบริเวณตาและกระจกตา พบความเสียหายของผิวเยื่อตาและผิวกระจกตา แพทย์จึงให้ยาปฏิชีวนะ และรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา ด้วยหัตถการเยื่อหุ้มลบให้ครอบคลุมผิวดวงตาทั้งหมด พร้อมมีการให้เกล็ดเลือดหยอดที่ตาทุก 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ดังนั้นในเคสนี้เรื่องตาเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการพิการ ส่วนระบบทางเดินหายใจ พบเขม่าบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนต้น
ส่วนรายที่ 2 เป็นเด็กผู้หญิงวัย 7 ปี มีบาดแผลไฟไหม้ประมาณร้อยละ 20 ของร่างกาย ที่บริเวณใบหน้า มือและแขน การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจพบว่าทางเดินหายใจบวมแดง และมีเสมหะปนเขย่าภายในทางเดินหายใจ ขณะนี้ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ส่วนอวัยวะสำคัญที่พบความเสียหายคือบริเวณกระจกตา มีบาดแผลลึกบริเวณกระจกตาทั้ง 2 ข้าง ตอนนี้กำลังพยายามรักษาที่กระจกตาด้วยหัตถการเยื่อหุ้มลบ พร้อมให้เกล็ดเลือดหยอดที่ตาทุก 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงเช่นกัน ในเคสนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สัญญาณชพยังเป็นปกติ
โดยสรุปคือเด็กนักเรียนทั้ง 2 ราย ยังมีอาการวิกฤตอยู่ในระดับคงที่ ทีมแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทั้งศัลยแพทย์ จักษุแพทย์ กุมารแพทย์ และทีมที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางโรงพยาบาลจะดูแลทั้ง 2 คนอย่างเต็มที่
ในเรื่องของดวงตาเด็กทั้ง 2 คนนั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษามีโอกาสตาบอดสนิทสูง ซึ่งขณะนี้เป็นการรักษา เพื่อไม่ให้เด็กทั้ง 2 คนกลายเป็นผู้พิการ แต่ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ ว่าดวงตาจะกลับมามองเห็น 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร แต่ให้มั่นใจว่าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯจะรักษาอย่างเต็มที่ ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าเด็กมองเห็นกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะทีมแพทย์ต้องให้ยาเพื่อให้เด็กหลับ เด็กจึงไม่สามารถตอบหรือสื่อสารได้ ว่าเด็กมองเห็นหรือไม่ เพราะทีมแพทย์ต้องให้ยาเพื่อให้เด็กรู้สึกถึงความเจ็บปวดน้อยที่สุด เพราะจากการคุยกับทีมแพทย์ตกลงกันว่า ในช่วง 3-5 วันแรก จะยังคงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจไปก่อน และที่สำคัญต้องดูเรื่องการบวมและการติดเชื้อ หลังจาก 3 – 5 วัน ถ้าอาการดีขึ้นจะสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจ จากนั้นน่าจะสื่อสารกับเด็กได้ ดังนั้นในช่วง 3 – 5 วันจะต้องดูแลใกล้ชิดเพราะยังอยู่ในช่วงวิกฤต เพื่อรักษาชีวิต และดูแลความพิการ แต่ในแง่ดีสัญญาณชีพยังอยู่ในภาวะปกติหรืออยู่ในระดับคงที่
สำหรับจุดที่น่าห่วงและเฝ้าระวังมากที่สุด ในช่วง 3 – 5 วันนี้ คือเรื่องความร้อนที่เข้าไปในเนื้อเยื่อ อาจจะทำให้เกิดเนื้อตายได้ ส่วนอีก 2 ส่วนที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือในเรื่องของตา และระบบทางเดินหายใจ เป็น 3 ส่วนที่ดูแลใกล้ชิด ส่วนร่างกายก็ต้องดูเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขาดน้ำ เกลือแร่ ต้องป้องกันอาการแทรกซ้อน ต้องดูแลใส่ใจในทุกด้าน
ด้านอาจารย์นายแพทย์คณิต วิทยานิชชัย หัวหน้าแพทย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ผู้ป่วยเด็กทั้ง 2 คน อยู่ใน ICU วิกฤติด้านบาดแผลและน้ำร้อนลวก การรักษาทีมแพทย์จะแบ่งทีมเป็น 2 ทีมในการดูแลแผล เนื่องจากเด็กทั้ง 2 คน ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ จากการดูบาดแผลไฟไหม้ของเด็กทั้ง 2 คน จะต้องเป็น 2 ระยะ ในช่วงภาวะวิกฤติคือช่วง 24 ชั่วโมงแรก บาดแผลไผไหม้ที่พบทั้ง 2 คนไม่ใช่การไหม้แบบธรรมดา แต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องฝุ่นละอองต่างๆ ที่เข้าไปในปอดด้วย
เด็กทั้ง 2 คน มีอาการบวมที่บริเวณมือ เพราะมีความร้อนระดับลึกในระดับ 2 และระดับ 3 ซึ่งมีความลึกมาก อาจทำให้มีความดันที่บริเวณมือทั้ง 2 ข้างได้ ล่าสุดจากการดูอาการของคนไข้ทั้ง 2 คน เมื่อช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. พบว่าผู้ป่วยเด็กอายุ 9 ขวบ มีความดันมือสูง มีโอกาสที่วันนี้จะต้องเข้าห้องผ่าตัด เพื่อระบายความดันของมือทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้เกิดการไหลเวียนเส้นเลือดที่ดีขึ้น จากนั้นระยะที่ 2 จะต้องฟื้นฟูบาดแผลให้เป็นปกติ อาจะต้องเข้าห้องผ่าตัดบ่อย ในหลายๆ ราย อาจจะต้องเข้าห้องผ่าตัดอาทิตย์ละครั้ง ส่วนเรื่องบาดแผลที่กังวลกันคือระยะท้ายๆ ทีมแพทย์จะพยายามรักษาให้เด็กกลับมาใช้งานมือได้ปกติ เพราะเด็กต้องมีพัฒนาการด้านต่างๆ ต้องมีการใช้มือ ในส่วนนี้เรามีทีมวิชาชีพดูแลอยู่แล้ว ทีมแพทย์ต้องพยายามให้เด็กใช้ชีวิตตามปกติ ตามพัฒนาการของเด็กให้ได้มากที่สุด
นอกจากนั้นหมอกุมารแพทย์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมช่วงท้ายว่า สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือการสูญเสียสารน้ำ หรือการสูญเสียเกลือแร่ เพราะพื้นที่หน้าผิวของเด็กจะเยอะกว่าของผู้ใหญ่ ทำให้สูญเสียสารน้ำเยอะกว่า มีการขาดน้ำได้รุนแรวแรงกว่า จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด ส่วนระบบทางเดินหายยังต้องใส่ท่อช่วยหายใยเนื่องระบบระบบทางเดินทายใจยังมีอาการบวม ขณะเดียวทีมแพทย์ต้องป้องกันเรื่องปอดอักเสบติดเชื้อเพิ่มเติมด้วย
ส่วนความคืบหน้าอาการของ เด็กหญิง 14 ปี ซึ่งเป็นประธานนักเรียนและช่วยเหลือเพื่อนๆให้รับลงจากรถบัส วันนี้มีญาติจากอุทัยธานีมาติดตามอาการ ตั้งแต่เมื่อวานนี้ที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต กระทั่งถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลเด็ก
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงได้เข้าเยี่ยมน้อง สอบถามอาการ ก่อนออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ ว่า ตอนนี้น้องรักษาตัวอยู่ในห้องปลอดเชื้อ ซึ่งน้องวัย 14 มีบาดแผลไฟไหม้ 11% ลึกลงระดับ 2 (ใต้ชั้นผิวหนัง ) เบื้องต้น รู้สึกตัวดี และจำกัดการเข้าเยี่ยม เพื่อป้องกัน เชื้อโรคและความเครียด รวมถึงต้องดูสภาพจิตใจอีกด้วย
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/mEL2EGH4f10
แท็กที่เกี่ยวข้อง ไฟไหม้รถบัส ,ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา ,อุทัยธานี ,รถบัสทัศนศึกษา