สังคม
รวบ 5 หมอเถื่อน ลักลอบใช้เครื่องสำอาง-ยา ไม่มีทะเบียน ฉีดเข้าเส้นให้ผู้ใช้บริการ
โดย thanaporn_s
28 ส.ค. 2567
1.1K views
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ร่วมปฏิบัติการระดมตรวจค้นสถานพยาบาล บ้านพัก และร้านนวดสปาที่ดัดแปลงเป็นสถานพยาบาล จำนวน 4 จุด จับกุมหมอเถื่อน 5 ราย ลักลอบใช้ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการฉีดเข้าร่างกาย ยาไม่มีทะเบียน และใช้บุคลากรที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำการรักษาประชาชน
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2567 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ระดมกวาดล้างสถานที่ผลิต จำหน่าย รวมถึงสถานพยาบาลที่มีนำผลิตภัณฑ์ infiNADi Nad+(อินฟินาดิ แนทพลัส) ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยการฉีดเข้าสู่ร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแม้จะถูกเพิกถอนใบรับจดแจ้งไปแล้ว แต่ยังพบว่าคลินิกเสริมความงามหลายแห่ง ยังมีการนำมาใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายให้กับผู้รับบริการ
จนนำมาสู่การร่วมปฏิบัติระดมกวาดล้างสถานพยาบาลที่ทำผิดกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง รวม 4 จุด ดังนี้
1. คลินิกเสริมความงาม พื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) โดยขณะเข้าตรวจสอบพบว่า น.ส.ชนาภา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี กำลังให้บริการฉีดเครื่องสำอาง (NAD+ therapy) ให้กับประชาชนที่มารับบริการ และพบบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเครื่องสำอางดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม และไม่มีเคยมีประสบการณ์ หรือความรู้ทางการแพทย์มาก่อน
โดย น.ส.ชนาภาฯ กล่าวอ้างว่า ตนเองจบชั้น ปวส. สาขา คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ทำงานที่คลินิกแห่งนี้ได้ประมาณ 1 ปี รับเงินเดือน เดือนละ 13,000 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม น.ส.ชนาภา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ผู้ทำการรักษา ในข้อกล่าวหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต” และ น.ส.พรรณทิวา (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี ผู้ดำเนินกิจการสถานพยาบาล ในข้อกล่าวหา “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด จำนวน 1 รายการ นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต ดำเนินคดี โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 รายให้การรับสารภาพ
2. ร้านนวดทรีทเม้นท์หน้า พื้นที่ ต.ทับมอญ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าตรวจสอบ สถานที่ดังกล่าว พบว่า เปิดร้านนวดสปาขัดผิวบังหน้าแต่ภายในมีการให้บริการดริปวิตามิน และฉีดเสริมความงาม โดยพบ นางสุนิดา (สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี เจ้าของสถานที่ กำลังฉีดผิวหน้าให้กับผู้รับบริการ และพบ น.ส.ภานิดา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี กำลัง ดริปวิตามินบำรุงผิวให้แก่ลูกค้า จากการตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้งผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาทั้ง 2 ราย รับว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้แก่
1. นางสุนิดาฯ เจ้าของสถานที่ ในข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต, ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ” โดย นางสุนิดาฯ รับว่า ได้เปิดกิจการดริปวิตามินผิวและฉีดเสริมความงามเป็นอาชีพเสริม ได้ประมาณ 2 ปี มีรายได้เดือนละ 40,000 บาทซึ่งได้มีความรู้จากการเคยทำงานภายในคลินิกมาก่อน
2. น.ส.ภานิดาฯ ในข้อกล่าวหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต โดย น.ส.ภานิดาฯ รับว่า เคยเป็นพยาบาลอาชีพ แล้วลาออก มารับจ้างทำงาน ณ ที่เกิดเหตุของ นางสุนิดาฯ ซึ่งเริ่มทำงานมาประมาณ 1 สัปดาห์ ให้บริการลูกค้าไปแล้ว 1 คน โดยได้รับค่าตอบแทนจำนวน 2,500 บาท
พร้อมตรวจยึดยาแผนปัจจุบัน 7 รายการ, ยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 1 รายการ, อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น กระบอกฉีดยา, เข็มคละขนาด เข็มที่ใช้แล้ว จำนวน 11 รายการ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริการ ดริปวิตามินบำรุงผิว ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 รายการ รวมจำนวน 20 รายการ มูลค่า 50,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เขาชะเมา ดำเนินคดี
3. บ้านพักในพื้นที่ ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 จากการตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว พบว่ามีการดัดแปลงบ้านพัก เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้บริการฉีดเสริมความงาม ดริปวิตามินแก่ลูกค้า โดยขณะเข้าตรวจสอบพบ น.ส.วรรณวิสา (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี กำลังให้บริการฉีดวิตามินบำรุงผิวให้กับประชาชนที่มารับบริการ อีกทั้งพบว่าสถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้งผู้ทำการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันจับกุม น.ส.วรรณวิสาฯ ในข้อกล่าวหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต, ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ” โดย น.ส.วรรณวิสาฯ รับว่าตนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้เริ่มให้บริการทำหัตถการเกี่ยวกับการเสริมความงาม มาประมาณ 1 เดือน โดยมีรายได้จากการให้บริการ ครั้งละประมาณ 1,000 บาท โดยมีประสบการจากการทำงานในคลินิกมาก่อน
ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดริปวิตามินขณะเกิดเหตุ จำนวน 1 รายการ, ยาแผนปัจจุบัน 5 รายการ,ยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 8 รายการ, อุปกรณ์ทางการแพทย์ กระบอกฉีดยา เข็มคละขนาด เข็มที่ใช้แล้ว จำนวน 15 รายการ รวมของกลางทั้งหมด 29 รายการ มูลค่า 60,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน สภ.บ้านฉาง ดำเนินคดี
4. ร้านนวดทรีทเม้นท์หน้าแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ 6 ต.นิคมพัฒนา อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ขณะเข้าตรงจสอบ พบ น.ส.ยุภา (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี กำลังให้บริการฉีดวิตามินบำรุงผิวให้แก่ลูกค้าที่มารับบริการ เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่า สถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้ง ผู้ที่ให้บริการฉีดรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม
จึงร่วมกันจับกุม น.ส.ยุภาฯ ในข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต, ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ” โดย น.ส.ยุภาฯรับว่า ตนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เปิดกิจการมา ประมาณ 9 ปี ซึ่งในช่วงแรกเป็นการนวดบำรุงหน้าปกติจากนั้นได้เริ่มมีให้บริการเกี่ยวกับการฉีดวิตามิน โดย น.ส.ยุภาฯ มีความรู้การทำหัตถการจากการจดจำแพทย์ในคลินิก ที่ตนเองเคยทำงานมาก่อนหลายปี น.ส.ยุภาฯมีรายได้จากกิจการ เดือนละ 120,000 บาท
ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำฉีดวิตามิน ให้แก่ลูกค้า จำนวน 1 รายการ, ยาแผนปัจจุบัน 7 รายการ, ยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 9 รายการ, อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น กระบอกฉีดยา เข็มคละขนาด จำนวน 11 รายการ รวมของกลางทั้งหมด 28 รายการ มูลค่า 100,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน สภ.นิคมพัฒนา ดำเนินคดี
รวมตรวจค้น 4 จุด ตรวจยึดของกลาง รวมกว่า 205 รายการ มูลค่ากว่า 280,000 บาท โดยเป็นยามีทะเบียนตำรับยา จำนวน 31 รายการ, ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา 29 รายการ, เครื่องมือแพทย์ จำนวน 19 รายการ, เครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 4 รายการ, เวชภัณฑ์ จำนวน 17 รายการ
จับกุมผู้ต้องหา 6 ราย (แพทย์เถื่อน 5 ราย) เจ้าของคลินิก 1 ราย โดยผู้ทำการรักษาจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 ราย, ปวส. จำนวน 1 ราย และ ปริญญาตรี 3 ราย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา
อนึ่ง การปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยหากพบการกระทำความผิดพนักงานสอบสวนจะมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
แท็กที่เกี่ยวข้อง หมอเถื่อน ,หมอปลอม ,ยาเถื่อน