สังคม

เช็กอาการ 'ฝีดาษลิง' ติดต่อยังไง? หลังไทยพบผู้ป่วยต้องสงสัยรายแรก - เปิดราคาฉีดวัคซีน

โดย petchpawee_k

22 ส.ค. 2567

32 views

กรมควบคุมโรค แถลงด่วน พบชาวยุโรปต้องสงสัยฝีดาษลิง สายพันธุ์ clade 1b รายแรกในไทย มาจากประเทศแถบแอฟริกา เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 43 คน 

วานนี้ (21 ส.ค.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกองระบาดวิทยาว่า พบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร สายพันธุ์เคลด 1b (Clade 1b) รายแรกในประเทศไทย แม้ว่ายังไม่มีการยืนยัน 100% แต่ทราบว่า ติดเชื้อฝีดาษลิงแน่นอน


สำหรับ ผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ที่ต้องสงสัย สายพันธุ์ 1 (clade 1b ) รายแรกในไทย เป็นชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางจากประเทศต้นทางทวีปแอฟริกา  ก่อนเดินทางถึงไทยมีการต่อเครื่องบิน 1 ครั้ง ประเทศแถบตะวันออกกลาง จากนั้นเดินทางถึงไทย ในวันที่ 14 ส.ค. เวลา 18.00 น.


จากนั้นวันที่ 15 ส.ค. ผู้ป่วยรายนี้ มีอาการ ป่วย ไข้ มีตุ่มขึ้นเล็กน้อยตามร่างกาย เข้ารักษาตัวรพ.แห่งหนึ่ง หลังซักประวัติแล้วต้องสงสัย ตรวจเชื้อไวรัส พบเป็นฝีดาษลิง ต่อมาจึงตรวจเชื้อหาสายพันธุ์ โดยผลตรวจเชื้อ clade 2 เป็นลบ จึงตรวจ clade 1b ซ้ำ ผลออกมาไม่ชัดเจน


ล่าสุดขณะนี้ อยู่ระหว่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ซ้ำ นำยีนไปตรวจ RT-PCR โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จะทราบผลยืนยันชัดเจน ในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.นี้ ทั้งนี้มีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและได้ล็อคเป้า มีรายชื่อแล้ว 43 คน เป็นผู้โดยสาร บนเที่ยวบิน แถวที่ใกล้ชิด 2 แถวหน้าและหลัง รวมถึงผู้สัมผัสใกล้ชิด ต้องสังเกตุอาการ 21 วัน


ขณะนี้ผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อน และอาการป่วยรุนแรง ถือว่าไปพบแพทย์เร็ว ทั้งนี้ แม้ผลการตรวจผู้ป่วยยังไม่ 100% แต่ในการควบคุมป้องกันโรค การรับรู้ข้อมูลข่าว จึงต้องรีบมาแจ้งประชาชน เพราะถ้าเริ่มมีข้อมูลออกไปแล้ว คนไปหาข่าวกันเอง ก็จะไปกันใหญ่


สำหรับโรคฝีดาษลิง อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่า เป็นโรคต้องเฝ้าระวัง แต่ติดต่อไม่ง่ายเหมือนโควิด-19 เพราะจะแพร่เชื้อได้ ก็ต่อเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว และติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง จึงไม่อยากให้ตระหนก ทั้งนี้ได้สั่งด่านนานาชาติทุกด่านคุมเข้ม ไม่ให้มีการแพร่ระบาดมากขึ้น


เมื่อถามถึงอัตราการเสียชีวิต 2 สายพันธุ์ มีความแตกต่างกัน นพ.ธงชัย กล่าวว่า เคลด 1 บี มีความรุนแรงมากกว่า อัตราการเสียชีวิต ประมาณ 3-5% ที่องค์การอนามัยโลกเป็นห่วงเพราะพบติดในเด็กด้วย ส่วนเคลด 2 อัตราการเสียปะมาณ 1.3%


เมื่อถามว่ามีผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด ปัจจุบันเดินทางเข้ามายังประเทศไทยวันละประมาณเท่าไหร่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า หากนับจากสายการบินตรงไม่แวะ จะมีประมาณ 4 สายการบิน แต่เรามีประกาศว่า 42 ประเทศ ที่เดินทางเข้าไทยต้องมาพบที่ด่านควบคุมโรคของประเทศไทย วัดไข้ ดูอาการ ซักถามประวัติ และเริ่มประสานสายการบินในการตรวจสอบ คัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมด


“ความเสี่ยงของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมาก หรือระดับ 1 หากจะยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรค ต้องพบการติดเชื้อภายในประเทศ และพบเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งผมมั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดเหมือนโรคโควิด เพราะไม่ได้ติดต่อง่าย การจะแพร่เชื้อได้ ต้องมีอาการ ต่อมน้ำเหลืองโต ถึงจะติด หรือระบาดได้ สรุปคือ  1. การติดของเชื้อนี้ไม่ง่าย 2. การแพร่ วิธีการตัวของเชื้อเองไม่ได้มีประสิทธิภาพในการติดเหมือนโควิด การจะติดต้องใกล้ชิดกันมากๆ แตะตัว แตะผิวหนัง น้ำลายออกไปยังไม่ติดเลย” นพ.ธงชัย กล่าว 

--------------------------------------

อธิบดีกรมควบคุมโรค เผย ในไทยมีเปิดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง แห่งเดียวที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพราะได้ขออนุญาตินำเข้ามาเพื่องานวิจัยทางการแพทย์

ในเพจ เฟซบุ๊ก จากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์ โดยมีการบริการฉีด 2 วิธี


วิธีที่ 1 ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (ขนาดเต็มโดส 0.5 ML)

ราคาเข็มละ 8,500 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน


วิธีที่ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (ครั้งละ 0.1 ML)

ราคาจุดละ 2,200 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน (ต้องมาพร้อมกัน 4 ท่าน)


- สามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ที่ตึกราชูทิศ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.)

และใน เวลา 13.00-16.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 16.00 น.)


- ส่วน วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.)

วันอาทิตย์ปิดทำการ


สำหรับวัคซีนฝีดาษลิง นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกกับเราว่า ในไทยมีบริการฉีดแห่งเดียว คือ ที่สภากาชาดไทย เพราะได้นำเข้ามาเพื่อนำงานวิจัยทางการแพทย์ โดยผู้ที่ฉีดวัคซีนจะมีบริการติดตามผล หลังฉีดด้วย จึงมีราคาที่สูง


ส่วนตัว นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หากใครไม่มีความเสี่ยง จะติดเชื้อฝีดาษลิง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฉีด โดยเฉพาะคนที่ปลูกฝี(แขนมีแผลนูน) ก่อนปี 2523 จะมีภูมิอยู่ในร่างกายตัวเองอยู่แล้ว สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้


ขณะที่ผู้ใช้ x ชื่อ @manopsi โพสต์ข้อความ ระบุ "สำหรับประเทศไทยคนที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝีทุกคน มีภูมิต่อต้าน smallpox (ฝีดาษ) และ monkeypox ได้ ข่าวดีคือ ระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้หลังได้วัคซีนอยู่นานมาก โดยมีค่าเฉลี่ย half life ถึง 92 ปี  ความเสี่ยงคือคนที่อายุน้อยกว่า 42 ปี จะไม่มีภูมิ"



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/NLYjw89on8s


คุณอาจสนใจ

Related News