สังคม

ฝนถล่มกรุง! น้ำท่วมขังหลายพื้นที่ วันนี้เจออีก กรมอุตุฯ เตือน กทม.-ปริมณฑล เจอ 70%

โดย petchpawee_k

7 ส.ค. 2567

20 views

ฝนถล่มทั่วกรุงส่งผลหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง บางจุดรถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้

ช่วงค่ำวานนี้ (6 ส.ค.67) เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร  ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังผิวการจราจร บริเวณถนนลาดพร้าว-วังหิน ทั้ง 2 ฝั่ง  ตั้งแต่ช่วงต้นซอยฝั่งเกษตรนวมินทร์ ไปจนถึงฝั่งโชคชัย 4 ระดับน้ำสูงถึงขอบฟุตบาธ ประมาณ 10-15 เซนติเมตร  รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านจุดดังกล่าว รถยนต์และจักรยานยนต์บางส่วนเครื่องยนต์ดับ ทำให้การจราจรติดขัดบางช่วง

เช่นเดียวกับภายในซอยเสนานิคมที่พบว่ามีน้ำท่วมขังตลอดทั้งซอย จากการสอบถามประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณริมถนนในซอยลาดพร้าว-วังหิน เปิดเผยว่า  ช่วงเวลา 20.00 น.ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักจนถึงเวลาประมาณ 22.30 น. รวมระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมง ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้าและเกิดการท่วมขัง  หากมีรถขับผ่านด้วยความเร็ว จะทำให้น้ำกระแทกเป็นคลื่นและไหลทะลักเข้าถึงภายในตัวบ้าน  


ด้านกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์น้ำท่วมขังผ่านระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนอัตโนมัติ เมื่อช่วงเวลา 23.30 น. ของคืนวันที่ 6 สิงหาคม  พบมีน้ำท่วมขังสูง 2 จุดในพื้นที่ กทม. จุดแรก คือ ซอยเสนานิคม พบระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 28.8 เซนติเมตร และจุดที่ 2 บนถนนรัชดา-ลาดพร้าว ระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 26.9 เซนติเมตร


ขณะที่ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. กทม เขต 9 (จตุจักร-บางเขน-หลักสี่) พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่ พร้อมโพสต์ภาพและข้อความระบุว่า สถานการณ์ล่าสุด ลาดปลาเค้า น้ำท่วม 15cm-20cm ครับ ฝนตกนานต่อเนื่อง 3ชม. ทำให้มีน้ำรอระบายมาก เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต บางเขน กำลังทำงานกันเต็ม เพื่อเร่งระบายน้ำครับ เครื่องสูบน้ำเดินเครื่องเต็มกำลังครับ

---------------------------

วันนี้ (7 ส.ค.2567) กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย 


คาดการณ์สถานการณ์ฝน 7 สิงหาคม 2567 

  • ภาคเหนือ ร้อยละ 60
  • ภาคกลาง ร้อยละ 60
  • ภาคอีสาน ร้อยละ 40
  • ภาคตะวันออก ร้อยละ 60 
  • ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ร้อยละ 60 
  • ภาคใต้ ( ฝั่งตะวันตก) ร้อยละ  70 
  • กทม.-ปริมณฑล ร้อยละ 70


สำหรับบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/qi_jFPK9IUU

คุณอาจสนใจ

Related News