สังคม

'เขื่อนขุนด่าน' ปล่อยน้ำท่วมรีสอร์ท นทท.หนีตายกลางดึก ‘ธรรมนัส’ แจงไม่ได้ปล่อย เป็นเรื่องน้ำหลาก

โดย petchpawee_k

6 ส.ค. 2567

290 views

นทท.ระทึกกลางดึก เขื่อนขุนด่านปล่อยน้ำท่วมรีสอร์ทถึงห้องนอน นักท่องเที่ยวรีบหนีตาย เจอน้ำไหลเชี่ยวถึงระดับเอว รถยนต์จมน้ำเสียหายไม่ต่ำกว่า 20 คัน  “กำนันเป้” ยัน น้ำท่วม เพราะประตูระบายน้ำเขื่อนขุนด่านฯพัง 

ช่วงเวลาประมาณ 02.00 น.ของวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญูเมืองนครนายก ได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินจากศูนย์กู้ชีพ ว่าให้กู้ชีพทุกหน่วยที่มีเรือเตรียมพร้อม เผื่อมีเหตุขอความช่วยเหลือจากประชาชนหรือนักท่องเที่ยวติดภายในบ้านกรณีน้ำท่วมฉับพลันโดยยังไม่สามารถสาเหตุ  ซึ่งบางรีสอร์ทได้อพยพนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่แล้ว  


สอบถามนักท่องเที่ยวที่มาพักในรีสอร์ตแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จ.นครนายก  บอกว่า  ก่อนน้ำเข้าท่วม กำลังนอนพักผ่อนอยู่ในห้องพัก  มารู้ตัวอีกทีตอนน้ำไหลท่วมเตียงจนรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา จนต้องพากันอพยพออกจากห้อง เมื่อออกมาข้างนอก ก็พบว่ามีน้ำไหลหลากเข้าท่วม น้ำเชี่ยวและสูงระดับเอว  จนรถที่จอดไว้ถูกน้ำท่วมเสียหายไป 1 คัน และก่อนเกิดเหตุ ก็ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า


ขณะที่นายสิงหา  เจ้าหน้าที่รีสอร์ตแห่งหนึ่ง บอกว่า  น้ำได้เริ่มไหลเข้าท่วมช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า  และค่อยๆไต่ระดับความสูงขึ้นจนเอ่อล้นตลิ่งภายในเวลาไม่กี่นาที แล้วน้ำก็สูงระดับเอว โดยไม่มีการประกาศหรือแจ้งเตือนมาก่อน กระทั่งตนฝ่ากระแสน้ำออกไปด้านนอก พบว่า น้ำที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่ มาจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่ปล่อยน้ำจากประตูระบายน้ำด้านล่าง โดยตรงสะพานหน้าเขื่อนระดับน้ำท่วมสูงเกือบถึงสะพาน  ขาดอีกประมาณ 1 เมตรก็ท่วมสะพานแล้ว   ส่วนในรีสอร์ทตอนเกิดเหตุมีนักท่องเที่ยวพักอยู่ประมาณ 20 กว่าคน ซึ่งทุกคนไม่ได้รับอันตราย แต่ห้องพัก 12 หลัง ข้าวของที่เก็บไม่ทัน รวมถึงรถยนต์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก


ผู้สื่อข่าวได้รับคลิปจากชาวบ้านในละแวกดังกล่าวที่ฝ่าน้ำท่วมไปถ่ายคลิปที่เขื่อนขุนด่านปราการชล พบว่า มีการปล่อยน้ำออกมาจากประตูระบายน้ำของเขื่อนในเวลากลางคืน  มีชาวบ้านหลายรายมายืนมุงดูการปล่อยน้ำและบอกว่า ไม่มีการแจ้งเตือนมาก่อนเลย และต้องร้องเรียน เพราะได้รับความเสียหาย


ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่พักริมน้ำ ให้ข้อมูลา ปกติแล้วหากเขื่อนจะปล่อยน้ำช่วงเวลากลางคืน  จะมีการแจ้งเตือนผู้ประกอบการ รวมถึงชาวบ้านบ้านที่อยู่ริมตลิ่ง เพื่อให้รับมือและเตรียมความพร้อม แต่คราวนี้ไม่มีการแจ้งเตือนเลย


ส่วนในโซเชียลก็มีการแชร์คลิปนักท่องเที่ยวเผชิญกับน้ำท่วม อย่างเช่น ผู้ใช้ TikTok@mommymama88 ที่โพสต์คลิปน้ำท่วมถนน ไหลแรง และมีรถที่จอดอยู่ถูกน้ำท่วมมากกว่า 10 คัน โดยผู้โพสต์ระบุข้อความว่า “น้ำป่าหลาก ผู้เข้าอบรมข้าราชการใหม่ประสบภัยพร้อมกัน โดยไม่ได้นัดหมาย”


อีกคลิป จากผู้ใช้ TikTok@chompu014  เป็นรีสอร์ตที่อยู่ติดริมน้ำ  น้ำไหลแรง และมีสีขุ่น รวมถึงมีฝนตกหนัก ในคลิประบุว่า อยู่ที่โรงแรมสีดารีสอร์ต นครนายก


และมีผู้ใช้ TikTok@nutpawinjarassittichoke ที่ระบุพิกัด รีสอร์ตสวนลุงเล็ก น้ำท่วมถึงห้องนอน เฟอร์นิเจอร์และทรัพย์สินเสียหาย นักท่องเที่ยวต้องอพยพออกจากรีสอร์ต เดินจูงกันออกมาเพราะกระแสน้ำไหลแรงมา   ส่วนพื้นที่ชั้นล่างของสวนลุงเล็ก กระแสน้ำไหลแรงมาก น้ำท่วมจนมิดโต๊ะหินอ่อน  ผู้โพสต์บอกว่า ความเสียหายนับล้านบาท  / จนกระทั่งช่วงบ่าย จึงมีการอัปเดตล่าสุดว่า น้ำลดแล้วและกลับสู่ภาวะปกติ


ด้านนายธรรมรัฐ กาลิก หรือ กำนันเป้   กำนันตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก  โพสต์เฟซ บุ๊ก ระบุว่า ได้รับแจ้งจาก ผอ.เขื่อนขุนด่านปราการชล ว่า ประตูระบายน้ำพัง ปิดไม่ได้ทำให้น้ำท่วม ชาวบ้านได้รับความเสียหาย พร้อมฝากไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ช่วยดูแลด้วย  


เมื่อทีมข่าวสอบถามไปที่กำนันเป้  ก็ได้รับการยืนยันว่า กำนันเป้ได้รับแจ้งจาก ผอ.เขื่อนขุนด่านฯ จริงๆ พร้อมกับให้ดูข้อความไลน์ที่ ผอ.เขื่อนขุนด่านฯ ส่งมาแจ้งกำนันว่า ประตูระบายน้ำบานล่างของเขื่อนพัง  ปิดไม่ได้ ต้องแก้ไขด้วยการปิดประตูระบายน้ำด้านบนแทน  


โดยบทสนทนาในไลน์ เริ่มจาก ผอ.เขื่อนขุนด่านฯ ส่งภาพมุมสูงของเขื่อนขุนด่านปราการชลมาให้ดูตอน 02.36 น.  พร้อมกับระบุว่า “ปิดได้แล้วครับ” กำนันเป้ก็เลยส่งข้อความถามไปว่า “ท่าผอ.มันเกิดปัญหาอะไรขึ้นครับ ข้างล่างน้ำท่วมเยอะเลยครับเสียหายมากเลยครับ”


ผอ.เขื่อนฯ ส่งภาพประตูระบายน้ำมา พร้อมระบุว่า “บานด้านล่างขัดข้องครับปิดไม่ได้  ต้องปิดบานด้านบน  ปิดแล้วครับ  แจ้งสำนักเครื่องจักรกลที่กรมปรากเกร็ดมาเร่งแก้ไขบานล่างครับ”


กำนันเป้  ยังโพสต์เพิ่มเติมอีก เมื่อวานนี้ เวลา 19.03 น. (หลังจาก ผอ.เขื่อนขุนด่านฯ ชี้แจงว่าเป็นน้ำป่า)  โดยคราวนี้ โพสต์ภาพให้เห็นชัดๆ ระบุว่าเป็นภาพถ่ายช่วงก่อนสว่าง ของเช้าวันที่ 5 ส.ค.67 พร้อมข้อความว่า  


“ไม่ต้องพูดอะไรมากครับดูจากภาพ เขื่อนขุนด่านปราการชลปล่อยน้ำหรือไม่ปล่อยน้ำ ชาวบ้านได้รับผลกระทบในครั้งนี้จากการปล่อยน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชล เสียหายเป็นอย่างมาก ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน ครั้งนี้ครั้งแรก แล้วบอกว่าเป็นน้ำป่า จริงๆน้ำป่าไม่ได้มีเลยครับ น้ำจากเขื่อนล้วนๆที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน”

-------------------------

นครนายก ผอ.เขื่อนแจงน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากเขื่อน แต่มาจากน้ำป่า

นายจักราวุธ สุทธรวิภาต  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราชล ชี้แจง 3  ประเด็นที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ จากเหตุน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่รีสอร์ต คือ 1. เขื่อนลักไก่ปล่อยน้ำ 2.เขื่อนแตก และ 3.ประตูระบายน้ำพัง


โดยประเด็นที่ 1 ยืนยันว่า เขื่อนไม่ได้ลักไก่ปล่อยน้ำ แต่เกิดจากมีฝนตกหนักบนพื้นที่เขาใหญ่ (แหล่งต้นน้ำเขื่อน) โดยสถานีเหนือเขื่อนมีปริมาณน้ำฝน 67 มิลลิเมตร ที่นางรอง 102 มิลลิเมตร และที่สาริกา 93 มิลลิเมตร  ซึ่งเมื่อมีปริมาณฝนเยอะก็จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาทางลำน้ำ มาสมทบที่แม่น้ำนครนายก อยู่ที่ประมาณ 220 ล้านลูกบาศ์กเมตร หรือ 5.5 ล้านคิว  ส่วนการปล่อยน้ำของเขื่อนขุนด่านเป็นการปล่อยน้ำตามแผนพร่องน้ำเนื่องจากน้ำแตะเส้นขอบบน  ซึ่งทางเขื่อนได้ปล่อยน้ำเพียง 30 ล้านลูกบาศ์กเมตร


ส่วนประเด็นที่ 2 และ 3 ที่ระบุว่า ประตูน้ำพัง หรือเขื่อนแตกนั้น ยืนยันว่าไม่จริง  ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงคลิปของชาวบ้านที่บันทึกภาพว่าเขื่อนปล่อยน้ำกลางดึก นายจักราวุธ ระบุว่า ทางเขื่อนมีแผนการปล่อยน้ำไปทางจังหวัด ช่วงวันที่ 1-5 สิงหาคม จะมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ส่วนประตูพังหรือเขื่อนแตกไม่มีแน่นอน


“เหตุการณ์น้ำท่วมรีสอร์ต จ.นครนายก เมื่อกลางดึก เนื่องจากมีฝนตกบนเขาใหญ่ ทำให้เกิดมวลน้ำป่าไหลลงมายังแม่น้ำนครนายกเป็นจำนวนมาก ถึง 220 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยชลประทานได้แจ้งไปยัง ปภ.จังหวัดนครนายก ให้แจ้งพื้นที่ปลายน้ำเตรียมรับมวลน้ำที่จะไหลลงไปยังพื้นที่ปลายน้ำ ยืนยันว่าเขื่อนมั่นคงแข็งแรง ปัจจุบันมีน้ำเก็บกักอยู่ที่ 58% ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก”

--------------------------------

‘ธรรมนัส’แจงเหตุปล่อยน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล บอกเข้าใจผิด เป็นเรื่องน้ำหลากมากกว่า ยัน ‘กรมกรมชลประทาน’ติดตาม สถานการณ์แบบเรียลไทม์ตลอดเวลา


เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.67) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการระบายน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก  ส่งผลให้น้ำไหลทะลักท่วมรีสอร์ต และบ้านเรือนประชาชนได้ความเสียหายว่า น่าจะเป็นการเข้าใจผิด เพราะการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชล มีการระบายน้ำมาโดยตลอด แต่เนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมามีฝนตกหนัก ลำน้ำสาขา เกิดเอ่อเข้าท่วม ยืนยันว่า ไม่ใช่น้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนฯ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของน้ำหลากมากกว่า


เมื่อถามถึงเรื่องการแจ้งเตือนภัยประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ท้ายเขื่อน ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ต้องอาศัยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  หรือ GISTDA ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานดังกล่าว และกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย( ปภ. )ไปดูแล ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน จะต้องมีการแจ้งข่าวในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีการแก้ไขเรื่องการแจ้งเตือน


เมื่อถามถึงการเชื่อมต่อข้อมูลการแจ้งเตือนเข้าด้วยกันจะใช้เวลานานเท่าใด ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า กรมกรมชลประทานได้มีการติดตาม สถานการณ์แบบเรียลไทม์ตลอดเวลา

---------------------------------------

นายกฯ ติดตามสถานน้ำสั่งทำแผนแก้ปัญหาเร่งด่วนใน 3 ปี มั่นใจไม่ท่วมเหมือนปี 54


ขณะที่ นายเศรษฐา  ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ที่กรมชลประทาน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม


นายกรัฐมนตรี  รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของทั้งประเทศ จากนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน โดยภาพรวมสถานการณ์ฝนในปีนี้  ขณะนี้อยู่ที่ 56% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ 4%นายกรัฐมนตรี จึงกำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่คาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วม  ให้ดูแลลงรายละเอียดเป็นรายอำเภอ


นอกจากนี้  อธิบดีกรมชลประทาน ยังรายงานถึงสถานการณ์ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล  จ.นครนายก   ว่า มีการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1-5 สิงหาคม ในระดับคงที่  แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาท้ายเขื่อนจำนวนมากจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม  แต่ขณะนี้ได้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว


ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป  นายกรัฐมนตรีได้กำชับนายอนุทิน ว่า อยากฝากเรื่องของแม่น้ำโกลก จังหวัดนราธิวาส หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พบว่า จำเป็นจะต้องขุดลอกคลองเพื่อไม่ให้คลองตื้นเขิน และระบายน้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาอยู่ เนื่องจากฤดูฝนของภาคใต้จะมาช้ากว่าภาคอื่นๆ ประมาณเดือนพฤศจิกายน


ขณะที่นายอนุทิน รายงานว่า เรื่องนี้แผน และอยู่ในแนวของผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการจะประสานไปทางมาเลเซีย นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำและกำชับว่า ให้ดำเนินการโดยเร็วแม้ฝนจะมาช้าก็ตาม จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนฝนจะมา เพราะทางการมาเลเซียเดือดร้อน เนื่องจากมีพื้นที่ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ฝ่ายเราก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน  อย่างปีที่แล้วก็เกิดปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส หากดำเนินการตรงนี้ได้ก็จะบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้

 จากนั้นนายกรัฐมนตรี ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมอบนโยบาย  โดยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องน้ำ เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำไม่ได้คุณภาพ ซึ่งมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน  โดยมอบหมายให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลเรื่องน้ำ บูรณาการการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานและโครงการที่สำคัญ และสามารถเร่งรัดดำเนินการได้ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี ตลอดจนพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว เพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ


นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิม ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงที่สุด พร้อมทั้งพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำและระบบกระจายน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยในช่วงฤดูฝนนี้ มอบหมายให้กรมชลประทานและ GISTDA นำเสนอพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น


ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมถึงแผน 3 ปี ในด้านทรัพยากรน้ำ โดยมอบหมายให้ สทนช. เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้ ให้ สทนช. รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผล การดำเนินงานตามแผน และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้


ส่วนการการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด


ส่วนบริเวณที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ให้ สทนช.บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย  กำหนดขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ชัดเจน และขอเน้นย้ำให้บริหารสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว  สื่อสารกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เข้าถึง และทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด


ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี แถลงว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ  โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำ เร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ


โดยที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ โดยประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ประกอบด้วยการเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง และการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ


ตนและรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชน โดยได้สั่งการให้ สทนช. เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้ และตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด


เมื่อถามว่า มั่นใจกับการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 54 ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “มั่นใจครับ”


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/0jV9l_IFWyI


คุณอาจสนใจ

Related News