สังคม

'ปลาหมอคางดำ' สุดอึด! นกกินไข่แล้วถ่ายออกมา ยังแพร่พันธุ์ได้ - ซีพีเอฟรับซื้อ 2 ล้าน กก.ทำปลาป่น

โดย nattachat_c

24 ก.ค. 2567

49 views

วานนี้ (23 ก.ค. 67)  นายสมยศ จันทร์เกษม อายุ 67 ปี อดีตกำนัน ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ ต.สองคลอง อ.บางปะกง นอกจากจะพบว่า ระบาดมาจากการไหลมาตามกระแสน้ำในลำคลองที่เชื่อมต่อถึงกัน จากพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ มายังฉะเชิงเทรา รวมถึงยังมีชายฝั่งทะเลอยู่ติดกัน  


ที่น่าตกใจคือ ปลาหมอคางดำ ยังสามารถแพร่กระจายทางอากาศได้ด้วย จากนกกินปลา ทั้งนกกระยาง นกกาน้ำ ที่สามารถดำดิ่งลงไปจับปลาจากใต้น้ำขึ้นมากินได้  มันจะคาบปลาบินขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ซึ่งขณะบิน นกที่กินอิ่มมาก ก็จะสำรอก หรือ ขย่อนออกมา จนปลาที่คาบอยู่หลุดจากปาก ตกลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ หรือบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวบ้าน ทำให้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำสามารถกระจายตัวไปได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ ไข่ปลาหมอคางดำ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง เหมือนที่ จ.สมุทรสงคราม เกษตรกรตากบ่อปลาทิ้งเอาไว้เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน แต่ยังสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้


จึงเชื่อว่า ปลาหมอคางดำที่ถูกนกกระยาง นกกาน้ำกินเข้าไป แต่ในตัวปลายังมีไข่อยู่ในท้องด้วย เมื่อนกถ่ายมูลออกมาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือชายฝั่งทะเลบริเวณนี้ ไข่ปลาอาจยังไม่ตายและฟักเป็นตัวออกมา ซึ่งถือเป็นช่องทางทำให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายตัวไปได้ไกลเพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง  

---------------

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีปลาหมอคางดำ  ระบุว่า


“มีคนถามมาว่า ข่าวไข่ปลาหมอคางดำอยู่ทน 2 เดือนเป็นจริงหรือไม่ จากการลองทำการค้นคว้าดู เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงครับ เพราะไข่ปลาหลายชนิดเคยมีรายงานมาว่าสามารถทนต่อสภาวะที่ไม่เป็นมิตรต่าง ๆ ได้ดีมาก


โดยเฉพาะกรณีในข่าว คือ สภาวะที่แห้ง ไม่มีน้ำ ไข่ปลาจะมีคุณสมบัติพิเศษในการลดการสูญเสียน้ำได้ดีมาก ผนังของเซลล์ไข่ปลาที่มีหลายชั้น แทบที่จะไม่ให้โมเลกุลของน้ำจากภายในหลุดออกไปข้างนอกได้เลย ในสภาวะตามข่าวไข่ก็จะอยู่นิ่ง ๆ รอจนมีโอกาสกลับมาโตเป็นปลาเต็มวัยได้


ที่น่าสนใจกว่านั้นคือมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS เมื่อ 4 ปีก่อน พบว่า ไข่ปลาสามารถรอดอยู่ในระบบทางเดินอาหารของเป็ด หรือ นกน้ำ เช่น หงส์ได้ เรียกว่า endozoochory มีการทำการทดลองให้นกน้ำ เช่น เป็ดกินไข่ปลา แล้วไปพบว่ามูลของเป็ดที่ถ่ายออกมายังมีไข่ปลาที่สามารถเจริญออกมาเป็นลูกปลาได้อีก


ถึงแม้จะเหลือไข่ที่ฟักออกมาเป็นตัวได้ไม่มาก ในการศึกษาพบว่ามีประมาณ 0.2% แต่ก็อาจจะสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมปลาที่เป็น alien species สามารถพบได้ในแหล่งน้ำอื่นที่อยู่ห่างไกลได้ เป็นเพราะมีนกน้ำพาไข่ปลาไปขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำอื่นได้


ข้อมูลนี้น่าสนใจมากครับ ประกอบกับข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับไข่ปลาหมอคางดำที่ดูทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี ด้วยข้อมูลในการศึกษานี้ สมมติฐานที่ว่าการแพร่กระจายของประชากรปลาอาจเกิดขึ้นทางอากาศผ่านนกที่บินไปมาก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน”

---------------

ที่กรมประมง นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์  สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุ กมธ.ดังกล่าว และคณะฯ นำทีมเข้าประชุมร่วมกับนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เพื่อทวงหาหลักฐาน และข้อมูลการนำเข้าปลาหมอคางดำของบริษัทเอกชน รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการส่งมอบตัวอย่างปลาที่บริษัทเอกชนอ้างว่ามีการส่งมอบให้กับกรมประมงแล้ว แต่กรมประมงยืนยันก่อนหน้านี้ ว่าไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างปลาจำนวน 50 ตัว นอกจากนี้ ยังพบว่ามีนักวิชาการหลากหลายท่านเข้าร่วมประชุมอีกด้วย เช่น รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ ในนามที่ปรึกษาคณะอนุ กมธ.


สำหรับการประชุมดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในเวลา 10.30 น. ซึ่งประชุมเป็นการภายใน ช่วงแรกของการประชุมนายบัญชา อธิบดีกรมประมง มอบหลักฐานให้แก่ นพ.วาโย และผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน


ภายหลังถกร่วมกันโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชม. กรมประมง  ได้นำคณะอนุ กมธ.ฯ เยี่ยมชมห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ 2 ห้อง //  ห้องแรก เป็นห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำดอง ซึ่งในห้องมีการดองไว้เป็นตัวอย่างหลากหลายชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์อื่นๆ ประมาณ 160 ชนิด กว่า 5 พันโหล // และยังพบว่า มีโหลดองปลาหมอคางดำที่เก็บมาจากบ่อธรรมชาติในพื้นที่ จ.นครปฐม ซึ่งเก็บมาล่าสุดในเดือน ก.ค.2567 นี้ด้วย


แต่ห้องที่เป็นไฮท์ไลท์สำคัญห้องธนาคาร DNA และห้องปฏิบัติการจีโนมสัตว์น้ำ ซี่งตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 6 อาคารปรีดา เพราะว่าเป็นที่เก็บ DNA ครีบปลาหมอคางดำที่อธิบดีประมง เคยบอกไว้ว่ากรมประมงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่าในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงขอเข้าตรวจสอบที่บ่อพักของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา  จ.สมุทรสงคราม เพื่อตรวจหาสาเหตุเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีการทอดแหในบ่อพัก ซึ่งพบว่ามีปลาหมอคางดำในบ่อ จึงได้เก็บตัวอย่างจากครีบและชิ้นเนื้อมารักษาไว้ที่ห้องเก็บที่ห้องนี้


ด้าน นพ.วาโย กล่าวต่อว่า หากบริษัทเอกชนปฏิบัติตามขั้นตอน ก็จะมีครีบปลาที่สามารถนำมาตรวจสอบได้  เพราะเรามีครีบปลาปี 60 และปัจจุบันแล้ว   หากนำมาตรวจสอบแล้วพบว่าแมทช์กันหมด “ก็จบล่ะ” ถ้าทำตามเอกสารคือไม่มีปัญหา   แต่จากการมาตรวจครั้งนี้ ก็พบว่า กรมประมงไม่มีครีบปลาหมอคางดำเมื่อปี 54

-------------

ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  แถลงข่าวประกาศความร่วมมือกับ 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อร่วมแก้ไขสถานการณ์ปลาหมอคางดำ


นายประสิทธิ์ เปิดเผยว่า บริษัทตระหนักดีว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในหลายพื้นที่  สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตอนนี้ คือ การร่วมมือและสนับสนุนการจัดการปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วน ในฐานะภาคเอกชน บริษัทสนับสนุนแผนปฏิบัติการ 5 โครงการ เพื่อปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเต็มรูปแบบลดจำนวนปลาหมอคางดำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยโครงการแรก จะรับซื้อ ปลาหมอคางดำ 2 ล้านกิโลกรัม


สำหรับแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ ประกอบด้วย

โครงการที่ 1 : ทำงานร่วมกับกรมประมงสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมมือกับโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จังหวัดสมุทรสาคร รับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม และยังมีแผนรับซื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานจุดรับซื้อเพิ่มเติม ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณกรมประมงที่มีมาตรการที่รัดกุม ออกประกาศห้ามการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า


โครงการที่ 2 : ร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการส่งมอบปลากะพงขาว จำนวน 45,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี ทั้งนี้ ขั้นตอนในการปล่อยปลาผู้ล่านั้น เป็นไปตามแนวทางของกรมประมง


โครงการที่ 3 : ร่วมสนับสนุนภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน ในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง ทีมแม่กลองปราบหมอคางดำ” ที่จัดขึ้นในจังหวัดสมุทรสงครามแล้ว 4 ครั้ง เป็นต้น และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด


โครงการที่ 4 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจเพื่อร่วมดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ผ่านมา บริษัทได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ อาทิ ปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น และ น้ำพริกปลากรอบ


โครงการที่ 5 : ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาวต่อไป และยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม

-----------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/vNaoextVcGQ












คุณอาจสนใจ

Related News