สังคม

“ซีพีเอฟ” ประกาศแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ เร่งกำจัดปลาหมอคางดำ

โดย paranee_s

23 ก.ค. 2567

399 views

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศความร่วมมือกับคณาจารย์จาก 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อบูรณาการแก้ไขสถานการณ์ของปลาหมอคางดำ


นายประสิทธิ์ เปิดเผยว่า บริษัทตระหนักดีว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในหลายพื้นที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตอนนี้ คือ การร่วมมือและสนับสนุนการจัดการปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วน ในฐานะภาคเอกชน บริษัทสนับสนุนแผนปฏิบัติการ 5 โครงการ ร่วมแก้ไขปัญหานี้ของภาครัฐตามศักยภาพของบริษัท ต้องขอบคุณ ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ประกอบกับ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงที่เข้มแข็งลงมือปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเต็มรูปแบบเพื่อลดจำนวนปลาหมอคางดำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน


“บริษัทพร้อมนำศักยภาพขององค์กรเข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และลงมือปฏิบัติการเชิงรุกในหลายมิติตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ” ดังนี้


โครงการที่ 1 : ทำงานร่วมกับกรมประมงสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมมือกับโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จังหวัดสมุทรสาคร รับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม และยังมีแผนรับซื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานจุดรับซื้อเพิ่มเติม


ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณกรมประมงที่มีมาตรการที่รัดกุม ออกประกาศห้ามการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า


โครงการที่ 2 : ร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการส่งมอบปลากะพงขาว จำนวน 45,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี ทั้งนี้ ขั้นตอนในการปล่อยปลาผู้ล่านั้น เป็นไปตามแนวทางของกรมประมง


โครงการที่ 3 : ร่วมสนับสนุนภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน ในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง ทีมแม่กลองปราบหมอคางดำ” ที่จัดขึ้นในจังหวัดสมุทรสงครามแล้ว 4 ครั้ง เป็นต้น และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด


โครงการที่ 4 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจเพื่อร่วมดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร


ที่ผ่านมา บริษัทได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ อาทิ ปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น และ น้ำพริกปลากรอบ


โครงการที่ 5 : ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาวต่อไป และยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม


นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่มีโปรตีนที่สามารถนำมาผลิตเป็นปลาป่นคุณภาพ โรงงานยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหานี้ โดยได้ประสานงานกับซีพีเอฟที่ร่วมปฏิบัติการกับกรมประมง และได้รับซื้อแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นจำนวน 600,000 กิโลกรัม โดยยังคงเปิดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง


ด้านนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ผศ.ดร.สิทธิชัย ฮะทะโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง กระบวนการแพร่พันธุ์ปลาว่ามีกระบวนการและใช้เวลาตามวงจรชีวิต กระบวนการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการที่ให้ผลเร็วที่สุด คือ การจับออกไปจากแหล่งน้ำ และปลามีโปรตีนที่ดี สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารเพื่อการบริโภคได้ ทั้งยังสามารถนำไปดำเนินการแปรรูปเป็นปลาป่น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบแหล่งโปรตีน ในสูตรอาหารสัตว์ได้ หรือนำมาทำเป็นปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพที่ดีได้ ตามแนวทางของกระทรวงเกษตรฯ


ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า คณาจารย์ สจล.มีความยินดีที่จะร่วมมือกำหนดแนวทางเพื่อจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างยั่งยืน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยร่วมกับวิธีควบคุมทางชีวภาพ อันรวมถึง การนำปลานักล่าท้องถิ่นกลับสู่ระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการมุ่งเป้าไปที่การรักษาสมดุลทางธรรมชาติและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำของไทย


ด้าน ผศ.ดร นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ควรสร้าการรับรู้การบริโภคปลาชนิดนี้ให้มากขึ้น ว่าสามารถรับประทานได้ ทำอาหารได้หลากหลาย หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารพิเศษ ควรประสานโรงงานตัดแต่งเนื้อปลาเพื่อส่งเป็นเนื้อปลาแช่แข็ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคปลายทาง ทั้งยังสามารถแปรรูปได้อีกแหลายรูปแบบ ขนส่งได้สะดวก ไม่ต้องส่งปลาทั้งตัว ซึ่งจะป้องกันแพร่ขยายของปลาไปในพื้นที่อื่นได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ