สังคม

เกษตรกรเป็นท้อ! 'ปลาหมอคางดำ' โคตรอึด คายไข่ทิ้งในบ่อ ตากแดด 2 เดือน ยังฟักเป็นตัวได้

โดย nattachat_c

23 ก.ค. 2567

18 views

จากกรณี 'ปลาหมอคางดำ' ซึ่งถือเป็น 'เอเลียนสปีชีส์' (Alien Species) หมายถึง สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิด ชนิดพันธุ์อยู่ในประเทศไทย โดยสัตว์เหล่านี้ ถือว่าเป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทำให้ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น กินสัตว์พื้นฐิ่นจนสูญพันธุ์ หรือมีการขยายลูกหลานมากเกินไป ซึ่งตอนนี้ ได้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของ 'ปลาหมอคางดำ' แทบจะทั่วประเทศแล้ว


นายณัฏฐพล เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ หมู่ 4 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า เมื่อ 10 ปี ก่อนตนเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติกว่า 500 ไร่ สามารถจับปลาพื้นถิ่น เช่น กุ้ง ปลากระบอก ปลาดุก ปลาหมอเทศ และปลาธรรมชาติ แต่เมื่อปี 2554 ตั้งแต่ปลาหมอคางดำเริ่มระบาด มันกินลูกกุ้ง ลูกปลาจนหมด ผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงสัตว์น้ำเจ๊งหมด เพราะว่าต้องจ่ายค่าเช่าทุกปี แต่ปล่อยกุ้งกี่ครั้ง ขึ้นมาก็เป็นปลาหมอคางดำ


ที่ผ่านมา ตนเคยสู้กับปลาหมอคางดำมานานแล้ว เคยคิดจะพัฒนาบ่อให้เป็นเชิงพาณิชย์มีการจัดระบบกรองน้ำเข้า โดยการจับปลาขึ้นให้หมด ตากบ่อกว่า 2 เดือน จนดินแห้งแตกระแหงเป็นฝุ่น แล้วก็นำรถแบ็กโฮ เข้าไปดันบ่อปรับพื้นแต่งบ่อใหม่ทั้งหมด และตากบ่อต่ออีก คิดว่าจะฆ่าปลาหมอคางดำให้หมด


จากนั้น เมื่อฝนตกลงมา ตนก็เห็นว่ามีอะไรดำผุดในน้ำ ตนนึกว่าลูกอ๊อด แต่เข้าไปดูใกล้ ๆ พบว่า เป็นลูกปลาหมอคางดำ ตนยังงงว่า ลูกปลาตกจากท้องฟ้า หรือ อยู่ในดิน


แต่จากการวิเคราะห์จึงสรุปว่า ปลาหมอคางดำมันคายไข่ทิ้งไว้ในบ่อ มันทนมาก ทนแดด พอมีน้ำเข้ามามันก็ฟักเป็นตัว กลับมาอีก ตนสู้มันไม่ได้ มันไม่ยอมตาย ตนไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง ก็เลยเลิกเลี้ยงไปค่อนข้างเยอะ เหลือไม่กี่ร้อยไร่ และก็ต้องเปลี่ยนมาเลี้ยงปลากะพง แต่ราคาก็ไม่ดี สู้กับราคากุ้ง ราคาปลากระบอก ราคาสัตว์น้ำเมื่อก่อนไม่ได้


ปัญหานี้มันมาจากบริษัทเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ เพราะตนเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ใกล้บริษัทดังกล่าว อยู่ห่างกันไม่เกิน 400 ม. น้ำในคลองมาถึงกันหมด ในอดีตปลาหมอคางดำไม่มี สมัยเด็ก ๆไม่มี เพิ่งจะพบในคลองเมื่อปี 2554 และเริ่มเยอะจนระบาดหนักในปัจจุบัน


ที่ผ่านมา ชาวบ้านลงทุนทำบ่อ 100 ไร่ เป็น 10 ล้าน แต่ปัจจุบันเขาเลี้ยงอะไรไม่ได้แล้ว เจ๊งหมด อยู่ไม่ได้ เดือดร้อนกันหมด ตนจึงฝากถึงบริษัทเอกชนให้รับผิดชอบช่วยเหลือเยียวยา สำรวจในพื้นที่มีกี่บ่อ กี่ไร่ แล้วก็มาตกลงกันว่า จะช่วยเหลือเยียวยาเท่าไหร่ คือให้เงินมา


แล้วต่อไปนี้ ก็คงต้องอยู่กับหมอคางดำให้ได้ เพราะฆ่ามันไม่ได้จริง ๆ ตนลองหลายวิธี ทั้งเปิดน้ำแห้ง ทำบ่อใหม่ตากแดด ตนสู้กับปลาคางดำมา 4 – 5 ปี ไม่ชนะ จึงถอดใจแล้ว


นายณัฏฐพล ตั้งข้อสงสัยว่า ที่บริษัทเอกชนแจ้งว่า ได้ฝังกลบปลาหมอคางดำแล้ว บริษัทจ้างใครไปฝังกลบ ตนไม่เชื่อ เพราะในอดีตใน จ.สมุทรสงคราม มีตนเป็นเจ้าของรถแบ็กโฮ 1 ใน 2 ราย ของ จ.สมุทรสงครามเท่านั้น


และตนก็เคยเข้าไปทำงานในบริษัทดังกล่าวเป็นประจำ ทั้งกดเข็ม แต่งบ่อ มันคืออาชีพของตน ตนจึงไม่เชื่อว่ามีการฝังกลบซากปลาหมอคางดำ


หรือ ถ้าเป็นจริง ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าไข่ปลามันต้องออกมากับน้ำ จึงคิดว่าตรงนี้คือแหล่งกำเนิด

-------------

นายวัลลภ อายุ 59 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมากว่า 17 ปี ก่อนที่จะปรับบ่อหันมาเลี้ยงปลากะพง โดยพาผู้สื่อข่าวไปดูลูกปลาหมอคางดำในบ่อขนาดเกือบ 200 ไร่ ที่โผล่หัวมาจำนวนมาก จากนั้นได้ปล่อยอวนลงน้ำไม่ถึง 2 นาที ได้ลูกปลาหมอคางดำขนาด 1 นิ้ว รวม 18.5 กิโลกรัม


นายวัลลภ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนเลี้ยงกุ้ง 520 ไร่ ต่อมาปี 2554 ปลาหมอคางดำเริ่มระบาด ตนจึงหันมาทดลองเลี้ยงปลากะพงในบ่อ 20 ไร่ก่อน ตนลงไป 5,000 ตัว แล้วปิดบ่อตาย พอครบกำหนดจับปลากะพงเหลือไม่ถึง 1,000 ตัว แต่ได้ปลาหมอคางดำ 9 ตัน ตนจึงเพิ่งรู้ว่าปล่อยปลากะพงขนาด 3 – 4 นิ้ว มันสู้กับปลาหมอคางดำไม่ไหว เพราะช่วงแรกที่ปล่อย ปลากะพงจะอ่อนเพลีย พวกแม่ปลาหมอคางดำตัวใหญ่จะรุมเข้าใส่ กัดตัวกัดหางจนมันตาย


จากนั้น ตนก็มาทดลองขยายเป็นบ่อ 40 ไร่ ก็เหมือนกันหมด จากนั้น ก็ทดลองขุดบ่อขนาด 10 ไร่ ใหม่หมดปรับพื้นที่ตากบ่อให้แห้ง กรองน้ำเข้า พอครึ่งเดือนลูกปลาหมอคางดำเต็มไปหมด ตนจึงปล่อยปลากะพง 4 นิ้วลงไป 1,000 ตัว  พอวิดบ่อได้ปลาหมอคางดำ 7 ตัน


จากนั้นก็ทดลองปล่อยน้ำมีปลาหมอคางดำอยู่เต็ม แล้วปล่อยปลากะพง 7 – 8 นิ้วลงไป อีก 1,000 ตัว ช่วงแรกดีหน่อยเหมือนกับปลาหมอคางดำลดจำนวนลง แต่หลังจากนั้น 5 – 6 เดือน ปลาหมอคางดำเต็มไปหมดมันออกลูกเยอะ ก็ขึ้นปลาหมอคางดำได้ 5 ตัน ปลากะพงอยู่ครบ


ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าปลากะพง มันกินปลาใหญ่กว่ามันไม่ได้ และก็กินปลาที่เล็กมากๆ ไม่ได้  ที่กรมประมงบอกว่า ปล่อยปลากะพงมากินไข่ กินลูกตัวเล็กๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวผู้มันอมไข่ อมลูก แล้วปลากะพงจะกินยังไง อีกทั้งปล่อยในธรรมชาติ ในคลองมีกอไม้ ต้นไม้ ที่หลบของปลาหมอคางดำเยอะ ปลากะพงก็คงเข้าไปกินลำบาก


ส่วนการที่รัฐบาลรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท นายวัลลภมองว่า เมื่อหลายปีมาแล้วที่มีการระบาด 4 ตำบล 2 จังหวัด จ.สมุทรสงคราม รับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท แต่ต้องขึ้นทะเบียนประมง ในแหล่งน้ำธรรมชาติไม่รับซื้อ และยังจำกัดเวลารับซื้อแค่ 2 วัน ในเวลาราชการ บ่อหลาย 10 บ่อ หลายร้อยไร่ ให้จับพร้อมกัน มาขายพร้อมกัน จะเอาแรงงานที่ไหน ขึ้นปลาไม่ทัน ก็ปล่อยทิ้งไว้ในบ่อ บางบ่อจับหมด พอปล่อยน้ำเข้า ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติก็เข้ามาอีก และก็ขยายพันธุ์เพิ่มจนระบาดในปัจจุบัน


ตอนนั้น ถ้าเขารับซื้อหมดทั้งในบ่อ และในแหล่งน้ำธรรมาติ เอามาขายให้ มันก็ไม่ระบาดขนาดนี้ ดังนั้น ต้องเปิดรับซื้ออย่างไม่มีข้อจำกัด รับหมด รวมทั้งไม่จำกัดเวลา


อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำนั้นยาก แต่เราก็ต้องปรับตัว ซึ่งตนก็ต้องปรับตัวเป็นบ่อตกปลากะพง เลี้ยงปลากะพงขนาดใหญ่

----------------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/dVsiAhoJX50







คุณอาจสนใจ