สังคม

‘เศรษฐา’ ห่วงมหาสารคาม สั่ง สทนช.เร่งแก้น้ำท่วม หลังอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแตก กระทบ 4 ตำบล

โดย petchpawee_k

18 ก.ค. 2567

29 views

ความคืบหน้า คันกั้นน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแตก มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลเข้าท่วมพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ อย่างน้อย 4 ตำบล ได้แก่ ต.กำพี้ ต.ดอนงัว ต.หนองม่วง และ ต.ยาง มีพื้นที่ทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายกว่า 10,000 ไร่

เมื่อวานวันนี้ (17 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำอีกครั้ง พบว่า น้ำได้ไหลออกจากอ่างหมดแล้ว ซึ่งจุดที่คันกั้นน้ำขาดถือเป็นจุดที่ลึกที่สุด ทำให้น้ำจำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลออกจนหมด คงหลงเหลือไว้เศษซากดินโคลนเท่านั้น โดยมีชาวบ้านนำแฉลงมาหาปลาภายในอ่างเก็บน้ำในจุดที่ยังมีน้ำหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากโดย

ทางโครงการชลประทานมหาสารคาม ได้ประสานกับสำนักชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน นำเครื่องจักรเข้าพื้นที่เพื่อเร่งซ่อมแซมจุดที่ขาด ความยาวประมาณ 60 เมตร โดยช่างได้ทำตาข่ายบรรจุหิน บรรจุในตะแกรงหรือทำหินแกรเบียล เพื่อเตรียมนำไปวางตามจุด ซึ่งสถานการณ์น้ำปัจจุบันระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับกัดเซาะ โดยจะได้ดำเนินการ

1.ก่อสร้างทำนบดินชั่วคราว เหนือช่องขาด เพื่อปิดกั้นช่องขาดพร้อมทั้งเสริมความแข็งแรงด้วยกล่อง gabion บรรจุหินใหญ่ เพื่อ ป้องกันน้ำไหลผ่านและให้สามารถเก็บกักน้ำได้ ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 วัน

2.ดำเนินการก่อสร้างตัวเขื่อน กลับคืนสู่สภาพเดิม

3.ดำเนินการก่อสร้างทางระบายน้ำล้นชั่วคราว เพื่อช่วยระบายในช่วงน้ำหลาก

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน นั้น ได้นำเครื่องจักร เครื่องมือลงพื้นที่ เข้าไปกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงลำน้ำเสียวใหญ่เป็นการลดผลกระทบจากน้ำไหลลงสู่พื้นที่ท้ายอ่างฯของประชาชนให้รวดเร็ว คาดว่าสามารถระบายน้ำได้ภายใน 5 วัน จะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งกรมชลประทานจะติดตามและควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

นายศฎายุช ไชยลาด นายอำเภอบรบือกล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ความเสียหายจากเหตุคันดินกั้นน้ำห้วยเชียงคำขาด มีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 10,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบลได้แก่ตำบลกำพี้ ตำบลหนองม่วง ตำบลดอนงัว และตำบลยาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำไหลผ่านเพื่อที่จะไปลงลำเสียวใหญ่ ซึ่งจุดต่อไปที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำได้แก่พื้นที่อำเภอวาปีปทุม ต่อไปยังอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ไหลลงสู่ลำน้ำมูลต่อไป

ในส่วนของการให้ความช่วยเหลืออยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายในเรื่องของพื้นที่การเกษตร การปศุสัตว์ บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายรวมถึงสาธารณูปโภค มีถนนได้รับความเสียหายหลายสาย ซึ่งเราได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมสรรพกำลังเพื่อดำเนินการซ่อมแซมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

นางปนิดา กุดนอก ชาวบ้านบ้านโคกกลางหมู่ 10 ตำบลโนนราษี อำเภอบรบือจังหวัดมหาสารคาม ที่นาของตนอยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 7 ไร่ คาดว่าที่นาจะเสียหายประมาณ 50% คาดว่าปีนี้น่าจะไม่ได้ข้าว หรือได้ก็ได้เป็นส่วนน้อย อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือชดเชย หรือมีแนวทางการช่วยเหลืออื่นเพื่อเป็นกำลังใจให้กับชาวบ้าน


ขณะเดียวกัน วานนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า สถานการณ์ฝนตกหนักในระยะนี้ทำให้เกิดอุทกภัยในลักษณะน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัด ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยาเลย ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี และเพชรบุรี


สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่อีก 2 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งประสบปัญหาฝนตกหนักในระยะเวลาอันสั้นส่งผลให้น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำเป็นจำนวนมากจากฝนตกหนักจนเกินความจุอ่างฯ ส่งผลให้ทำนบดินชั่วคราวขาด บริเวณแนวก่อสร้างทำนบดินชั่วคราว เพื่อปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ทำให้เกิดน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรริมลำห้วยที่ระบายน้ำด้านท้ายอ่างฯ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่


" จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ภายหลังมีฝนตกหนักบริเวณอ่างฯ ห้วยเชียงคำ ตำบลโนนราศี อำเภอบรบือ มีปริมาณน้ำฝน 2 วัน จำนวนกว่า 220 มิลลิเมตร ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เป็นจำนวนมากจนเกินความจุ ส่งผลให้ทำนบดินขาด โดยเป็นทำนบดินชั่วคราวที่กรมชลประทานก่อสร้างขึ้นในระหว่างปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นเพื่อขยายขนาดช่องระบายน้ำของอ่างฯ ห้วยเชียงคำ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ใช้กลไกของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำมูล ซึ่งมี สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน 


ทาง สทนช. ได้ลงพื้นที่และบูรณาการ การดำเนินงานกับกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อำเภอบรบือ และหน่วยงานท้องถิ่น พบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากนี้ปริมาณน้ำส่วนนี้จะไหลเข้าสู่ลำเสียวใหญ่และไหลลงไปยังแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอปทุมรัตน์ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รวมถึงจังหวัดยโสธรและจังหวัดอุบลราชธานี โดยปริมาณน้ำจะไม่ล้นตลิ่งทำให้ไม่มีผลกระทบต่อ พื้นที่ดังกล่าว พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยปรับปรุงให้สามารถเก็บน้ำในช่วงปลายเดือน ส.ค. 67 ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อย่างพอเพียง ในส่วนของการชดเชยความเสียหาย ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจ


ทั้งนี้ สทนช. ได้กำชับให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการสำรวจความมั่นคงของอาคารชลศาสตร์ทุกแห่งให้มีความแข็งแรงตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม จะมีการติดตามประเมินสถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำในอ่างฯ ทุกแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำไม่ให้มีปริมาณน้ำเกินศักยภาพที่อ่างฯ จะรองรับได้”  ดร.สุรสีห์ กล่าว


นอกจากนี้ สทนช. ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. ได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่า ในวันที่ 18 - 19 ก.ค. 67 ประเทศไทยยังคงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดตราดและจันทบุรี ภาคเหนือตอนล่าง บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบ ก่อนที่ปริมาณฝนจะลดลง และจะกลับมามีฝนเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ค. 67 จากหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรงซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังพัฒนาตัว แต่มีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนที่ไปทางประเทศไต้หวันและประเทศญี่ปุ่น


อย่างไรก็ตาม จะมีผลทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์ดินโคลนถล่ม เนื่องจากปัจจุบันมีค่าความชื้นในดินสูง ซึ่ง สทนช. จะมีการบูรณาการผ่านศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ณ จังหวัดระยอง และศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำมูล ณ จังหวัดนครราชสีมา ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล สทนช. ได้มอบหมาย รวมถึงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/LYPzNue0WFE


คุณอาจสนใจ

Related News