สังคม
‘ปลาหมอคางดำ’ บุกบึงมักกะสัน! ปชช.แห่จับทำกิน เผยปลานี้มีมานานกว่า 5 ปี แต่ไร้คนสนใจจนเกิดวิกฤต
โดย petchpawee_k
16 ก.ค. 2567
876 views
ปลาหมอคางดำ บุกบึงมักกะสัน! ปชช.แห่จับทำกินคึกคัก - บางรายมาจากพระราม 2 บอกคิดเมนูไว้แล้ว เจอแน่ต้มยำรสเด็ด - ขณะที่อีกรายบอกทอดกรอบแกล้มเหล้า เผย เริ่มเห็นมีในบึงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แปลกใจโผล่มาได้อย่างไร – ด้าน ผอ.เขตราชเทวี ยอมรับ ปลาหมอบุกบึงมักกะสันจริง ลั่น มาถึงกรุงเทพฯ ฝั่งใน คาดตอนนี้คงไปทั่วแล้ว จ่อหารือหน่วยงานรับมือ
กรณี “ปลาหมอคางดำ” หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่แพร่ระบาดไปหลายจังหวัด รวมทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยก่อนหน้านี้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พูดถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปลาหมอคางดำกระจายแล้วหลายเขต เช่น เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และบางบอน
ล่าสุดวานนี้ (15 ก.ค.67) ฮือฮาในโลกออนไลน์อีกครั้ง หลังมีการเผยแพร่ภาพปลาหมอคางคำบุกตามแหล่งน้ำใน กทม.เพิ่มเติมอีก โดยเพจ “อีซ้อขยี้ข่าว3” โพสต์ภาพชาวบ้านบุกจับปลาหมอคางดำคึกคัก ระบุว่า “ชาวบ้านแถวบึงมักกะสันบุกปราบเอเลี่ยน ปลาหมอคางดำไปทำเมนูอาหารเย็นวันนี้ ตกเย็นบรรยากาศเริ่มคึกคัก...มึงมาผิดจังหวัดหล่ะ”
นอกจากนี้ยังพบว่าหลายคนที่ไปจับแล้วตั้งแต่ช่วงสาย ได้โพสต์คลิปต่างๆลงโซเซียล ซึ่งจะเห็นว่ามีปลาลอยเต็มบึง ส่งผลให้ประชาชนพากันมุ่งหน้ามายังบึงมักกะสันเพื่อนจับปลาเช่นกัน
ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ลงพื้นที่พบว่า ประชาชนในพื้นที่ กทม. แต่ละคนเดินทางมาพร้อมกับอุปกรณ์จับปลาและกล่องใส่ปลา ทั้งถัง กระสอบ ตะกร้า กะละมัง กล่องโฟม ฯลฯ ซึ่งจากการสอบถามและสังเกต พบว่า ในบึงแห่งนี้มีปลาหลากหลายชนิด ทั้งปลานิล ปลาหมอคางดำ
โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก พอจับได้ต่างนำใส่กระสอบซ้อนท้ายรถ จยย. ใส่หลังกระบะกลับไปเพียบและส่วนใหญ่ บอกว่าจับปลาไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร บางส่วนนำไปขายก็มี บางคน ขับรถ จยย.มาจากพระราม 2 เพื่อมาจับปลาหมอคางดำโดยเฉพาะก็มี ซึ่งเมื่อวานนี้ (15 ก.ค.67) พบว่าบางส่วนจับกันถึงมืด 19.00 น. ส่องไฟฉายจับ แต่ช่วงนี้จะได้ปลาตัวเล็ก เพราะปลาตัวใหญ่ถูกจับไปหมดแล้วตั้งแต่ช่วงบ่าย
ทีมข่าวได้คุยกับนายพูนสิทธิ์ อายุ 44 ปี ซึ่งเจ้าตัวได้โชว์ปลาที่จับได้ให้ทีมข่าวดู มีทั้งปลานิล และปลาหมอคางดำ ก่อนจะบอกว่า เห็นจากไลฟ์สดว่ามีการจับปลา ก็เลยขับรถ จยย. มาจากย่านพระราม 2 เลย มา 2 ชั่วโมงจับได้กว่า 2 กระสอบใหญ่ เฉลี่ยกระสอบละ 20 กก. ซึ่งวัตถุประสงค์มาจับ เพราะว่าจะนำไปทำอาหาร และนำไปแบ่งให้เพื่อนร่วมงาน 30-40 คน
นายพูนสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเคยกินปลาหมอคางดำอยู่แล้ว โดยนำไปตากแห้ง แล้วนำมาทอด ส่วนรสชาติจะคล้ายๆปลานิล แต่ที่มาจับครั้งนี้จะลองนำไปทำเมนูใหม่ที่ยังไม่เคยลองคือ “ต้มยำปลาหมอคางดำ” ยืนยันว่ากินได้
ขณะเดียวกันก็รู้ตกใจที่ปลาหมอคางดำมาโผล่แหล่งน้ำ กทม. งงว่าปลาพวกนี้มาโผล่ได้ยังไง เพราะมันคือเอเลี่ยน สปีชีส์มองว่าคงมาทำลายระบบนิเวศน์ ส่วนที่กรมประมงแนะนำว่าให้ช่วยกันจับไปกินนั้นก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี พร้อมย้ำว่ามันกินได้
ขณะที่อีกคน คือนายณัฐพล อายุ 30 ปี ชาวบ้านย่านประชาสงเคราะห์ซอย 2 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบึงมักกะสัน บอกว่า มากับกลุ่มเพื่อนรวม 4 คน ตอนนั้นใช้เวลาไม่ถึง 2 ชม. จับได้ทั้งปลานิลและปลาหมอคางดำ รวมกว่า 6 กระสอบ เฉลี่ยกระสอบละ 20 กก. โดยจะนำไปทำเมนูอาหารประเภทต่างๆ กิน ซึ่งตนเองเคยกินมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งย่างเกลือ ต้มยำ ยืนยันรสชาติเหมือนปลานิล ซึ่งเมนูแรกที่จะทำหลังกลับถึงบ้าน คือ นำไปเผาและทอดกรอบแกล้มเหล้า
นายณัฐพล ยังกล่าวว่า ในบึงมักกะสันแห่งนี้ ตนเคยมาตกปลา และจับปลาบ่อยๆ เริ่มเห็นว่ามีปลาหมอคางดำอยู่ในบึงเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่แล้ว แปลกใจเช่นกันว่าปลาชนิดนี้มาได้ยังไง ซึ่งตนก็ไม่รู้มาก่อนว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ แต่รู้ว่ากินได้
ขณะที่นายกรณิศ บัวจันทร์ ผอ.เขตราชเทวี หลังทราบข่าวว่ามีประชาชนแห่มาจับปลาในบึงมักกะสัน ก็ลงพื้นที่ ก่อนให้สัมภาษณ์ ระบุว่า ตอนแรกก็คิดอยู่ว่าจะห้ามหรือไม่ แต่ปรากฏว่ามีปลาหมอคางดำอยู่ด้วยบางส่วนที่ต้องกำจัดออกไป เบื้องต้นจึงให้จับ แต่หลักๆที่พบคือปลานิล
สำหรับเขตราชเทวี บึงมักกะสันเป็นจุดแรกที่พบปลาหมอคางดำ เพราะเป็นบึงแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำหรับกักเก็บน้ำ และเป็นแหล่งที่ผู้คนชอบมาตกปลา ความจริงก็ห้ามตลอดเพราะห่วงเรื่องอันตราย แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่เกิดวิกฤต และจากนี้จึงจะต้องหาแนวทางกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งกรมประมง กทม. สำนักงานเขต สำนักการรับน้ำ และการรถไฟฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ว่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร
ส่วนสาเหตุที่เกิดภาพปลานานาชนิดเต็มบึงและชาวบ้านแห่จับนั้น ผอ.เขตราชเทวี กล่าวว่า จากการสอบถามสำนักระบายน้ำ เป็นเพราะเร่งลดน้ำเพื่อรองรับฝน ป้องกันปัญหาน้ำท่วม เมื่อน้ำลดลงจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ปิดประตูระบายน้ำ ส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจน ก็เกิดภาวะปลาน็อกน้ำ ตอนแรกได้ข้อมูลว่ามีเฉพาะปลานิล แต่พอลงพื้นที่ชาวบ้านเอาให้ดูก็พบว่ามีปลาหมอคางดำอยู่ด้วยลอยเกลื่อนบึงมักกะสัน
ผอ.เขตราชเทวี กล่าวว่า ขณะนี้ทางผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการแล้ว เพราะเบื้องต้นพบปลาหมอคางดำในพื้นที่ฝั่งธนบุรี และเมื่อวานนี้ (15 ก.ค.67) บุกมาถึงกรุงเทพฯฝั่งในแล้ว แสดงว่าตอนนี้คงไปทั่วแล้ว ไม่ใช่ว่าจะมีเพียง 3-4 เขตเท่านั้น จากนี้ต้องหามาตรการช่วยกัน และประชาชนเองก็เป็นส่วนสำคัญในการช่วยเรื่องนี้ด้วย
ส่วนบึงมักกะสันจะมีคูคลองใกล้เคียง อย่างเช่น คลองสามเสน ระบายน้ำลงบึงมักกะสัน ส่งต่อไปท่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีขั้นตอนการระบายน้ำอยู่ พอน้ำลดไปเยอะจึงเกิดประเด็นเป็นปัญหานี้ขึ้นมา แต่น้ำตรงนี้จะไม่ระบายเข้าเมือง จะไประบายออกทางคลองแสนแสบ และมีประตูระบายน้ำระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนในวันนี้ (16 ก.ค.67) เวลา 09.30 น.เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตจะมาเก็บซากปลาตายในบึง เพราะปลาน็อกน้ำและตายเยอะ เพราะหากปล่อยไว้ปลาจะเน่า ส่งผลให้น้ำเน่า ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ได้
-----------------------------
ปลาหมอคางดำลอยคอเต็มพื้นที่บางขุนเทียน ชาวบ้านเผย ปัญหามีมานานกว่า 5 ปี แต่ไม่มีคนสนใจ จนสถานการณ์วิกฤตเกินแก้ไข – ระบุปลาหมอฯกระจายไปทุกพื้นที่ สร้างความเสียหายกับเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เกินกว่าจะประเมินค่าได้
ส่วนที่ คลองต้นตาล เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่มีรายงานว่าพบปลาหมอคางดำในพื้นที่จำนวนมาก ทันทีที่ทีมข่าวไปถึง สำรวจจุดแรกบริเวณคลองต้นตาล ริมถนนบางขุนเทียน พบปลาหมอคางดำลอยคออยู่ในคลองเป็นจำนวนมากตลอดทั้งคลอง
จากนั้นทีมข่าวลงพื้นที่เลี้ยงปลาของเกษตรกรในพื้นที่บางขุนเทียนชายทะเล ก็พบว่าบริเวณคลองต้นตาลมีปลาหมอคางดำจำนวนมาก ขณะที่วังปลาหรือบ่อเลี้ยงปลา ก็มีปลาหมอคางดำอยู่ในพื้นที่บ่อปลาของเกษตรด้วย ชาวบ้านจึงทดลองทอดแหลงในบ่อเลี้ยงปลา พบว่าปลาที่ติดแหขึ้นมามีเพียงปลาหมอคางดำเท่านั้น
จากการพูดคุยกับนายวรวิทย์ โตใหญ่ เกษตรกรพื้นที่บางขุนเทียนชายทะเล เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ปลาหมอหางดำ เริ่มมีในคลองพื้นที่บางขุนเทียน มากกว่า 5 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมีปีนี้ แต่เมื่อก่อนที่เข้ามาระบาดใหม่ๆไม่มีใครสนใจ คนที่รับกรรมคือเกษตรกร เพราะเมื่อปลาหมอคางดำระบาด กุ้งในบ่อปลาที่เลี้ยงไว้ ถูกปลาหมอคางดำกินหมดแทบไม่เหลือ จนปัจจุบันเกษตรกรหลายคน แทบไม่มีใครเลี้ยงกุ้งแล้ว เพราะลงทุนสูง เลี้ยงไปก็แทบไม่เหลืออะไร เพราะปลาหมอคางดำกินกุ้งหมด คล้ายกับเอาเงินไปทิ้งน้ำ ปลาที่พอเลี้ยงได้ คือ ปลากระพง เพราะปลากระพงกินปลาหมอคางดำ แต่เมื่อเกษตรกรหันมาเลี้ยงปลากระพงกันมากๆ ราคาปลากระพงก็ตกต่ำ จากเมื่อก่อนเลี้ยงกุ้งในช่วงราคาดีๆ กิโลกรัมละร้อยกว่าบาท ถ้าตัวใหญ่ก็กิโลกรัมละ 200 กว่าบาท ส่วนปลากระพงกิโลกรัมไม่ถึง 100 บาท ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันภาครัฐจะพยายามหาทางช่วยเหลือ แต่เกษตรกรมองว่าไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม ปัญหาขณะนี้ถือว่ากระจายไปทั่วแล้ว จนไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นเกษตรกรก็ต้องรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ให้ได้ พยายามจะจับปลาหมอคางดำมาขาย ก็ขายไม่ได้ เนื้อไม่อร่อย แพปลาบางแห่งก็ไม่รับซื้อปลาหมอคางดำ
ส่วนกรณีที่ภาครัฐจะปล่อยปลากระพง หลายหมื่นตัวลงแหล่งน้ำ เพื่อให้ไปกินปลาหมอคางดำนั้น เกษตรกรมองว่าไม่ได้ผลแน่นอน ถ้าจะปล่อย ก็ต้องปล่อยเป็นล้านตัวหรือสิบล้านตัว แต่ก็ไม่สามารถรับรองว่าจะกำจัดปลาหมอคางดำได้ เนื่องจากปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่ฉลาด เอาตัวรอด แอบซ่อนในซอกหลืบได้ และมีการเรียนรู้ตลอดเวลา ที่สำคัญปลาหมอคางดำ อยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำตื้น หรือแม้กระทั่งน้ำเน่าเสีย แต่ปลากระพงไม่สามารถอยู่ในสภาพน้ำเช่นนี้ได้ นอกจากนั้นยังพบว่าปลาหมอคางดำแพร่ขยายพันธุ์เร็วมาก แม้ตัวยังไม่ใหญ่หรือโตเต็มที่ก็สามารถมีไข่ได้
ทั้งนี้เกษตรกร มองว่าปัญหาปลาหมอคางดำนั้น จุดเริ่มต้นมาจากจิตใต้สำนึกของคนที่นำเข้ามาในประเทศไทย เพราะปลาหมอคางดำไม่สามารถว่ายน้ำข้ามทวีปมาไทยเองได้ ปลามันซื้อตั๋วเครื่องบินมาเองไม่ได้ ซื้อเรือสินค้ามาเองไม่ได้ ดังนั้นต้องไปหาว่าใครลักลอบนำเข้ามา
เกษตรกรบางคน ทำอาชีพประมงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีปลาหมอคางดำเข้ามา ทำให้หากินยากขึ้น กระทบกับเกษตรกรเป็นวงกว้าง จนขณะนี้ขยายไปหลายจังหวัดแล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเป็นปัญหาเล็กๆ ไม่สำคัญ แต่ไม่เคยมีใครนึกถึงว่าชาวบ้านจะอยู่อย่างไร ภาครัฐไม่รับรู้ความเดือดร้อนจริงๆ เพราะความเดือดร้อนอยู่กับชาวบ้าน การทำงานของภาครัฐจึงเป็นไปแบบช้าๆ ไม่ทันการณ์ จนปลาหมอคางดำระบาดหนักมากในขณะนี้
สุดท้ายเกษตรกร ฝากข้อความไปถึงรัฐบาล ขอให้เข้าไปจัดการตามหาตัวผู้ที่นำปลาหมอคางดำเข้ามา และสั่งปรับลงโทษอย่างหนัก แล้วนำเงินไปเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรจริงจัง ต่อไปก็จะมีคนนำสัตว์ต่างถิ่น เข้ามาทำลายวงจรสัตว์น้ำประจำถิ่น หรือนำสัตว์ต่างถิ่นมาสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรได้อีก เพราะโทษผู้กระทำผิดไม่รุนแรง ดังนั้นกฎหมายต้องรุนแรง ชาวบ้านทั้งจังหวัดสามารถฟ้องบริษัทที่นำเข้าปลาหมอคางดำได้ บริษัทที่นำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่นำเงินของภาครัฐมารับผิดชอบแก้ปัญหาให้เษตรกรแทน
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/535fLJI3ElM
แท็กที่เกี่ยวข้อง ปลาหมอคางดำ ,จับปลาหมอคางดำ ,บึงมักกะสัน ,แห่จับปลา