สังคม

'ณัฐชา' จี้แก้ปัญหา 'ปลาหมอคางดำ' กลางสภา - รมช.เกษตรฯ เร่งหาบริษัทต้นตอ ลั่นต้องกำจัดเท่านั้น

โดย nattachat_c

12 ก.ค. 2567

55 views

วานนี้ (11 ก.ค. 67) ที่ชายหาดแม่รำพึง อำเภอเมืองระยอง พบว่ามีประชาชน จำนวนมากนำอุปกรณ์ดักจับปลา เช่น แห สุ่ม ตะแกรง ลอบ อวน ออกดักจับปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด เช่น ปลาช่อน ปลาสลิด ปลาตะเพียน ปลากะดี่ และปลาหมอไทย ซึ่งไหลมาตามกระแสน้ำจากคลองธรรมชาติออกสู่ท้องทะเล เนื่องจากฝนที่ตกหนัก และต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อวาน ทำให้ปริมาณน้ำในคลอง และแหล่งน้ำสาธารณะ ในพื้นที่ตำบลตะพง เอ่อล้นไหลตามคลองธรรมชาติออกสู่ทะเล มีปลาน้ำจืดจากบ่อเลี้ยงปลา และปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติไหลมาตามกระแสน้ำ เป็นจำนวนมาก


ประชาชน จึงพากันมาดักจับเพื่อนำไปประกอบอาหาร และจำหน่าย ทั้งนี้ ที่ชายหาดแม่รำพึงวันนี้ ยังไม่พบปลาหมอคางดำ


แต่...เพจ สื่อเถื่อน ได้โพสต์ข้อความระบุว่า 

พบปลาหมอคางดำในทะเลระยอง


เมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน หาดหินขาว- แม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง ระยอง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง ชาวประมงหว่านแหบริเวณชายหาด ปรากฎว่า ได้ปลาหมอคางดำจำนวนมาก


และยังพบปลาหมอคางดำ ในทะเลริมชายหาดรวมฝูง กำลังไล่ล่าปลากระบอก และลูกปลาชนิดอื่น ๆ

--------------

ทั้งนี้ รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่าน เพจ Jessada Denduangboripant ว่า 


ปลาหมอคางดำ มันเป็นปลา 3 น้ำน่ะครับ อยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม


ถ้าไม่รีบกำจัดควบคุม มันระบาดไปทั่วประเทศแน่ ๆ


เผลอ ๆ จะลามไปถึงกัมพูชา มาเลเซีย จนถึงสิงคโปร์ ได้เลยนะครับ

--------------

จากข้อมูลของ ไทยพีบีเอส ก่อนหน้านี้ ชาวประมงในมหาชัย เปิดเผยว่า พบปลาหมอคางดำจำนวนมาก ซึ่งได้ไล่กินกุ้ง และสัตว์ท้องถิ่นต่างๆ จับปลากระบอกได้น้อยมาก  

--------------

วานนี้ (11 ก.ค. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาเรื่องปัญหาปลาหมอคางดำ โดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล โดยระบุว่า


ขณะนี้ ปลาหมอคางดำแพร่ระบาด 13 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่กำลังประกาศขายที่นา ดังนั้น ขอถามรัฐบาลถึงต้นตอของการนำปลาสายพันธุ์ชนิดนี้เข้ามาด้วยวิธีการใดบ้าง และผู้นำเข้ามีส่วนรับผิดชอบอย่างไร การแก้ปัญหาของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้แก้ปัญหานี้อย่างไร ใช้งบประมาณไปเท่าไร และกับค่าอะไรบ้าง


นอกจากนี้ อยากให้ประกาศให้ชัดว่าจะเอาอย่างไรกับปลาสายพันธุ์นี้ จะกำจัดอย่างเดียว โดยประเทศไทยจะไม่รับรองปลาสายพันธุ์นี้เข้ามาอยู่ใช่หรือไม่ และมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้วถูกปลาหมอคางดำเข้าไปกัดกินอย่างไร


ด้านนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ ชี้แจงว่า กระทรวงเกษตรฯ จะไม่สนับสนุนให้ประชาชนเลี้ยงเพิ่ม ต้องกำจัดอย่างเดียวเท่านั้น


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ในช่วงปี 2560 และลามจนถึงตอนนี้ ตนให้กรมประมงตรวจสอบ และยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานของการนำส่งตัวอย่างของปลาสายพันธุ์นี้เข้ามาแต่อย่างใด


อย่างไรก็ตาม เอกสารของกรมประมงมีจำกัด ตนไม่สามารถระบุได้ว่า ในปี 2560  มีการส่งมอบตัวอย่างขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีหลักฐาน  หรืออาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ได้  ซึ่งตนอยู่ตรงนี้ ก็ต้องเชื่อว่ากรมประมงค้นแล้ว และไม่มีหลักฐานว่ารับตัวอย่างมาจริง ๆ


นายอรรถกรชี้แจงต่อว่า ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ หากเรามีตัวอย่าง เราสามารถนำดีเอ็นเอไปตรวจสอบย้อนกลับได้ เราก็จะสามารถหาผู้ที่เป็นต้นตอ และนำมารับผิดชอบต่อไป ดังนั้น ถ้าใครมีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่า ใคร หรือบริษัทใดเป็นคนทำ เรายินดีทำงานร่วมกับท่านเพื่อแก้ปัญหาต่อไป การตรวจสอบหาต้นทาง เราขาดแค่หลักฐานที่เป็นปลาตาย หรือป่วย ที่เข้าเงื่อนไขการนำเข้า ณ เวลานั้น แต่เราหาต้นตอไม่เจอ ซึ่งเราพยายามหาต้นตอ หากพิสูจน์ได้จริง ๆ ว่า ใครทำผิดก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายระดับประเทศ


ทั้งนี้ เรามีร่างแผนการปฏิบัติการแก้ไขการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยเราจะไปประชุมคณะกรรมการในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีเรามี 5 มาตรการ 13 กิจกรรมย่อย ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่กรมประมงเร่งรัด คือ การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซมปลาจากสองเอ็น (2n) เป็นสี่เอ็น (4n) ทำให้โครโมโซมปลาชนิดนี้เปลี่ยน แล้วปล่อยลงทะเลไป เมื่อผสมพันธุ์กันแล้วก็จะทำให้ปลาเป็นหมัน ซึ่งปลาที่จะปรับเปลี่ยนโครโมโซมจะกระโดดลงน้ำภายในสิ้นปีนี้

--------------

นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ผู้บริหารสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรีฯ ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำ ในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ได้ให้ความสำคัญในกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างมาก ระดมกำลังลงพื้นที่ประสานงาน ติดต่อเตรียมการอย่างจริงจัง ทั้งการประสานชาวบ้านทั้งใน และต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ที่จะมาร่วมกิจกรรมจับปลาหมอคางดำ เตรียมเรือหางยาว เรือพาย เรือยาง เครื่องมือประมง การประกอบอาหารจัดเลี้ยง สถานที่และเตรียมเต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ เพื่อให้การจัดกิจกรรมพร้อมสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตนขอขอบคุณสื่อมวลชนที่เกาะติดนำเสนอข่าวการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัว และให้ความสำคัญกับปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ มหัตภัยจากต่างแดน ตน และสหกรณ์กุ้งปากพนัง ชมรมกุ้งสงขลา-นครศรีฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งประชาชนทั้งในพื้นที่รวมทั้งจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัดให้ความสนใจแจ้งความประสงค์เดินทางมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก


ขณะที่มีผู้แจ้งความประสงค์ที่จะรับซื้อปลาหมอคางดำในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้แล้ว 2,100 กก. คาดว่าจะยังมีผู้ที่แจ้งยอดความต้องการเข้ามาเพิ่มเติมอีกยอดรวมอาจจะสูงกว่า 3,000 กก. หรือ 3 ตัน อย่างแน่นอน

--------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/U9LL6TnUQYU


คุณอาจสนใจ

Related News