สังคม

ลูกบ้านคอนโดหรู ติดเชื้อปรสิตจากน้ำ ตาแดงนับร้อยคน - กทม.ขีดเส้น 11 ก.ค. ถ้าไม่แก้ ดำเนินคดีแน่

โดย nattachat_c

10 ก.ค. 2567

141 views

ลูกบ้านคอนโดหรู ติดเชื้อปรสิตปนเปื้อนในน้ำ ทำตาแดงนับร้อย บางรายเสี่ยงตาบอด แต่นิติฯ แนะให้ซื้อเครื่องกรองน้ำมาติดเอง กทม. ขีดเส้นตายหากไม่แก้ปัญหาคุณภาพน้ำภายใน 11 ก.ค.จะดำเนินคดีตามกฎหมาย นิติฯ แจงดำเนินการทิ้งน้ำในถังเก็บน้ำทั้งหมด เปลี่ยนน้ำ ผสมคอลลีน ล้างฆ่าเชื้อ ชี้ผลตรวจคุณภาพน้ำปกติแล้ว ลูกบ้านเปิดผลตรวจล่าสุด (9 ก.ค.) ระบุ น้ำยังไม่ปกติ ไม่มั่นใจน้ำปราศจากเชื้อปรสิตหรือไม่


วานนี้ (9 ก.ค. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับลูกบ้านคอนโดแห่งหนึ่ง ที่มีอาการตาแดงจากการติดเชื้อ หลังแจ้งนิติบุคคลของคอนโดดังกล่าว กลับได้รับคำตอบว่า ให้ลูกบ้านหาซื้อเครื่องกรองน้ำมาใช้กันเอง


โดยในโพสต์ระบุว่า "คุณปุ๊กคะ รบกวนช่วยลงข่าวนี้ให้ทีได้ไหมคะ พอดีตอนนี้ที่คอนโดเดือดร้อนมาก คอนโดย่านลาดพร้าว ใกล้เซ็นทรัลลาดพร้าว ติดเชื้อจากตาแดง ผลตรวจจากจุฬากับศิริราช คือเจอเชื้อปรสิต Acanthamoeba ในน้ำ แล้วก็ Microsporidia ที่หมอวินิจฉัยค่ะ แต่ตอนนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข"


ทีมข่าวคุยกับ คุณเบสท์ กรรมการคอนโด หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า ช่วงเดือนสิงหาคม 64 ที่เปิดตัวโครงการคอนโดดังกล่าว ก็เริ่มมีการร้องเรียนประปรายเรื่องคุณภาพน้ำประปาไม่สะอาดในเชิงกายภาพ เช่น มีฝุ่น น้ำขุ่น ซึ่งตอนนั้น มีเจ้าของร่วมบางห้อง รวมถึงตน ได้ส่งเคลมประกันไปทาง after sales service ซึ่งเป็นบริการหลังการขายว่า อยากให้ช่วยแก้ไข แต่ก็ไม่มีการตอบกลับจากบริษัทที่เป็นผู้พัฒนาโครงการ และไม่ได้เข้ามาตรวจสอบแต่อย่างใด มีเพียงการอ้างอิงว่า น้ำประปาที่นิติบุคคลส่งตรวจเพื่อประกอบ EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) มันได้มาตรฐาน ทั้งที่จริง ๆ ยังมีปัจจัยอื่นร่วมอีก


ต่อมา วันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา เริ่มมีลูกบ้านรวบรวมรายชื่อคนที่ประสบปัญหาเรื่องสุขภาพจากน้ำประปาในคอนโด โดยมีคนที่ติดเชื้อที่ดวงตา ระคายเคืองที่ดวงตา กระจกตาอักเสบ จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน สามารถรวบรวมผู้เสียหายได้ทั้งหมด 72 ห้อง ซึ่งตนก็ติดเชื้อเช่นกัน ประมาณหนึ่งสัปดาห์ถึงจะหาย


จากนั้นคณะกรรมการคอนโด ได้เอากลุ่มไลน์ลูกบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำประปา ไปส่งให้นิติบุคคลว่า นี่คือปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงจำเป็นต้องตรวจวัดค่าน้ำเพิ่มเติม ทั้งค่าคลอรีน เชื้ออะมีบา และค่าจุลินทรีย์ต่าง ๆ เมื่อนำค่าไปตรวจอย่างละเอียดขึ้นก็พบว่ามีน้ำบางจุด เช่น ในถังเก็บน้ำชั้นใต้ดิน เจอเชื้อปรสิต Acanthamoeba


ซึ่งตนได้วิเคราะห์สาเหตุต่าง ๆ ของการเกิดปรสิตในน้ำประปา ก็ยังไม่อยากฟันธงว่า สาเหตุมาจากการก่อสร้าง หรือต้นทางการประปา จากรายงานการล้างถังก็พบว่า มีการล้างตามมาตรฐานคือปีละครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่า ท่อในถังเก็บน้ำชั้นใต้ดินบางจุดมีสนิมขึ้น เกิดเป็นข้อสงสัยว่าสนิมไปทำปฏิกิริยากับคลอรีน ทำให้ปริมาณคลอรีนลดลงจนไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้หรือเปล่า แต่เจ้าของโครงการก็ยืนยันว่า สนิมที่เจอตอนปี 2564-2565 ได้รับการซ่อมแซมแล้ว


ลูกบ้านอีกราย ที่ตาแดงจากการติดเชื้อ เล่าว่า ตอนแรก ตนมีอาการเป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ตาข้างขวาเริ่มแดง จึงไปหาหมอ หมอแจ้งว่าเกิดจากต่อมน้ำเหลืองโตทำให้ติดเชื้อขึ้นตา ก่อนจะไปหาหมอเฉพาะทางเกี่ยวกับตา พบว่าติดเชื้อไวรัสที่ตาขาว แล้วเข้าไปที่ตาดำ ทำให้มองไม่เห็น ใช้เวลารักษา 1 เดือน อาการค่อย ๆ ดีขึ้น


ทีแรก ไม่คิดว่าเป็นเพราะน้ำที่คอนโด แต่พอไปอ่านกลุ่มไลน์คอนโด ก็พบว่ามีคนเกิดอาการเดียวกัน เชื่อว่าน่าจะมาจากสาเหตุเดียวกัน ตนเองอยู่คอนโดทุกวัน ใช้น้ำทุกวัน สอบถามนิติบุคคล ก็เงียบ ไม่ออกมาชี้แจง ไลน์ไปถามก็ไม่ตอบ จึงอยากให้มีการตรวจสอบว่า น้ำสกปรกหรือไม่ มีเชื้อโรคปนเปื้อนหรือไม่


คุณแพท ลูกบ้านคอนโดฯ (ผู้รวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อ) บอกว่า ซื้อคอนโดแห่งนี้มาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ในราคา 8 ล้านกว่าบาท  พร้อมเสียค่าส่วนกลางปีละ 30,000 บาท เธอจะมาเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แต่ได้ติดตามในไลน์กลุ่มลูกบ้านและนิติบุคคล  เมื่อประมาณเดือนที่แล้ว ตนเห็นว่าลูกบ้านมีการพูดคุยกันเรื่องของน้ำประปาที่คอนโด มีการทักท้วงว่าให้ช่วยแก้ไข เนื่องจากมีลูกบ้านใช้น้ำแล้วเป็นตาแดง


แต่ผ่านไป 1 อาทิตย์ ลูกบ้านหลายคนมีอาการตาแดงเพิ่มขึ้นอีก เธอจึงเอะใจ กระทั่งลูกบ้านหลายคนแจ้งว่า คุณหมอบอกว่าเกิดจากน้ำประปาที่ไม่สะอาด เป็นเชื้อ microsporidia หรือปรสิต ที่จะขยายพันธุ์งอกเงยจากสิ่งมีชีวิต ซึ่งหากตรวจที่น้ำจะไม่เจอ แต่ที่น่าตกใจคือ มีลูกบ้านส่งใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลเดียวกัน เป็นโรคเดียวกัน เข้ามาในกลุ่มตอนนี้ 70 คนแล้ว


คุณแพท บอกว่า ได้รวมกันสร้างกลุ่มไลน์ สรุปมีผู้เสียหาย 100 รายแล้ว จากนั้นจึงรวมตัวกันไปสอบถามนิติคอนโด ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ได้ขอให้ล้างถังน้ำประปาให้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่หาย


หนักสุด มีลูกบ้านรายหนึ่งไปหาหมอ คุณหมอแจ้งว่า หากมาไม่ทัน อาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนกระจกตา ซึ่งลูกบ้านท่านนี้ได้รักษาโดยการขูดกระจกตาไปแล้ว  ถ้ารุนแรงมาก เชื้ออาจจะเข้าถึงสมองได้ เมื่อลูกบ้านไปสอบถามทางนิติคอนโด ก็แจ้งว่าไม่ได้เป็นปัญหาของทางคอนโด แต่เกิดจากการประปานครหลวงหรือไม่ พร้อมแนะนำให้ลูกบ้านไป หาซื้อเครื่องกรองน้ำ รวมถึงซื้อน้ำสะอาดมาใช้เอง ทั้งนี้ อยากให้ทางคอนโดออกมารับผิดชอบมากกว่านี้


ด้าน นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า  เบื้องต้น เจ้าหน้าที่การประปานครหลวงได้ตรวจวัดคลอรีนอิสระตกค้างในน้ำจากการประปานครหลวง (จุดก่อนเข้าถังพักใต้ดิน) วัดได้ 1 พีพีเอ็ม ส่วนน้ำจากถังพักใต้ดินและบนดิน ไม่พบค่าคลอรีน (ค่ามาตรฐานน้ำปลายท่ออยู่ที่ 0.2-0.5 ppm.) เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจคลอรีนตกค้างอิสระ (Residual Free Chlorine) ในถังพักน้ำใต้ดิน ถังพักน้ำบนดาดฟ้า ผลปรากฏไม่พบคลอรีนตกค้าง (น้อยกว่า 0.2 ppm) ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำประปา


ทางนิติบุคคลแจ้งว่า ได้ส่งน้ำตรวจวิเคราะห์หาเชื้อก่อโรคเยื่อบุตาอักเสบ ได้แก่ น้ำประปาก่อนเข้าโครงการ , น้ำจากถังพักน้ำใต้ดิน , น้ำจากถังพักน้ำบนดาดฟ้า , น้ำจากห้องของลูกบ้านที่ป่วย โดยส่งตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลศิริราช ทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เจ้าหน้าที่นิติบุคคล ไปเติมคลอรีนในบ่อพักน้ำ และรักษาระดับคลอรีนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมทั้งเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ได้แก่ ลิฟต์ พื้นที่ส่วนกลาง และห้ามไม่ให้ใช้สระว่ายน้ำ ซึ่งทางนิติบุคคลก็ได้รับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย


ต่อมา ในวันที่ 21 มิถุนายน 67 สำนักงานเขตจตุจักร ได้เข้าตรวจสอบเร่งรัดให้นิติบุคคล ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ


วันที่ 22 มิถุนายน 67 ฝ่ายอาคารสถานที่ของอาคารชุดฯ ได้เริ่มมีการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อ


วันที่ 25 มิถุนายน 67 ผลตรวจวิเคราะห์น้ำพบว่า น้ำประปาจากบ่อพักน้ำชั้นใต้ดิน  และน้ำประปาจากห้องลูกบ้าน จำนวน 5 ห้อง พบเชื้อก่อโรคตาแดง Acanthamoeba spp. (อะแคนทามีบา), trophozoites (โทรโฟซอยต์) และฝ่ายอาคาร ได้ทำการล้างถังพักน้ำชั้นใต้ดิน และเติมคลอรีน เพื่อให้ได้มาตรฐาน


วันที่ 26 มิถุนายน 67 ศูนย์บริการสาธารณสุข ได้รับแจ้งว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคเยื่อตาอักเสบเพิ่มขึ้น โดยพบว่า มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 200 ราย


วันที่ 3 ก.ค. 67 สำนักงานเขตจตุจักร ลงพื้นที่ติดตามผลการแก้ไขปัญหา พบว่าทางอาคารชุด ได้มีการล้างทำความสะอาดถังพักน้ำ และเช็กระบบท่อน้ำใช้ภายในอาคารประจำปี เมื่อเดือนธันวาคม 2566 และได้มีการล้างถังพักน้ำใต้ดิน มีการตรวจสอบบริเวณรอยรั่ว และมีการเติมคลอรีน


แต่ยังพบข้อบกพร่อง โดยพบว่า ถังพักน้ำอีก 3 บ่อ ยังไม่ได้รับการล้าง และทำลายเชื้อด้วยวิธี Chlorine shock จึงไม่เป็นไปตามข้อปฏิบัติตามแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำในอาคารสูง ของกรมอนามัย


ทั้งนี้ ได้สุ่มตรวจน้ำจากก๊อกห้องน้ำด้านล่างอาคารชุด ผลไม่พบคลอรีนอิสระตกค้าง


วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 สำนักงานเขตจตุจักร ได้มีหนังสือคำแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องด้านสุขลักษณะสถานที่ แก่นิติบุคคลอาคารชุด


น.ส.ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร เปิดเผยทางโทรศัพท์ว่า คอนโดดังกล่าว มีถังเก็บน้ำ 4 ถัง อยู่บนดาดฟ้า 2 ถัง ใต้ดิน 2 ถัง ทางคอนโดล้างไปแล้ว 3 ถัง อีก 1 ถัง จะล้างวันนี้ (10 ก.ค. 67) หลังจากล้าง จะต้องเติมคลอรีนทุก 2 ชั่วโมง เพื่อควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ถึงจะเป็นอยู่ในค่าปกติ ถ้าไม่มีคลอรีน แสดงว่าไม่มีการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ จากการตรวจจึงพบเชื้อโรคในน้ำ ส่วนระบบท่อน้ำทั้งอาคาร ตอนนี้ยังไม่มีการฆ่าเชื้อ อยู่ระหว่างติดต่อบริษัทเข้ามาดำเนินการ  


โดยในวันที่ 11 กรกฎาคม 67 จะมีการลงพื้นที่ตรวจติดตามผลอีกครั้งพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่านิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าว ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับ จะมีการออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแก่นิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฯ จะดำเนินการส่งแจ้งความดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข 2535 ต่อไป ยืนยันข่าวที่ออกไปว่าน้ำเป็นปกติแล้วนั้น ทางเขตไม่ได้พูด เพราะยังไม่ได้มีการวัดค่า ซึ่งต้องตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่า มีเชื้อโชคปนเปื้อนในน้ำหรือไม่


ล่าสุด ทีมข่าวได้รับข้อมูลจากลูกบ้าน ว่า ฝ่ายบริหารอาคารชุด ได้รายงานค่าคลอรีนอิสระ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.00 น.(รอบเย็น) ซึ่งค่าคลอรีอิสระ ควรอยู่ที่ 0.2-0.5 ppm  โดยจุดก่อนเข้าบ่อพักน้ำของโครงการ ค่าคลอรีนอิสระอยู่ที่ 0.82 ppm  น้ำในบ่อชั้นใต้ดิน ที่ผ่านการบ่มคลอรีนฆ่าเชื้อ 5 ชม. ค่าอยู่ที่ 0.25 ppm. / ส่วนน้ำที่บ่อชั้นดาดฟ้า (R2)  ผ่านการบ่มคลอรีนฆ่าเชื้อ 5 ชม. ค่าคลอรีนอิสระ อยู่ที่ 0.09 ppm.  ซึ่งบ่อชั้นใต้ดิน  ปิดล้างวันที่ 7 และวันที่ 9 ก.ค. ส่วนบ่อชั้นดาดฟ้า (R1) ปิดระบบการจ่าย เพื่อรอเตรียมล้างวันที่ 10 ก.ค. 67


ขณะที่ เพจ Drama-addict ได้ให้ข้อมูล เกี่ยวกับไมโครสปอริดิโอซิส (Microsporiodiosis) ระบุว่า เพิ่มเติมจากข่าวปรสิตระคายเคืองตาของลูกบ้านคอนโดแห่งหนึ่ง หลังใช้น้ำประปาที่น่าจะปนเปื้อนปรสิต อาการนี้เรียกว่า ไมโครสปอริดิโอซิส (Microsporiodiosis) เกิดจากเชื้อปรสิตในไฟลัมไมโครสปอรา ซึ่งเป็นปรสิตที่มีโฮสต์เป็นสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ตั้งแต่ แมลง ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม บลา ๆ (ในภาพแรกคือปรสิตของลูกน้ำยุง) และเมื่อใช้น้ำที่ปนเปื้อน เชื้อปรสิตนี้มันก็จะพุ่งเข้าสู่เซลล์ของคน แล้วทำให้เกิดโรคตามจุดต่าง ๆ ตามที่มันพุ่งทะลวงเข้าไป


ซึ่งเป็นโรคเดียวกับที่มักมีการออกมาเตือนช่วงสงกรานต์บ่อย ๆ ว่า ให้ระวังการเอาน้ำที่ไม่สะอาดมาสาด เพราะจะเกิดภาวะตาแดงจากโรคนี้ได้ ปกติสามารถรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อได้ แต่ถ้าลุกลามจนอาการหนัก ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา


แต่ถ้าใช้คลอรีนในการบำบัดน้ำในปริมาณที่เพียงพอ ก็สามารถฆ่าปรสิตเหล่านี้ได้ แต่การต้มนี่ไม่แน่ใจ เพราะว่า มีรายงานว่า พบปรสิตพวกนี้ทนอยู่ในออนเซ็นที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสได้ และทำให้คนที่แช่ออนเซ็น ที่ไม่ผ่านการบำบัดน้ำตามมาตรฐาน อาจติดเชื้อตัวนี้เข้าก็ได้

-------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/h27Uq_Asp5Q










คุณอาจสนใจ