สังคม

แบงก์ชาติเอาจริง! ยกระดับจัดการ ‘บัญชีม้า’ จ่ออายัดทุกแบงก์ ชื่อเดิมเปิดใหม่ไม่ได้ ป้องกัน ‘ม้าวน’

โดย nattachat_c

14 มิ.ย. 2567

75 views

จากกรณี แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ยังระบาดหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแก๊งมิจฉาชีพมักมีมุกใหม่ ๆ ออกมาหลอกให้ประชาชนหลงเชื่อเสมอ ซึ่งในกระบวนการนี้ 'บัญชีม้า' ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นขั้นตอนการรับเงินและโอนเงินออกไปยังแก๊งคอลเซ็นเตอร์


วานนี้ (13 มิ.ย. 67) นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า


ปีที่แล้ว ได้ออกพระราชกำหนด (พรก.) มาตรการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 วัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อจัดการบัญชีม้า ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับเงิน และถ่ายโอนเงินจากการกระทำผิด และแลกเปลี่ยนเส้นทางเงิน เพื่อสนับสนุนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง พรก.ยังได้กำหนดโทษเอาผิดกับบัญชีม้าให้ชัดเจนขึ้น


อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การจัดการกับบัญชีม้ายังมีข้อจำกัด ในครั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ธนาคารป้องกันความเสี่ยง และแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ที่เกิดกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะดูแลให้กระทบประชาชนผู้สุจริตน้อยที่สุด

----------------

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึง 31 พฤษภาคม 2567 จากข้อมูลมีจำนวนคดีการหลอกลวงสูงถึง 540,000 กว่าคดี นับเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 63,000 ล้านบาท (นับเฉพาะการแจ้งความอออนไลน์) โดยการหลอกลงทุน คือ วิธีการสูงสุด รองลงมา คือ หลอกให้โอนเงิน และหลอกให้ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น 


ที่ผ่านมาเกิดช่องโหว่ในการจัดการ ทำให้บัญชีม้าวนกลับมาใช้งานใหม่ หรือย้ายไปเปิดบัญชีที่ธนาคารอื่นได้ ธปท.จึงยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินผ่านมาตรการเหล่านี้ เพราะยังไล่ตามไม่ทันมิจฉาชีพ แม้มีการจับบัญชีม้าได้เพิ่มมากขึ้น


โดยปีนี้ รวมแล้วอายัดบัญชีเกือบ 200,000 บัญชี ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นบัญชีที่เปิดใหม่เพื่อใช้ในการนี้โดยเฉพาะ จึงไม่สามารถจับ และอายัดได้มากกว่านี้


ทั้งต้องยอมรับว่า ที่อายัดได้จำนวนไม่มากเท่าที่ควร เป็นเพราะส่วนหนึ่ง พอออก พ.ร.ก.แล้ว การปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ก็มีประเด็นข้อกังวลของกฎหมายบางเรื่อง ทำให้การตรวจจับ หรือป้องกัน ทำได้ไม่เต็มที่ เป็นการจับในกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว แต่อาจไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้เกิด 'ม้'าหมุน หรือ 'ม้าวน' เมื่อถูกระงับ 1 บัญชี ก็ย้ายไปเปิดในบัญชีใหม่ที่ธนาคารอื่นแทน

-----------------------

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ประกอบด้วยมาตรการ 2 กลุ่ม ได้แก่


กลุ่มที่หนึ่ง - การยกระดับการจัดการบัญชีม้า โดยปรับจากการดำเนินการระดับ ‘บัญชี’ เป็นระดับ ‘บุคคล’ รวมถึงการจัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น และดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีในปัจจุบัน และการเปิดบัญชีใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้


1. การกวาดล้างบัญชีม้าในระบบ ด้วยการจัดการทุกบัญชีในทุกธนาคารของเจ้าของบัญชีต้องสงสัย โดยธนาคารจะใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) (2) ระบบข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) และ (3) ข้อมูลบัญชีที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้า-ออกมูลค่าน้อยในเวลาสั้น ๆ หลายครั้ง ก่อนมีเงินโอนเข้า-ออกมูลค่าสูง เพื่อจัดระดับความเสี่ยงในการดำเนินการกับบัญชีเหล่านั้น


ซึ่งทุกธนาคารจะมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น การระงับการใช้บัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระดับความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้การกวาดล้างบัญชีม้าทำได้ครอบคลุม และรวดเร็วขึ้น


2. การเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อป้องกันการเกิดบัญชีม้าใหม่ โดยธนาคารจะตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าจากฐานข้อมูล 3 แหล่งข้างต้น


หากพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาเปิดบัญชี ทุกธนาคารต้องดำเนินการตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับเข้มข้น เช่น ไม่ให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ / ให้เปิดบัญชีแบบมีเงื่อนไข / ไม่ให้ใช้บริการผ่านช่องทาง mobile banking ไปจนถึงการปฏิเสธไม่ให้เปิดบัญชีทุกช่องทาง ทั้งแบบออนไลน์ และที่สาขา


ในการนี้ ธปท. ได้ออกหนังสือเวียน เรื่อง การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีลูกค้ามีความเสี่ยงสูง หรือใช้บัญชีที่มีลักษณะ หรือพฤติกรรม ผิดปกติ เพื่อให้ธนาคารนำข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงในระบบ CFR มาใช้ข้ามธนาคาร เพื่อดำเนินการกับบัญชีต้องสงสัยได้ครอบคลุมและรวดเร็ว รวมทั้งเป็นมาตรฐานเดียวกัน


กลุ่มสอง: การมีผลิตภัณฑ์ หรือบริการเพิ่มเติม เพื่อดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น


ธปท. กำหนดให้ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลให้ลูกค้าใช้บริการดิจิทัลได้ปลอดภัยขึ้น ได้แก่ การล็อกวงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ โดยการปลดล็อกวงเงินดังกล่าวให้ทำได้ยากขึ้น และ/หรือ การปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท


นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะเสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้าเพิ่มเติมได้ เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorization) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเริ่มเห็นการให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567


ธปท. มุ่งหวังว่ามาตรการครั้งนี้ จะช่วยจำกัดเส้นทางเดินเงินของกลุ่มมิจฉาชีพและดูแลให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผลของมาตรการ รวมถึงพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้เท่าทันกับภัยรูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงและยั่งยืนของประเทศต่อไป

----------------


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/xm7zg4y3WcQ

คุณอาจสนใจ

Related News