สังคม

สาวโรงงานนับร้อยชีวิต รวมตัวเดินทางมายื่นหนังสือร้อง ถูกบริษัทโซลาร์เซลล์ลอยแพ ไร้เยียวยาชดเชย

โดย kanyapak_w

31 พ.ค. 2567

867 views

ช่วงบ่ายวันนี้ ( 31 พ.ค. 67 ) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวพรรณี อายุ 32 ปี พร้อมพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง กว่า 100 ชีวิต ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน ให้ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทราช่วยเหลือ



หลังโรงงานชื่อขึ้นต้นด้วย "โซ" ที่พวกตนทำงานอยู่ แจ้งเลิกจ้างพนักงานและปิดกิจการ เนื่องด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจตกต่ำ ผลกำไรจากการประกอบธุรกิจประสบภาวะขาดทุน จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา และจะชดเชยตามสิทธิ์ของการเลิกจ้างให้กับพนักงานทุกคน ในวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่หลังจากผ่านเมื่อวานมา (30 พ.ค.) ไม่มีการตอบรับ หรือมีเงินเข้ามาในบัญชีให้กับพนักงานแต่อย่างใด จึงรวมตัวเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้



นางสาวพรรณี ตัวแทนพนักงาน เปิดเผยว่า ตนเองทำงานที่โรงงานแห่งนี้ เป็นพนักงานชุดแรกๆ ที่โรงงานเปิดกิจการมาได้ประมาณ 3 ปี โดย โรงงานโซ เป็นโรงงานที่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ร่วมลงทุนและหว่างไทย-จีน ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.7 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ผ่านมาก็มีการปรับลดโครงสร้างมาแล้ว ทั้งปรับลดสวัสดิการ ลดการจ้างงานล่วงเวลา จนไปถึงหยุดกิจการชั่วคราว จนกลับมาเปิดใหม่และบอกเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดในครั้งนี้ หลังจากมีหนังสือเลิกจ้าง พวกตนเองก็ยังไม่สามารถไปหางานทำใหม่ได้ เนื่องจากเกรงว่ายังไม่พ้นสภาพพนักงานของโรงงานนี้ กลัวจะเกิดปัญหาไม่ได้เงินเลิกจ้าง



เนื่องจากโรงงานชี้แจงว่า จะจ่ายเงินเดือน เดือนสุดท้ายที่พวกตนทำ พร้อมกับเงินชดเชยในการเลิกจ้าง ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นี้ เป็นเงินเดือน และเงินชดเชยการทำงานไม่ครบ 3 ปี จะจ่ายค่าจ้าง 3 เดือน รวมเป็น 4 เดือน แต่ใครที่ทำงานครบ 3 ปี จะได้เงินชดเชย 6 เดือน รวมเงินเดือน จะเป็น 7 เดือน ซึ่งรวมๆ แล้วก็เกือบ 1 แสนบาท ต่อคน ทำให้เดือนที่ผ่านมา ทุกคนรอเงินก้อนนี้ เพื่อไปจ่ายค่าบ้าน ค่ารถ บางคนกู้หนี้ยืมสินมา ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน เพราะต้องการรอเงินก้อนนี้ เนื่องจากเดือนที่แล้วทุกคนไม่ได้รับเงินเดือน



ทุกคนที่มาในวันนี้ต่างลำบาก บางคนค่าผ่อนรถยนต์เข้าเดือนที่ 3 แล้ว หากไม่มีจ่าย ก็คงถูกยึดรถ ซึ่งเมื่อพวกตนสอบถามไปยังโรงงาน ก็ได้รับคำตอบว่า ลูกค้ายังไม่จ่ายเงินในยอดที่สั่งซื้อไป จึงทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินก้อนนี้มาจ่ายพนักงานกว่า 100 ชีวิต จึงทำให้พวกตนนัดรวมตัวกัน เดินทางมาที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ช่วยเหลือ เป็นตัวกลางบังคับใช้กฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 .ให้บริษัทจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้



แท็กที่เกี่ยวข้อง  ตกงาน ,ฉะเชิงเทรา ,คนตกงาน

คุณอาจสนใจ

Related News