สังคม

'ชัยวัฒน์' แฉไฟป่าภาคเหนือ ต้นเหตุมากสุดเกิดจากคนการเมือง จงใจเผา สร้างสถานการณ์

โดย passamon_a

19 เม.ย. 2567

929 views

ชัยวัฒน์ แฉไฟป่าภาคเหนือ ต้นเหตุมากสุดเกิดจากคนการเมือง จงใจเผาเพื่อให้เกิดสถานการณ์ที่รัฐควบคุมไม่ได้ เผยสังเกตได้จากช่วง 3 นักการเมืองแห่ลงพื้นที่เชียงใหม่ เดือน มี.ค.พบจุด Hotspot พุ่งสูงเกือบ 500 จุด ยืนยันพูดตามข้อเท็จจริง ไม่โยงการเมือง เตือนสติอย่ามาวัดพลังกันแบบนี้ เพราะไม่เป็นธรรมกับป่า สุดท้ายป่าพัง คนเชียงใหม่ปอดพัง


เมื่อวันที่ 15 เม.ย.67 ที่ผ่านมา นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์คลิปพร้อมข้อความถึงไฟป่า 17 จังหวัดภาคเหนือ ระบุว่า ไฟป่า! 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีไฟป่ารุนแรงมากที่สุด เป็นการจงใจเผา เพื่อให้เกิดควัน มลภาวะ และสถานการณ์ที่รัฐควบคุมไม่ได้


การเกิดไฟป่าแต่ละครั้ง!? คำถามคือจากต้นเหตุอะไร? มากที่สุด คำตอบคือการเมือง/คนของการเมือง? ความสมใจ สะใจ!! และคิดว่าตนเองชนะ ที่แท้ : เราแพ้ คุณแพ้ ป่าพัง ทรัพยากรป่าไม้/สัตว์ป่า เสียหาย … สุดท้าย!??? "ไม่มีป่าต้นน้ำ โลกร้อน!"


เมื่อวันที่ 18 เม.ย.67 ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ได้คุยกับ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือว่า ปกติแล้วเจ้าหน้าที่มีการตั้งเป้าด้วยการวัดจุดความร้อน (Hotspot) โดยเทียบจากปี 2566 ว่าในปี 2567 ต้องไม่เกิน 50% ของปี 2566 ซึ่งทุกสำนักเขตพื้นที่อนุรักษ์ควบคุมได้หมด ต่ำกว่า 50% แต่จะเกินเกณฑ์บ้างคือ จ.เชียงใหม่ ตื่นเช้าขึ้นมาเราจะเห็นได้เลยว่าฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่ขึ้นอันดับ 1 ของโลกอยู่ตลอด


เราจึงตั้งข้อสังเกต ลงพื้นที่ และหาข้อมูล ซึ่งก็ได้ทราบว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งหมด เช่น จุดมัน เผามัน ฯลฯ แล้วทำไมเขตพื้นที่อื่น ๆ ไม่เกิด จึงกลับมาวิเคราะห์แล้วลงพื้นที่อีกครั้ง และได้ย้อนไปดูว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน รวมทั้งอดีตนายกฯ เตรียมลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งช่วงนี้พบว่าไฟป่าพีคขึ้น


จากนั้นเราสังเกตเห็นว่าคนที่ลงพื้นที่ เหมือนกับว่าจะเข้าไปดูแล เข้าไปแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่าเป็นการสร้างปัญหา แล้วอีกอย่างคนในพื้นถิ่นรักผู้นำของเขา ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งฝ่ายค้านมีหลายเขต ซึ่งตรงนี้เป็นกลไกที่เอา จ.เชียงใหม่ เป็นตัวประกัน เป็นจังหวัดพรีเซนต์ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน


จากนั้น นายชัยวัฒน์ ได้เรียงลำดับสาเหตุไฟป่าจากน้อยไปมาก เริ่มจากอุบัติเหตุ เช่นขับรถไปด้วย สูบบุหรี่ไปด้วยแล้วทิ้งก้นบุหรี่ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับจนท.ของรัฐ ไม่พอใจแล้วไปจุดไฟ จุดเพื่อความเชื่อ จากการหาของป่าจุดเพื่อให้เกิดไฟแล้วเก็บหา ซึ่งจงใจเผาเป็นปัญหาหลัก 80-90%


โดยอีกประเด็นต่อมา ประเด็นที่ไม่เคยพูดถึง คือร่างจากมติครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 การคุ้มครองวิถีชีวิตของชาวชาติพันธุ์ ซึ่งตอนนี้ยกเป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตของชาวชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงโดยมีการให้เผาได้ ล่าสัตว์ได้ ต่อมาจึงเป็นประเด็นเพราะในพื้นที่เชียงใหม่มีคนพื้นที่สูงเป็นส่วนใหญ่ แล้วมีการเรียกร้องสิทธิตัวเองขึ้นมา จะได้ทราบว่าใกล้หมุนเวียนสามารถเผาได้ ซึ่งความจริงแล้วสามารถทำได้ แต่ด้วยความรักความเข้าใจเมื่อนักการเมืองลงพื้นที่ไปจึงเป็นที่มาของการจุดไฟเผาเล็กน้อย เพื่อให้เห็นว่าสามารถเผาได้


สุดท้ายคือประเด็นทางการเมือง และขอยืนยันว่าตนไม่ได้บอกว่าการเมืองเป็นสาเหตุหลัก แต่เป็นการเรียงลำดับสาเหตุจากน้อยไปมาก โดยสาเหตุที่มองว่าเกี่ยวกับคนการเมือง เพราะป่าดิบชื้นไม่สามารถเกิดไฟได้ แต่ไฟเกิดในป่าดิบชื้น แสดงว่าเกิดจากการจงใจเผาเพื่อให้เกิดควัน ซึ่งมองว่าทำแบบนี้ไร้สาระ เป็นการสร้างสถานการณ์ให้รัฐบาลควบคุมไม่ได้


ต่อมา นายชัยวัฒน์ โชว์กราฟฟิกอธิบายให้ทีมข่าวฟัง ถึงสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างปี 2566 และปี 2567 ซึ่งในปี 2567 พบว่าจังหวัดที่จุดความร้อน (Hot Spot) พุ่งเกิน 50% จากปี 2566 ประกอบด้วย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 จ.ลำปาง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 จ.ตาก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ (เชียงใหม่) จากเดิม ปี 2566 พบจุดความร้อน 10,729 จุด ล่าสุดปี 2667 พบแล้ว 9,041 จุด ซึ่งเกิน 50% แล้วโดยคิดเป็น 84.27% และจุดที่พีคที่สุดคือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ในส่วนของสาขาแม่สะเรียง จ.เชียงใหม่ จากเดิม ปี 2566 พบจุดความร้อน  5,351 จุด ล่าสุดปี 2667 พบแล้ว 6,296 จุด ซึ่งเกิน 50% และพุ่งสูงโดยคิดเป็น 117.66% ซึ่งถือได้เข้าขั้นวิกฤติ


โดยก่อนหน้านี้หากกล่าวถึงภาพรวมของ จ.เชียงใหม่ ถือได้ว่าจุดความร้อนเกินค่ามาตรฐาน 50% แล้ว แต่ยังไม่เท่าปี 2566 จึงเป็นที่มาที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยพูดไว้ว่ายังไม่เกิน 50% ยังไม่สามารถประกาศภัยพิบัติได้


จากนั้น นายชัยวัฒน์ ขึ้นอีกกราฟที่แสดงถึงจุดความร้อน พร้อมโซนพื้นที่ของ สส.เขต ใน จ.เชียงใหม่ ที่เป็นกราฟที่จะแสดงให้เห็นชัดเจนได้มากขึ้นว่าไฟป่า จ.เชียงใหม่ เกี่ยวข้องกับคนการเมืองอย่างไร


จากภาพจะเห็นว่า

- สีส้ม คือ พรรคก้าวไกล จำนวน  7 เขต ประกอบด้วย เขต 1-2-3-4-6-7 และ 8

- สีแดง คือ พรรคเพื่อไทย จำนวน 2 ประกอบด้วย เขต 5 และ 10

- สีน้ำเงิน คือ พรรคพลังประชารัฐ 1 เขต คือ เขต 9


ก่อนจะอธิบายว่าไฟทั้งหมดไม่ได้เกิดจากพื้นที่สีส้มเท่านั้น แต่เกิดในทุกพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ แต่จุดที่ไฟป่าเยอะสุดคือ โซน อ.แม่แตง เชียงดาว เวียงแหง พร้าว ฯลฯ


โดยช่วงที่เกิดไฟป่าเยอะที่สุด นายชัยวัฒน์ บอกว่าตนตีกรอบไว้ระหว่างวันที่ 10-20 มี.ค. ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่นักการเมืองระดับบิ๊กลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เต้นก่อนการลงพื้นที่นั้นสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวว่านักการเมืองเตรียมลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงวันที่ 13-15 มี.ค.


ซึ่งในกราฟฟิกนี้ ไฮไลท์มีคำว่า "นักการเมือง 1 นักการเมือง 2 และนักการเมือง 3" นายชัยวัฒน์ บอกว่า นักการเมือง 1 คือ อดีต นักการเมือง 2 คือ นายกฯ ปัจจุบัน และนักการเมือง 3 คือ ฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งหมดนี้พอสื่อทราบว่าไปลงพื้นที่ก็จะไปถามว่าเป็นการไปวัดพลังกันหรือไม่ ซึ่งข่าวเตรียมลงพื้นที่ของนักการเมืองทั้ง 3 นี้ ถูกนำเสนอตั้งแต่ช่วงวันที่ 10 มี.ค.67


ซึ่งวันที่ 10 มี.ค. จุดความร้อน (Hotspot) อยู่ที่ 160 จุด แต่หลังจากที่ชาวบ้านรู้ปรากฏว่าจุด Hotspot พุ่งสูงขึ้นทันที 11 มี.ค. = 300 12 มี.ค. = 350 13 มี.ค. พุ่งสูงเกือบ 480 ซึ่งจุด Hotspot เหล่านี้พุ่งสูงเพื่อรับนักการเมืองที่ลงพื้นที่ และจากนั้นที่จุด Hotspot ลดลงเรื่อย ๆ เพราะเจ้าหน้าที่ไปดับเหลือเพียงประมาณ 100 จุด ทั้งนี้ ในช่วงเดียวกันนั้นมีนักการเมืองของฝ่ายค้านลงพื้นที่ด้วย ก่อนจะสูงขึ้นมาอีกรอบอยู่ที่ประมาณ 100-200 จุด จากนั้นช่วงวันที่ 20 มี.ค. เป็นต้นไปฝนตก จุด Hotspot จึงหล่นไปที่ 0 จุด


ส่วนกรณีจุด Hotspot พุ่งสูงนั้น อาจเกิดจากการวัดพลังกันของนักการเมือง นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ลงพื้นที่ มีการสร้างจุดต้อนรับนักการเมืองเพื่อแสดงให้เห็นว่า "คุณมาแก้ปัญหาใช่ไหม? ลองดูสิคุณแก้ปัญหาได้ไหม?" ดังนั้นตนถึงบอกว่าในพื้นที่ป่าดิบเป็นการจงใจจุด ซึ่งกราฟแสดงให้เห็นว่าช่วงที่พีคสุดคือช่วงนักการเมืองลงพื้นที่ ซึ่งอยู่ในระดับที่รับไม่ได้


นายชัยวัฒน์ บอกว่า ไม่ได้หมายความว่าตนว่าทั้ง 2 ฝ่ายผิดหรือโยนความผิดให้ แต่การสร้างสถานการณ์ทำให้เกิดเรื่องราวการชิงพลังหรือสร้างพลังกันเกิดขึ้นในช่วงนี้ ดังนั้นวันนี้เราหาวิธีการแก้ด้วยกันดีกว่า ทุกคนเก่งหมด ถ้าเก่งแล้ว สภาพจงใจเผาเช่นนี้ ตนมองว่าไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเก่งแล้ว แต่เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อทดสอบว่าอีกฝ่ายแก้ไขปัญหาได้หรือไม่


ทั้งนี้ ตนก็บอกแล้วว่า "ในวันหนึ่งเดี๋ยวฝ่ายค้านก็เป็นรัฐบาล เจตนาและปรารถนาแบบนี้ อย่าทำ มันไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมเตือนพวกคุณไม่ฟังหรอก แต่เป็นเพียงให้สติว่า ถ้ามาวัดพลัง โดยการทำให้เกิดไฟป่าแบบนี้ มันไม่เป็นธรรมกับป่า เพราะหากเหลือแต่ป่าดิบชื้นสัตว์ป่าก็อยู่ไม่ได้ ทั้งหมดทั้งมวลคือไม่เป็นธรรมกับสัตว์ป่าที่หนีร้อนมาเพิ่งเย็น"


ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เพียงอยากพูดตามข้อเท็จจริง ผู้บริหารระดับประเทศ และทุกฝ่ายต้องหันมาจับมือกันแก้ปัญหา หรือหากคุณเห็นใจและบอกว่ารักประชาชน อย่าทำแบบนี้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนสามารถพูดได้ 100% ว่า เกิดจากจงใจจุดจากการเมือง ซึ่ง 10 เขต เชียงใหม่ 7 เขตของฝ่ายค้าน ส่วนอีก 3 เขตของรัฐบาล ซึ่งการจุดก็มีการจุดเกิดขึ้นในเขตของรัฐบาลเช่นกัน เนื่องจากว่ามีคนแพ้แล้วไม่พอใจจึงเกิดการจุดไฟขึ้น เราไม่แยกว่ารัฐบาลหรือไม่รัฐบาล ฝ่ายการเมืองต้องให้ความชอบธรรมกับคนที่ไม่รู้เรื่องเพราะสิ่งที่เสียหายตามมาคือ "ป่าพัง คนพัง ชีวิตสัตว์ป่าพัง คนเชียงใหม่ปอดพัง เศรษฐกิจเชียงใหม่พังหมด"


เมื่อถามย้ำว่าสิ่งที่อยากสื่อสาร สามารถอนุมานได้เลยใช่หรือไม่ว่าพรรคฝ่ายค้านต้องการดิสเครดิตรัฐบาลเพื่อไทย นายชัยวัฒน์ ระบุว่า หากพูดแบบนี้ก็เหมือนจะเป็นการโทษเขา 100% แต่ตนบอกว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่า แต่มีบางประเด็นที่พูดคือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตของชาวชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงโดยมีการให้เผาได้ ล่าสัตว์ได้ และประเด็นทางการเมือง ซึ่งจากทั้งสองประเด็นนี้รวมกันก็เป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น


เมื่อถามถึงที่โพสต์ว่า ความสมใจ สะใจ คิดว่าตัวเองชนะ คืออะไร นายชัยวัฒน์ ระบุว่า หากมีความต้องการทำให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ต้องมีเหตุผลพอสมควร แต่การสร้างสถานการณ์ขึ้นมา แล้วอีกฝ่ายที่รับสถานการณ์ตนมองว่าคนละเรื่องกัน คุณจงใจจุดก็สะใจ สมใจ ซึ่งความสะใจสมใจนี้ดูจากสื่อที่ว่า ตื่นเช้ามาเห็นเชียงใหม่ อันดับ 1 อันดับโลกค่าฝุ่นพุ่ง 1 ใน 10 อับดับโลกค่าฝุ่นพุ่งบ้าง ฯลฯ แบบนี้คือความสะใจที่สามารถสร้างสถานการณ์ให้เกิดมลภาวะ แต่สุดท้ายเราแพ้ ทุกคนแพ้หมด ที่พูด ๆ กันคุณคิดว่าคุณชนะหรือ ส่วนคนเชียงใหม่ไม่ได้แพ้แต่คนเชียงใหม่ตาย คนรอบ ๆ เชียงใหม่ตาย การท่องเที่ยวตาย มีคนเก่งเต็มเลยในประเทศไทย แต่จัดการไฟป่าไม่ได้ สุดท้ายเราพัง


เมื่อถามว่า หากรู้ว่าต้นตอการจุดมาจากไหน สามารถดำเนินคดีได้ นายชันวัฒน์ บอกว่า เราควบคุมอยู่แล้ว หากเจอจับอยู่แล้ว แต่พอเราเข้าไปบางครั้งเราไม่สามารถจับมือใครดมได้


นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวถึงเรื่องงบประมาณว่า รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้เข้ากับพื้นที่จริง ทุกวันนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้งบประมาณในอัตราส่วน 1 คน ดูแลป่า 8,333 ไร่ ซึ่งอาจจะเกิดคำถามว่าทำได้จริงหรือไม่ขอยืนยันเลยว่าทำไม่ได้อยู่แล้ว เราจึงอยากสะท้อนให้รัฐบาลได้เห็นว่าควรทำอะไรเพิ่มเติม เราของบประมาณไปควรจัดสรรให้ ซึ่งหาก 1 คน ต่อ 2,000 ไร่ ยังคงเดินหน้าได้


เมื่อถามว่า ในส่วนของสารวัตรเพียง หรือ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ อดีต สส.อนาคตใหม่ และอดีต สส.ก้าวไกล ออกมาแสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าวบอกว่า "ถ้าจะโทษการเมือง มันไม่ใช่การเมืองแบบพรรคการเมืองในสภามาดิสเครดิตรัฐบาลหรอก เพราะทั้งรัฐบาลประยุทธ์และรัฐบาลเศรษฐา มันมีสารพัดเรื่องใหญ่ ๆ ให้ประชาชนผิดหวังมากอยู่แล้ว ถ้าจะโทษคนจุดว่าเกี่ยวกับการเมือง มันน่าจะเป็นการเมืองแบบผลประโยชน์ ที่พอไฟไหม้แล้วงบประมาณมันไปลงที่ใครมากกว่า พองบไปลงแล้วก็กระจุกที่ส่วนกลางระดับบิ๊ก ๆ ไม่ค่อยจะพอสำหรับผู้ปฎิบัติงานระดับล่างด้วยซ้ำ"


เรื่องนี้ นายชัยวัฒน์ บอกว่า เป็นประเด็นที่น่าพูดคุย เพราะหลายคนพูดถึงเรื่องบประมาณ ซึ่งตนลงพื้นที่ได้มีการวิเคราะห์ประเด็นนี้ด้วย สำนักอุทยานพิจารณางบประมาณให้เรา 40 ล้าน ในการดูแลไฟป่าทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ วันนี้กรมอุทยาน พร้อมสู้กับไฟป่าแต่กำลังเรา 1 คน ต่อ 8,333 ไร่ ไม่สามารถทำได้ เรื่องนี้คนอยากให้รัฐบาลการเมืองมาคุยกัน คือ แบ่งงาน และแบ่งเงินให้ชัดเจน โดยควรแบ่งเป็น 2 ก้อนหรือไม่ ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนอีกก้อนให้กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนดูแล ซึ่งงบไม่ให้กระทรวงทรัพฯถือเอง แต่จะให้ผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดถือเงิน ให้ท้องถิ่นดูแลรับผิดชอบ เพราะเป็นคนที่เห็นปัญหามาที่สุด ด้วยการให้อุทยานแต่ละจังหวัดทำแผนงาน แผนเงิน แผนคน แล้วขอจังหวัด มองว่าแบบนี้มันชัดเจนมากกว่า มองว่าปกครองทำได้ดีกว่า ก่อนจะย้ำว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปัจจุบันนี้ ไม่เพียงพอ


นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องงบประมาณที่ตนเห็นคือจำนวนงบ 161 ล้านบาท ซึ่งมีการอนุมัติวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งก่อนหน้าทางกลุ่มมีการให้งบประมาณไปก่อน 40 ล้านบาทเพื่อซื้ออุปกรณ์ ก่อนที่ในเวลาต่อมางบกลางจะได้รับการอนุมัติและกว่าจะถึงทางเจ้าหน้าที่คือวันที่ 16-17 มี.ค. ซึ่งไฟป่าเกิดแล้ว ดังนั้นในปีต่อไปต้องมีการอนุมัติงบประมาณตั้งแต่ 1 ต.ค.


ทั้งนี้ ตนมีแผนในปีงบประมาณหน้า ว่า ช่วงต้นปีงบ ช่วงเดือน ต.ค. จะซื้ออุปกรณ์ดับไฟทั้งหมด และจะมีการทำโครงการ ชวนกันเผา โดยกลุ่มชาติพันธุ์ กับคนพื้นที่สูงบอกว่าเป็นวิถีชีวิตว่าต้องเผา เพราะมีวัชพืชเยอะ ซึ่งตรงนี้จะมีกรมอุทยานดูแล และต้องเผาในพื้นที่เกษตรกรรมเท่านั้น ซึ่งจะกำหนดกรอบเวลา พอเผาแล้ว ไม่มีเชื้อเพลิง ก็จะมีการเฝ้าระวังในจุดที่มีโอกาสเกิดไฟป่า ซี่งตรงนี้จะมีจำนวนคนเยอะ และหากเกิดไฟป่า จะมีจำนวนไม่มาก คนเยอะ ไฟน้อย ไปดับไฟช่วยกัน ยังไงก็สามารถลดจำนวนไฟป่าได้


ด้าน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าว ระบุว่า "เวลาเกิดไฟแต่ละจุด จะมีการส่ง จนท.ดับไฟเข้าพื้นที่และเขียนรายงานการปฏิบัติการ ในแบบฟอร์มท้าย ๆ จะมีคำถามว่าสาเหตุการเกิดไฟคาดว่าเกิดจากอะไร ผมไม่เคยอ่านเจอว่ามาจากเรื่องทางการเมือง เพราะถ้าสาเหตุมาจากทางการเมืองเรื่องนี้จะถูกนำเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว


สมมติฐานเรื่องไฟในป่าดิบชื้นนั้นน่าสนใจ แต่น่าจะมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ในเชียงใหม่เกิดในป่าเต็งรัง และอาจเป็นเรื่องของการล่าสัตว์หรือหาของป่า"


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/gpHOZ92NYo8

คุณอาจสนใจ

Related News