สังคม

เตรียมส่งตัวเด็กน้อยวัย 1 ปี 1 เดือนผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจสลับห้องสำเร็จกลับหลวงพระบางวันพรุ่งนี้

โดย kanyapak_w

17 เม.ย. 2567

320 views

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยความสำเร็จของทีมแพทย์ฯ กับภารกิจ ความร่วมมือในโครงการ “รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง” เตรียมส่งตัวน้องบอย (นามสมมติ) เด็กน้อยวัย 1 ปี 1 เดือนที่ผ่าตัวสำเร็จกลับหลวงพระบางในวันพรุ่งนี้



รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉันชาย สิทธพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าวถึงภารกิจความร่วมมือในโครงการ “รักษ์หัวใจเด็ก(น้อย) ข้ามโขง”



โดยมีอาจารย์นายแพทย์พีระพัฒน์ มกรพงศ์ ศัลแพทย์ทรวงอก เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก เป็นผู้ให้ข้อมูลว่า โครงการ “รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง” เป็นความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก, มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก และ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สปป. ลาว และโรงพยาบาลมะโหสด



ความเป็นมาของโครงการ “รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง” เริ่มหารือกันครั้งแรกกับฝ่ายลาว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เนื่องในโอกาสที่ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก (School of Global Health) และผู้ช่วยเลขาธิการเอกอัครราชทูตฯ เพื่อต่อยอด โครงการจัดการอบรมเฉพาะด้านการดูแลผู้ป่วยเด็กในระยะวิกฤต (Pediatric Intensive Care) มีโอกาสหารือกับ น.พ.ไคสี ลาดซะวง รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะโหสด (ดูแลผู้ป่วยเด็กและฉุกเฉิน) และทราบว่าโรงพยาบาลมะโหสด เป็นศูนย์โรคหัวใจเฉพาะทางแห่งเดียวของ สปป. ลาว ซึ่งยังต้องการบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคหัวใจเด็ก โดยเฉพาะการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจเด็ก




ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงติดต่อมาที่ น.พ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์ กรรมการและเลขานุการของมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก พร้อมทั้งหารือกับ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬลงกรณ์สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก นำมาสู่การริเริ่มโครงการรักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขงด้วยการสนับสนุน อย่างเต็มกำลังจากทุกหน่วยงาน




รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉันชาย สิทธพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าคณะทำงานได้เริ่มประชุมหารือตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ ทีมแพทย์ออกหน่วยตรวจคัดกรองผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดของ สปป. ลาว เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 จากการคัดกรองผู้ป่วยเด็กจำนวน 92 ราย พบว่าในจำนวนนี้ มีเด็ก 37 ราย ที่มีความจำเป็นต้องนำไปผ่าตัดรักษาที่ประเทศไทย และมีเด็ก 3 ราย มีความจำเป็นต้องนำตัวไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์



หนึ่งในนั้นคือน้องบอยเด็กชายวัย 10 เดือน (อายุในขณะนั้น) ปัจจุบันอายุ 1 ปี 1 เดือน ทีมแพทย์พบว่าเด็กมีอาการเส้นเลือดหัวใจสลับห้องกัน มีรูรั้วที่ผนังห้องหัวใจ มีอาการตัวเขียวจากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งขณะนั้นน้องบอยมีน้ำหนักเพียง 3 กิโลกรัมเท่านั้น ทีมแพทย์จึงลงความเห็นว่าจำเป็นต้องนำตัวมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อย่างเร่งด่วน หลังการผ่าตัดผ่านไปจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว เด็กมีอาการคงที่ ร่างกายแข็งแรงจากเดิมเป็นอย่างมาก ทีมแพทย์จึงเห็นสมควรว่า เด็กมีความพร้อมที่จะเดินทางกลับไปที่เมืองหลวงพระบางแล้ว ดังนั้นในวันพรุ่งนี้วันที่ 18 เมษายน 2567 ทางทีมแพทย์จะส่งตัวเด็กกลับไปที่หลวงพระบาง โดยการสนับสนุนเครื่องบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส


นอกจากนั้นในโครงการ “รักษ์หัวใจเด็ก(น้อย) ข้ามโขง” คณะแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และทีมงาน Global Health ได้หารือกับคณะแพทย์ของโรงพยาบาลมะโหสด เรื่องแนวทางความร่วมมือและการสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของ สปป.ลาว ให้สามารถผ่าตัดหัวใจเด็กได้ภายใน 5 ปี ในเบื้องต้น คณะแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เห็นว่า ควรสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของหอผู้ป่วยวิกฤตเด็ก และพิจารณาเรื่องการให้ทุนแก่บุคลากรเพื่อเพิ่มพูนทักษะสำหรับการดูแลผู้ป่วยเด็กและทุนการศึกษาสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไปอย่างเต็มกำลังจากทุกหน่วยงานข้างต้น



สรุปผลการดำเนินโครงการ “รักษ์หัวใจเด็ก(น้อย) ข้ามโขง” ผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดจำนวน 37 ราย (มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรอผ่า 2 ราย ) ผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 2 ราย ทั้ง 2 คน อาการปลอดภัยดี และผ่าตัดที่โรงพยาบาลเกษมราฎร์ ประชาชน 27 ราย ทุกคนที่ผ่าตัดอาการปลอดภัยดี เท่ากับว่าเด็กที่เข้าโครงการและได้รับการผ่าตัด มีอัตรการรอดชีวิต 100 เปอร์เซ็น ยังเหลือเด็กที่รอผ่าตัดอีก จำนวน 11 ราย




คุณอาจสนใจ

Related News