สังคม

กรมอุตุฯ เตือน ฉ.8 พายุฤดูร้อนกระทบถึง 11 เม.ย. ไทยตอนบนเผชิญฝนฟ้าคะนอง-ลมกระโชกแรง

โดย kanyapak_w

10 เม.ย. 2567

201 views

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 8 (75/2567) มีผลกระทบจนถึงวันที่ 11 เมษายน 2567



บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่าน



ประเทศเมียนมาและผ่านภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบ




ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย



จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้



วันที่ 10 เมษายน 2567



ภาคเหนือ:    จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก



ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:   จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ และ นครราชสีมา



ภาคกลาง:  จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม

รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล



ภาคตะวันออก:   จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง



วันที่ 11 เมษายน 2567



ภาคเหนือ:   จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ และตาก


จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ประกาศ ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567 เวลา 05.00


ขณะที่พยากรณ์อากาศเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน พ.ศ. 2567

ในวันที่ 11 เม.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน โดยมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศเมียนมา และภาคเหนือตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 17 เม.ย. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทย มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง



สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 11 – 12 เม.ย. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้นทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามัน ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 17 เม.ย. 67 ลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร



ส่วนพยากรณ์อากาศทั่วไป


ภาคเหนือ



อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน

โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งและลูกเห็บตกบางแห่ง

ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก

อุณหภูมิต่ำสุด 21-28 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิสูงสุด 37-43 องศาเซลเซียส

ลมใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม. 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน

โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และลูกเห็บตกบางแห่ง

ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และนครราชสีมา

อุณหภูมิต่ำสุด 21-28 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส

ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง



อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน

โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม

อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิสูงสุด 38-42 องศาเซลเซียส

ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออก



อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน

โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และระยอง

อุณหภูมิต่ำสุด 27-29 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส

ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)



อากาศร้อนโดยทั่วไปในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่

ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส

ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎ์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ทะเลมีคลื่นประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)



อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่

ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา และกระบี่

อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส

ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ทะเลมีคลื่นประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล



อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน

โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส

ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.




คุณอาจสนใจ

Related News