สังคม
โรงงานแจงปมย้าย 'กากแร่แคดเมียม' 1.5 หมื่นตัน จากตากมาสมุทรสาคร หวั่นสารก่อมะเร็ง ปนเปื้อนแหล่งน้ำ
โดย nattachat_c
5 เม.ย. 2567
357 views
ผู้ว่าฯ สมุทรสาครประกาศเขตภัยพิบัติ ห้ามเข้าใกล้ 90 วัน หลังพบกากแคดเมียม ก่อมะเร็ง กว่า 1.5 หมื่นตัน ด้าน สธ.เร่งตรวจสุขภาพคนงาน ชุมชน เบื้องต้นคนงาน 11 ราย ยังไม่พบอาการผิดปกติ
จากกรณีที่ กรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริง ตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ได้ขาย 'กากแร่สังกะสี' และ 'กากแร่แคดเมียม' ที่ฝังกลบในจังหวัดตาก ให้กับบริษัทหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร จำนวนกว่าหมื่นตัน
ซึ่งเรื่องนี้ถือว่า ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งการขนย้ายจากบ่อฝั่งกลบที่จังหวัดตาก ออกมาที่จังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นการกระทำความผิดที่รุนแรงมาก จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย เพราะเก็บใส่ถุงบิ๊กแบ็คในอาคาร และนอกอาคาร พันกว่าถุง ทั้งนี้ จึงต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประกาศเขตภัยพิบัติฯ ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น
ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วานนี้ (4 เม.ย. 67) นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้เข้าตรวจสอบที่บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร
บริษัทนี้เป็นบริษัทฯ ที่นำ 'กากแร่แคดเมียม' จากจังหวัดตาก เข้ามากักเก็บไว้ที่โรงงาน โดยภายหลังจากที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และคณะ ได้เข้าไปตรวจสอบภายใน ใช้เวลาราว ๆ 1 ชั่วโมง ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ถึงผลการตรวจสอบ และมาตรการทางกฎหมาย ที่บังคับใช้กับบริษัทแห่งนี้
นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า มี 'กากแร่แคดเมียม' ที่มาจากทางจังหวัดตากจริง โดยมีอยู่ราว ๆ 15,000 ตัน โดยทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้ทำการอายัติไว้แล้ว
ทั้งนี้ 'กากแคดเมียม' ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในตัวอาคาร มีกองอยู่ภายนอกตัวอาคารบางส่วน ราว ๆ 100 ถุง ที่ต้องนำเข้าไปเก็บในตัวอาคารให้เรียบร้อย และหลังจากนี้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จะออกคำสั่งประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ โดยห้ามบุคคล หรือสิ่งอื่นใด เข้าไปภายตัวอาคาร รวมถึงห้ามมีการหล่อหลอมแคดเมียมโดยเด็ดขาด
และให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ออกคำสั่งขนย้าย 'กากแร่แคดเมียม' ทั้งหมด ออกจากจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อส่งกลับไปยังบริษัทต้นทาง ที่จังหวัดตาก เพราะกากแร่ตัวนี้ ตาม EIA แล้ว ห้ามขนย้ายออกมาจากจังหวัดตาก โดยจะให้เวลารีบดำเนินการภายใน 7 วัน นับจากนี้
ส่วน 'กากแร่แคดเมียม' ถูกขนย้ายมาอยู่ที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครได้อย่างไรนั้น ก็ต้องไปตรวจสอบที่อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ขนย้ายออกมา
ด้านนายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบ พบว่า โรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้กักเก็บ และบดย่อยกากอุตสาหกรรม และหล่อหลอมอะลูมิเนียม เท่านั้น แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้หล่อหลอม 'กากแร่แคดเมียม'
ดังนั้น การกระทำของโรงงาน จึงถือว่ามีความผิดฐานประกอบการ (หล่อหลอมแคดเมียม) โดยไม่ได้รับอนุญาต และยังเก็บวัตถุเป็นพิษโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย มีโทษสูงสุดทั้งจำ และปรับ
ขณะที่ ในส่วนของ 'กากแร่แคดเมียม' ตัวนี้ เป็นกากที่ถูกทำลายฤทธิ์แล้ว ก่อนลงสู่หลุมฝังกลบที่จังหวัดตาก แต่การนำออกจากหลุมที่จังหวัดตาก มาที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทำการหล่อหลอม 'กากแร่แคดเมียม' นั้น เป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด
อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ยังบอกด้วยว่า นอกจากความผิดที่พบขณะเข้าตรวจสอบแล้วนั้น ยังต้องรอผลการตรวจสอบจากฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้ง...
- เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมฯ ว่า สารแคดเมียมมีการกระจายออกสู่ภายนอกตัวอาคารหรือไม่
- สาธารณสุข มีการตรวจหาว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมหรือไม่
- ปทส. ทำการสอบโดยเชิงลึกว่า มีการหล่อหลอมกากเหล่านี้ ไปบ้างแล้วหรือไม่ เป็นต้น
ขณะที่ ตัวแทนโรงงาน บอกว่า 'กากแร่แคดเมียม' ทั้งหมดนี้ เริ่มมีการขนย้ายเข้ามาเก็บกองไว้ที่โรงงาน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 โดยใช้เวลากว่า 3 เดือน
ซึ่งหลังจากที่หน่วยงานราชการเข้าตรวจสอบ แล้วสั่งให้ขนย้าย 'กากแร่แคดเมียม' ทั้งหมดเข้าไปภายในตัวอาคารก่อน ก็จะรีบดำเนินการให้เสร็จภายในวันเดียว แต่เรื่องของการขนย้ายกลับไปยังจังหวัดตากภายใน 7 วันนั้น ก็จะรีบทำให้เร็วที่สุด
ส่วนที่ว่า 'กากแร่แคดเมียม' ทั้งหมดถูกนำมาทำอะไรนั้น ส่วนตัวแล้วไม่รู้เรื่อง ต้องถามทางเจ้าของโรงงาน ตนรู้เพียงแค่ว่า เมื่อรับเข้ามา ก็นำมากักเก็บไว้เท่านั้น
ทั้งนี้ สอดคล้องกับการสืบสวนของตำรวจ ปทส. และการตรวจสอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่า เครื่องจักรที่นี่ มีอุณหภูมิเพียงพอที่จะหลอมอลูมิเนียมเท่านั้น ซึ่งไม่มากพอที่จะหลอมแคดเมียมได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า ยังไม่มีการฟุ้งกระจายของแคดเมียมผ่านการหลอม แต่การที่ถุงบิ๊กแบ็กชำรุด และวางตากแดดตากฝน ตั้งแต่สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา อาจเกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำหรือไม่ ตอนนี้ ได้ตัวเก็บอย่างน้ำเสียไปตรวจพิสูจน์แล้ว
อีกทั้ง ยังพบว่า โรงงานแจ้งขอนุญาตจากอุตสาหกรรม จ.ตาก ว่า จะนำ 'กากแร่แคดเมียม' นี้ มาบดย่อย ในโรงงานนี้ ที่มีใบอนุญาตรีไซเคิล 106 แต่ในโรงงานที่ตรวจ วันนี้ (4 เม.ย. 67) ก็ยังไม่พบการบดย่อยแต่อย่างใด
ที่สำคัญ 'กากแร่แคดเมียม' เหล่านี้ ที่อยู่ในการทำเหมืองของ บริษัท ผาแดง อินดัสทรี จ.ตาก นั้น ตามรายงานใน EIA แล้ว ต้องถูกฝังกลบอย่างถาวร
-----------
ต่อมา เวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร ได้รายงานเบื้องต้นว่า
จากการเข้าตรวจสอบบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
บริษัท เจ แอนด์ บี เมทอล จำกัด ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานทั้งสิ้น 3 ใบอนุญาต โดยเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่เลขที่ 132 หมู่ที่ 2 จำนวน 2 ใบอนุญาต และเป็นโรงงานตั้งอยู่เลขที่ 136/2 หมู่ที่ 2 อีก 1 ใบอนุญาต โดยทั้งหมดประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะประเภทต่าง ๆ ซึ่งจากการตรวจสอบโรงงานทะเบียนเลขที่ (3 – 106 – 45/57 สค) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 132 หมู่ที่ 2 พบ 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็คสีขาว จำนวนประมาณ 1,300 ถุง และพบอยู่ภายนอกโรงงานอีก 100 ถุง เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมที่อยู่ภายนอก เข้าไปในโรงงานโดยเร็วที่สุด ส่วนโรงงานทะเบียนเลขที่ (จ 3 – 60 – 6/66 สค) ซึ่งใช้บ้านเลขที่ 132 หมู่ที่ 2 และอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงานแรก พบ 'กากแร่อลูมิเนียม' อยู่ภายในโรงงาน และมี 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' จำนวน 9 ถุง เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้าย 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' จำนวน 9 ถุง นำไปเก็บไว้ที่โรงงานแรกโดยด่วน
ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบโรงงานทะเบียนเลขที่ (จ 3-60-5/37 สค) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 136/2 หมู่ที่ 2 พบ 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' อีก 227 ถุง อยู่ภายในโรงงาน ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษที่ร่วมตรวจสอบ ได้ให้ความเห็นว่า 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' ดังกล่าว จะผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% เพื่อทำลายฤทธิ์ และอยู่ในสถานะแข็งตัว หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิด และไม่มีการชำระล้าง จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ สิ่งที่จังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการไปแล้ว คือ
1. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 อายัด 'กากแร่แคดเมียม', และ 'กากแร่สังกะสี' ที่พบทั้งหมดอยู่ภายใน บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด
2. มีคำสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามนำ 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' เข้าสู่กระบวนการผลิต ให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานเก็บ
3. ดำเนินคดีฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ใช้อำนาจตามมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ออกประกาศห้ามมิให้บุคคลใด ๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงานทั้ง 2 แห่ง เป็นระยะเวลา 90 วัน
5. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครใช้อำนาจตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งให้นำ 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' ทั้งหมด กลับไปฝังกลบในบ่อเก็บตามเดิม
6. สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ในฐานความผิด ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 โดยไม่บริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับสารเคมีอันตราย
7. กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ได้เก็บตัวอย่างน้ำในโรงงาน และบริเวณโดยรอบโรงงาน ไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อน จะทราบผลใน 2 สัปดาห์
8. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ตรวจคัดกรอง และตรวจหาสารแคดเมียม ในปัสสาวะของพนักงานโรงงาน ว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ จะทราบผลใน 1 สัปดาห์
9. องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำจืด ได้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบอาคารโรงงานว่า เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือไม่
10 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ดำเนินการสืบสวนการกระทำความผิดอาญาที่เกิดขึ้น จากกรณีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมในบริเวณดังกล่าว และ 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' ดังกล่าว ซึ่งผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30 % ปัจจุบันอยู่ในสถานะแข็งตัว และเสถียร หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิด และไม่มีการชำระล้าง จะยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
-------------
วานนี้ (4 เม.ย. 67) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี กรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงข้อมูลว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ขาย 'กากแร่สังกะสี' และ 'กากแร่แคดเมียม' ที่ฝังกลบในจังหวัดตาก ให้กับบริษัทหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร จำนวนกว่าหมื่นตัน ว่า
เรื่องนี้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้นำทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย
ล่าสุด ได้รับรายงานจาก นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับการหล่อและหลอมโลหะประเภทต่าง ๆ 3 โรงงาน
โรงงานแห่งแรก พบ 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' ในถุงบิ๊กแบ็คสีขาวในโรงงาน 1,300 ถุง และ นอกโรงงานอีก 100 ถุง
โรงงานแห่งที่ 2 ที่อยู่บริเวณเดียวกัน พบ 'กากแร่อลูมิเนียม' อยู่ภายในโรงงาน และมี 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' อยู่นอกโรงงาน 9 ถุง
โรงงานแห่งที่ 3 พบ 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' อีก 227 ถุง อยู่ภายในโรงงาน
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้เคลื่อนย้าย 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' ที่อยู่ภายนอก ไปเก็บไว้ในโรงงานทั้งหมดแล้ว
กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบ พบว่า 'กากแร่แคดเมียม' และ 'กากแร่สังกะสี' มีการผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% เพื่อทำลายฤทธิ์ และอยู่ในสถานะแข็งตัว หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิด และไม่มีการชำระล้าง จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในด้านการดูแลผลกระทบทางสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรสาคร ตรวจคัดกรองสุขภาพของพนักงานในโรงงานจำนวน 11 ราย แบ่งเป็น คนไทย 8 ราย และต่างด้าว 3 ราย โดยซักประวัติตามแบบฟอร์มการสัมผัสสารโลหะหนักแคดเมียม ตรวจสัญญาณชีพเบื้องต้น ไม่พบความผิดปกติ แพทย์ได้ตรวจร่างกาย และเก็บปัสสาวะ เพื่อส่งตรวจหาสารแคดเมียม ซึ่งจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ และให้บริษัทนัดหมายพนักงานที่เหลือ เข้ารับการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลสมุทรสาครโดยเร็ว
นอกจากนี้ จะร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เร่งค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในบริเวณสถานที่ข้างเคียง ที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีดังกล่าวต่อไป
ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำในโรงงานและบริเวณโดยรอบ เพื่อส่งตรวจหาสารปนเปื้อนด้วย จะทราบผลใน 2 สัปดาห์
-------------
แคดเมียม (Cadmium)
จะพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ดังนั้นในการทำเหมืองสังกะสี จะได้แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย
แคดเมียมจะพบได้ในอาหาร ในน้ำ ในเหมือง และในส่วนน้ำทิ้ง หรือน้ำเสีย หรือกลุ่มผู้สูบบุหรี่
นอกจากนี้ ทั่ว ๆ ไป พบ แคดเมียมใช้ผสมในสีที่ผสมที่ใช้กับบ้านหรืออาคาร
ถ้าแคดเมียมดดนความร้อนที่ 321 องศาเซลเซียส จะเกิดเป็นควัน ทำให้มีการกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ เมื่อร่างกายสูดดมสารแคดเมียม จะเก็บสะสมไว้ในตับ และส่วนของหมวกไต (renal cortex)
สารแคดเมียมมี half-life ในร่างกายมนุษย์ถึง 30 ปี นอกจากนี้ จะพบสารแคดเมียมได้ในปอด และมีความเสี่ยงเกิดอันตรายส่วนของไต ทำให้หน้าที่การกรองของไต (GFR) ลดลง
แคดเมียมอาจได้รับโดยการกินอาหารทะเลที่มีการปนเปื้อนของสารแคดเมียม นอกจากนี้ จะได้รับควันของสารดังกล่าวจากการสูดดมในเหมือง หรือสิ่งแวดล้อม
ในประเทศญี่ปุ่น มีโรงงานปล่อยสารแคดเมียมมากับน้ำเสียของโรงงาน และปล่อยลงในโรงข้าว ทำให้เกิดการปนเปื้อนของแคดเมียมในเมล็ดข้าว และอาหาร
โดยพบว่าผู้ป่วยมากกว่าพันคน เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างทรมาน โดยบริเวณ แขน ขา สะโพก และบริเวณฟัน จะพบมีวงแหวนสีเหลืองติดกับเหงือก เรียกว่า 'วงแหวนแคดเมียม' และจะมีอาการปวดร้าวสะสม นานถึง 20-30 ปี
และเมื่อร่างกายเดินไม่ไหว ก็จะเกิดการกดกระดูกสันหลัง เรียกว่า โรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease)
อาการที่ได้รับสารแคดเมียมจากการกิน จะทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ ปวดท้อง และปอด โดยไตและตับจะถูกทำลาย ถ้าหากหายใจควันเข้าไปในปอด ก็จะมีอาการเจ็บคอ หายใจสั่น มีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด โลหิตจาง การหายใจจะลำบากมากขึ้น สุดท้ายก็จะไตวาย
------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/eyYQLJ8AG-w