สังคม

แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่นPM 2.5 ยังเกินมาตรฐาน พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ-ดวงตาอักเสบ เพิ่มสูงขึ้น

โดย nutda_t

20 มี.ค. 2567

40 views

นายแพทย์สุพัฒน์ ใจงาม ผอ.โรงพยาบาลขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า อยากจะขอเตือนให้ประชาชนให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดดมฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยเข้าใจถึงพิษภัยจากพิษของฝุ่นละอองจากควันไฟป่า พบว่าประชาชนสวมหน้ากากอนามัยไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ บางคนอาจจะเข้าใจแต่ไม่กลัว จึงขอตระหนักให้มาก เนื่องจากพิษของฝุ่นมีมากกว่าที่คิด

ยกตัวอย่าง ค่าปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 วัดได้ 100 มคก./ลบ.ม. เทียบเท่าสูบบุหรี่ 5 มวน , ค่า PM 2.5 วัดได้ 200 เทียบเท่าสูบบุหรี่ 10 มวน และถ้าค่า PM 2.5 วัดได้ 300 เท่ากับสูบบุหรี่ 15 มวนต่อเนื่อง ที่สำคัญคือฝุ่นละอองที่เราสูดเข้าไป ไม่มีกลิ่น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรค มะเร็งปอด , โรคถุงลมโป่งพอง , โรคหลอดเลือดสมอง และ โรคหัวใจก่อนวัยอันควร ดังนั้น จึงอยากจะขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชน ใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านเรือนในห้วง 2 เดือนนี้ เนื่องจากการห้ามเผาคงยาก ห้ามฝุ่นยาก แต่เราควรป้องกันตนเองไว้ก่อน ทั้งนี้ยอดผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจของโรงพยาบาลขุนยวม เมื่อเทียบกับปีก่อนมีผู้ป่วยสูงถึง 300 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าหนักมากที่สุด

สำหรับที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ พบว่า มีผู้ป่วยจากดวงตาอักเสบเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และยอดผู้ป่วยเริ่มเพิ่มสูงขึ้นในห้วงต้นเดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา


นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน ได้เร่งดำเนินนโยบายในการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันพิษ โดยได้มีการสั่งให้ระงับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทุกพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ป่า พื้นที่ทำกิน พื้นที่ชุมชนพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่อื่นๆ จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ( PM 2.5) จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติหรือคลี่คลายลง เนื่องจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่มีรถบรรทุกน้ำระดมฉีดพ่นละอองน้ำ สร้างความชุ่มชื้นในอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ภาคเศรษฐกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยว การบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการประชาสัมพันธ์รณรงค์เชิงรุก สร้างการรับรู้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ตลอดจนผลกระทบจากการเผาเพื่อเจรจาและขอความร่วมมือกับชุมชนหรือประชาชนลดการเผาในช่วงประกาศห้ามเผา พร้อมทั้งระงับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

ทางด้านสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ สาขาที่ 1 แม่ฮ่องสอน รายงานผลการปฏิบัติงานของหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้เมืองแม่ฮ่องสอน, หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.2 (เมืองแม่ฮ่องสอน), หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.8 (ม่อนตะแลง) ร่วมกับชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟกรมป่าไม้(ชุดสนธิกำลัง) ชุดเหยี่ยวไฟนครศรีธรรมราช , ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟกรมป่าไม้(ชุดสนธิกำลัง) ชุดเหยี่ยวไฟเพชรบุรี ได้รับแจ้งจุดความร้อน (Hotspots) ตรวจพบโดยดาวเทียม suomi NPP ระบบ viirs ประจำวันที่ 19 มีนาคม 2567 รอบเวลา 02.00 น. จำนวน 32 จุด สามารถดำเนินการได้ 2 จุด เท่านั้น ที่เหลือไฟป่าเกิดในพื้นที่เทือกเขาสูงชัน ไม่สามารถดำเนินการดับไฟป่าได้แต่อย่างใด ได้แต่เพียงเฝ้าระวังไม่ให้ไฟป่าลุกลามเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนเท่านั้น

คุณอาจสนใจ

Related News