สังคม

ฝุ่นกรุงเทพฯ กลับมาหนัก วัดได้ 118 - มือดีเผาดอยสุเทพ เย้ยผู้ว่าฯ ตั้งรางวัลนำจับ 1หมื่น

โดย nattachat_c

11 มี.ค. 2567

37 views

วันนี้ (11 มี.ค. 67) คุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับสี โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และ มลพิษทางอากาศ PM2.5 เวลา 06.00 น. คือ 118 AQI มีผลกระทบต่อผู้ป่วย หรือร่างกายอ่อนแอ (สีส้ม)

-------------
10 อันดับเมืองประเทศไทย ที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยมี ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และมลพิษทางอากาศ PM2.5 เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 11 มี.ค. 67 มีดังนี้


1. สุโขทัย, จังหวัดสุโขทัย 172

2. ดอยสะเก็ด, จังหวัดเชียงใหม่ 165

3. สันทราย, จังหวัดเชียงใหม่ 165

4. แม่เมาะ, จังหวัดลำปาง 158

5. เชียงราย, จังหวัดเชียงราย 157

6. เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 154

7. เชียงใหม่, จังหวัดเชียงใหม่ 153

8. ปากช่อง, จังหวัดนครราชสีมา 153

9. พิษณุโลก, จังหวัดพิษณุโลก 149

10. ชลบุรี, จังหวัดชลบุรี 147

-------------
ช่วงบ่ายวานนี้ (10 มี.ค.67) เวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุไฟไหม้ป่า บริเวณเชิงดอยสุเทพ ใกล้กับอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เย็น ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ในพื้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยไฟลุกไหม้เป็นแนวยาวจากพื้นที่ราบ ขึ้นไปบนภูเขาสูง เป็นทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร มีผู้ถ่ายคลิปไว้ได้ ขณะขับรถไปตามเส้นทาง พบกลุ่มควันโขมงลอยจากยอดดอยสุเทพ ยิ่งทำให้สภาพอากาศในตัวเมืองเชียงใหม่ขมุกขมัว เต็มไปด้วยควันสีดำ  


ทางด้านนายสมนึก ท้าวพา ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่  สั่งสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าภูพิงค์ฯ , อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย , ทหารพราน และอาสาสมัคร เข้าปฏิบัติการดับไฟป่าในจุดดังกล่าว โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่เดินเท้าเข้าไปดับไฟ  ส่วนบนเขาสูง  ต้องประสานขอเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  บินตักน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าและอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เย็นขึ้นโปรยน้ำดับไฟ  ซึ่งแต่ละเที่ยวใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ในการตักน้ำขึ้นไปดับไฟ ซึ่งบินตั้งแต่ 5 โมงเย็นจนเกือบค่ำ โดยภาพมุมสูงจากเฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่ สามารถจับภาพกลุ่มควันที่ลอยออกมาจากผืนป่าบนดอยสุเทพหลายจุด  


นายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย  เปิดเผยว่า บินโปรยน้ำดับไฟ ครั้งละ 500 ลิตร ทั้งหมด 25 เที่ยว จำนวน 12,500 ลิตร  แต่พื้นที่ราบเชิงเขา ต้องใช้กำลังคนในการดับไฟจนมืด และยังต้องให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่ไว้ เพราะเกรงว่าไฟจะลุกไหม้ขึ้นมาซ้ำอีก และมีเจ้าหน้าที่เสือไฟ ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย น่าจะลื่นข้อเท้าพลิก

---------------

ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.67)  ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีการประชุมติดตามสถานการณ์และการแก้ปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  ได้รายงานสถานการณ์ไฟป่าและ PM2.5 ให้ที่ประชุมทราบว่า  ช่วงนี้มีลมจากตะวันตกพัดพาฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่  ทำให้ 5 อำเภอที่ติดแนวชายแดน คือ อำเภอแม่อาย ฝาง เชียงดาว ไชยปราการ และเวียงแหง มีค่าฝุ่นสูงในทุก ๆ วัน และจะเบาบางลงในช่วงบ่าย


ซึ่งเป็นลักษณะนี้มาประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว ขณะที่การเผาก็ยังสามารถควบคุมได้ และได้มีการงดเว้นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าทั้งหมดในห้วงนี้ และปิดป่าอนุรักษ์ 19 ป่า ส่วนการลักลอบเผาได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่โดยเร็วและดับให้ได้ภายใน 1 วัน รวมถึงการตั้งรางวัลนำจับผู้กระทำความผิดคดีละ 10,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการใช้ปฏิบัติการฝนหลวงบินเจาะช่องระบายอากาศเพื่อให้ฝุ่นในพื้นที่พัดขึ้นไปได้

---------------

เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.67)   พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ผู้บริหารกระทรวงฯ และผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมประชุม Conference ติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ มอบนโยบายที่ประชุม โดยระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น pm2.5 รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นต้องไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน มุ่งเป้าทั้ง 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซากทั้งในพื้นที่ป่าพื้นที่สูง และในพื้นที่ราบของ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยได้มอบนโยบายหลัก 6 นโยบาย คือ


1.ปรับรูปแบบการจัดกำลังดับไฟป่าด้วยยุทธวิธีผสมผสาน ทั้งการตรึงพื้นที่ด้วยจุดเฝ้าระวังและการลาดตระเวน การส่งกำลังและดับไฟโดยอากาศยาน เข้าถึงไฟให้เร็ว ควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้างคุมแนวไฟและดับให้สนิท ให้วอร์รูมบัญชาการชุดปฎิบัติการดับไฟป่าตลอดเวลาที่มีการเข้าพื้นที่


2.ติดตามสถานการณ์จุดความร้อน สนธิกำลังพลทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และเครือข่าย ทั้งระดับภาคพื้นและอากาศยาน ลาดตะเวน เฝ้าระวัง อย่างเข้มข้น เมื่อพบต้องเร่งปฏิบัติการเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์โดยทันที แต่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ งดการใช้อาสาสมัครที่ไม่ได้รับการฝึกปฏิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย


3.สนับสนุนและบูรณาการทำงานอย่างเต็มที่และอย่างเป็นหนึ่งเดียว กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลาง


4. “ปิดป่า” ห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ยกระดับการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่า


5.สำหรับพื้นที่เกษตร ต้องติดตามเฝ้าระวัง ประสานงานกับฝ่ายปกครองอย่างใกล้ชิดเพื่อลดและควบคุมไม่ให้เกิดการเผาและหากเกิดต้องควบคุมให้ได้โดยเร็ว


6. สื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างทั่วถึง ทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง สร้างความรู้ทำความเข้าใจกับกับประชาชนให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม

---------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/BVubSdoerZM


คุณอาจสนใจ

Related News