สังคม

ทั้งร้อนทั้งฝุ่น! ควันไฟป่าคลุ้ง ภาคเหนือ PM 2.5 พุ่ง มองไม่เห็นดอยสุเทพ ซ้ำทั่วไทยร้อนตับแลบ

โดย passamon_a

7 มี.ค. 2567

192 views

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.67 สถานการณ์ไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ยังคงวิกฤต โดยช่วงเช้า พบจุดความร้อน 97 จุด กระจายอยู่หลายอำเภอ ที่อำเภอแม่แจ่มมากที่สุด 14 จุด เชียงดาว 13 จุด จอมทอง 11 จุด แม่วาง 10 จุด สันทราย 10  จุด ฮอด 7 จุด ซึ่งจากสถานการณ์ไฟป่าที่กระจายตามอำเภอต่าง ๆ ล้อมตัวเมืองเชียงใหม่ ส่งผลให้ควันไฟป่าลอยเข้ามาสะสมในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีสภาพเป็นแอ่งกระทะ และทำให้คุณภาพอากาศของเมืองเชียงใหม่วิกฤตหนัก  


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เชียงใหม่กลายเป็นเมืองในหมอก สภาพท้องฟ้าของตัวเมืองเชียงใหม่ถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควันจากไฟป่า ลอยข้ามแดนเข้ามา ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นลดลง ขมุกขมัว จนมองไม่เห็นดอยสุเทพ หากมองตามท้องถนนด้วยสายตา จะเห็นฝุ่นควันได้อย่างชัดเจน ค่ามลพิษหรือ PM 2.5 พุ่งสูงขึ้นและเกินค่ามาตรฐานทุกสถานี ทำให้ประชาชนที่อยู่กลางแจ้ง แสบตาแสบจมูก ส่วนใหญ่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า ที่ขายอาหารที่อยู่ตามริมถนนโชตนา


โดยเพจ CCD: Climate Change Data Center โพสต์ข้อความว่า "ไม่รอด ดอยสุเทพหาย ... จากผลกระทบไฟป่าและฝุ่นควันในเชียงใหม่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงมาก" พร้อมกับโพสต์ภาพถ่ายดอยสุเทพ ภาพล่างถ่ายเมื่อวันที่ 2 ม.ค.67 ซึ่งมองเห็นดอยสุเทพได้ชัดเจน แต่ภาพบนถ่ายเมื่อวันที่ 6 มี.ค.67 ดอยสุเทพถูกปกคลุมด้วยฝุ่นสีทะมึน มองไม่เห็นดอยสุเทพ


ด้าน นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เปิดเผยถึงภารกิจและแผนการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อบรรเทาสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ โดยดำเนินการ 3 วิธี คือ ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้เกิดฝนตกในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ป่า เพื่อเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่าไม้ ส่งผลให้ลดการเกิดไฟป่า


ปฏิบัติการก่อเมฆและเลี้ยงเมฆ เพื่อดูดซับฝุ่นละอองและระบายฝุ่นออกจากพื้นที่ และการดัดแปลงสภาพอากาศโดยใช้เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน ด้วยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือน้ำลดอุณหภูมิ เพื่อให้เกิดการระบายของอากาศ เป็นการระบายฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้บินปฏิบัติการทั้งหมด 13 วัน 16 เที่ยวบิน ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่, สะเมิง, แม่วาง, แม่ออน, แม่แตง, พร้าว, ฮอด, ดอยเต่า และอมก๋อย


โดยช่วงนี้ ในวันที่มีความชื้นเหมาะสม คือ มีความชื้นในอากาศเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จะใช้วิธีการก่อเมฆเพื่อดูดซับฝุ่น แต่หากความชื้นในอากาศน้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ จะทำการดัดแปลงสภาพอากาศ โดยการเจาะชั้นบรรยากาศให้อากาศสามารถยกตัวและระบายอากาศได้ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงต้นลมของพื้นที่เป้าหมาย หรือพื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดหมอกควัน พื้นที่ตอนบนของจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางการเกษตร ประกอบกับมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวยังไม่แล้วเสร็จ อาทิ ข้าว กระเทียม ลำไยนอกฤดู มะม่วง ซึ่งพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ หากโดนฝนแล้วจะทำให้ได้รับความเสียหาย จึงได้เลือกใช้วิธีที่ไม่ทำให้ฝนตก แต่มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับการเกิดฝน


ขณะที่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ได้ออกประกาศเตือนภัย คุณภาพอากาศเกินมาตรฐานบริเวณภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) โดยระบุว่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ณ เวลา 09.00 น. มีค่าระหว่าง 42.5 - 156.5 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ


ด้าน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และจากดาวเทียมอีกหลายดวง เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 2,230 จุด ซึ่งข้อมูลจุดความร้อน สูงสุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูล 1 พ.ย.66 ข้อมูลจากดาวเทียมยังระบุอีกว่า จุดความร้อนที่พบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 883 จุด ตามด้วยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 734 จุด พื้นที่เกษตร 284 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 173 จุด แหล่งชุมชนและอื่น ๆ 145 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 11 จุด สำหรับจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ ลำปาง 305 จุด เชียงใหม่ 277 จุด และตาก 240 จุด


ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน พบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่พม่า 4,564 จุด ตามด้วยลาว 3,184 จุด เวียดนาม 905 จุด และกัมพูชา 828 จุด


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/2K4iCx2Aeao

คุณอาจสนใจ

Related News