สังคม
รวบคาบ้าน! จนท.สินเชื่อแบงก์ดัง ขายข้อมูลลูกค้า ชื่อละ 1 บาท ฟันเงินหลายหมื่นต่อเดือน รับทำมาแล้ว 2 ปี
โดย petchpawee_k
16 ก.พ. 2567
1.4K views
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ก.พ.2567 ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทอง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.
แถลงจับกุมตัว นายสุวรรณ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 506/2567 ลงวันที่ 6 ก.พ.2567 ที่บริเวณหน้าบ้านหลังหนึ่ง ใน ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
โดยผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ลักลอบนำข้อมูลลูกค้าของสถาบันการเงินมาดัดแปลง แก้ไข และนำไปจำหน่ายต่อให้กลุ่มที่สนใจ อาทิ ตัวแทนสินเชื่อ ตัวแทนประกัน ซึ่งบางกรณีตกไปอยู่ในมือของกลุ่มมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนขยายผลผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปขายให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งข้อมูลของลูกค้า แลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้า
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายค้นพบคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์มือถือ ที่เก็บไฟล์ภาพข้อมูลของลูกค้าและประชาชนที่ซื้อขายข้อมูลมาจากบุคคลอื่น และข้อมูลลูกค้าที่ผู้ต้องหาถือเก็บไว้ และเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง
โดยทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อในการประสานงานกับลูกค้า จึงมีการเก็บข้อมูลลูกค้าไว้ส่วนหนึ่งโดยทำการจดบันทึกและจัดทำเป็นไฟล์เอกสารแล้วจึงนำไปจำหน่ายต่อให้กับกลุ่มนายหน้าประกัน นายหน้าสินเชื่อของสถาบันธนาคารการเงินอื่น โดยไม่ถูกขั้นตอนของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
โดยจะทยอยนำรายชื่อลูกค้า ครั้งละ 3,000-5,000 รายชื่อ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเครดิตดี ไปจำหน่ายต่อในราคารายชื่อละ 1 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มเติมในแต่ละเดือนหลักหลาย 10,000 บาท โดยกระทำการในลักษณะเช่นนี้มาแล้วกว่า 1-2 ปี เพื่อใช้ข้อมูลชื่อลูกค้าในการทำงานฝ่ายสินเชื่อมากขึ้น
การหลอกลวงของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนวิธีการโดยจะใช้วิธีซื้อข้อมูลเหยื่อจากกลุ่มตลาดมืดที่เป็นข้อมูลพรีเมียม กล่าวคือเป็นข้อมูลเหยื่อที่มีเครดิตชั้นดี ซึ่งทำให้กลุ่มมิจฉาชีพสามารถตีสนิทเหยื่อได้ง่ายกว่า
เนื่องจากมีข้อมูลจำเพาะเจาะจงทำให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ภาคเอกชนต่างๆ ติดต่อมาจริง ทำให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ก็เพราะมีแหล่งที่มาของข้อมูลส่วนบุคคลที่รั่วไหลมาจากสถานบันการเงิน สถาบันสินเชื่อต่างๆ
จึงต้องเร่งปราบปรามผู้กระทำผิดในลักษณะนี้ตามนโยบายของรัฐบาล ติดตามจับกุมกลุ่มผู้กระทำผิดในคดีนี้ให้จงได้ กระทั่งสืบสวนขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดในการซื้อขายข้อมูลประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง
และได้ประสานข้อมูลการสืบสวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) โดยตรวจสอบขยายผลเพื่อดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ให้ครบถ้วนทั้งตัวผู้กระทำผิดและมีมาตรการทางปกครองต่อหน่วยหรือสถาบันที่แหล่งข้อมูลมีการรั่วไหลเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/pL83FGpjTVc
แท็กที่เกี่ยวข้อง ขายข้อมูลลูกค้า ,จนท.แบงก์ ,จนท.สินเชื่อแบงก์ดัง