สังคม

เกาะติดภารกิจ รถ รพ.ส่งเด็ก 7 เดือน ผ่าตัดหัวใจ จากหนองคาย เข้ากรุงเทพฯ - เผยเหตุผลทำไมไม่ใช้ ฮ.บิน

โดย nattachat_c

24 ม.ค. 2567

58 views

วานนี้ (23 ม.ค. 67) โลกออนไลน์ต่างพร้อมใจกันแชร์ข่าวจาก เพจ ถนนมิตรภาพ-รถติดบอกด้วย กรณีวันที่ 23 มกราคม มีเคสฉุกเฉิน เด็ก 7 เดือน ซึ่งรับมาจาก รพ.หนองคาย กำลังเดินทางไป รพ.จุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ เพื่อมาเปลี่ยนอวัยวะหัวใจ แต่รถต้องใช้ความเร็ว เนื่องจากเด็กอาการไม่ดี ขอความร่วมมือหลีกทางให้รถพยาบาลด้วย 


เพจ ถนนมิตรภาพ-รถติดบอกด้วย ได้อัปเดตอาการของหนูน้อยวัย 7 เดือน เป็นระยะ ๆ พร้อมยังได้อัปเดตเส้นทางที่จะมีการเคลื่อนขบวนรถพยาบาล โดยขอให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนบริเวณถนนมิตรภาพ หลีกเส้นทางให้ขบวนดังกล่าว


โดยทางเพจได้แจ้งว่า “ขอกำลังสนับสนุนการจราจร “หนองคาย-กรุงเทพฯ” ผู้ป่วยเด็ก 7 เดือน ต้องผ่าตัดหัวใจเร่งด่วน”


รายละเอียด : เด็กชาย อายุ 7 เดือน น้ำหนัก 4 กิโลกรัม การวินิจฉัยโรค DORV/Subpulmonic VSD/dTGA


รถ REFER ยี่ห้อ MERCEDES BENZ รุ่น SPINTER (หมายเลขรถ ER6) หมายเลขทะเบียน 2ขห 1873 กรุงเทพมหานคร

-------------

ใช้เส้นทาง ถนนมิตรภาพ-หนองคาย-เลี่ยงเมืองอุดรธานี และ ถนนมิตรภาพ-ขอนแก่น มุ่งหน้ากรุงเทพฯ มีเส้นทางดังนี้


เมื่อเข้าพื้นที่จังหวัดอุดรธานี

1. แยก บ้านผือ

2. แยก รังษิณา (บายพาสหนองคาย)

3. แยก สามพร้าว

4. แยก หนองใส

5. แยก บิ๊กซี

6. แยก บ้านจั่น (บายพาสขอนแก่น)

7. แยก โกลบอลเฮ้าส์

8. แยก นิคมอุตสาหกรรม


เมื่อเข้าพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ใช้เส้นทาง อ.เขาสวนกวาง อ.น้ำพอง และ อ.เขื่อนอุบลรัตน์

1. แยก โนนม่วง

2. แยก มอดินแดง

3. แยก เซ็นทรัล

4. แยก ม.ภาค

5. แยก เจริญศรี

6. แยก คลังธนารักษ์

7. แยก ไฟแดง บขส.3

8. แยก ท่าพระ-โกสุม

9. แยก รพ.สิรินธร


เข้าถนนมิตรภาพ จ.สระบุรี เข้าถนนพหลโยธิน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นดอนเมืองโทลล์เวย์ ลงดินแดง มีกำหนด ว.21 จากโรงพยาบาลหนองคาย เวลาประมาณ 07.15 น. “ขบวนใช้ความเร็ว เนื่องจากเด็กตัวเขียว และใช้เครื่อง Ventilator ช่วยหายใจอยู่ อาการยังไม่ทรงตัว หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นจะนำเข้า รพศ. ตามจังหวัดที่ผ่าน”

-------------

โดย เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. รถพยาบาลที่รับตัวผู้ป่วยเด็กชายวัย 7 เดือน ได้เดินทางผ่านพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้เส้นทางถนนมิตรภาพหนองคาย-สระบุรี บายพาสเลี่ยงเมือง


ซึ่งขบวนรถพยาบาลต้องวิ่งด้วยความเร็ว เนื่องจากเด็กที่ป่วยมีอาการหนัก และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอดเวลา และตลอดเส้นทาง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงขับรถเปิดไซเรนนำทางรถพยาบาลของเด็กผู้ป่วย โดยมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยในพื้นที่คอยยืนอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเป็นระยะ


ทั้งนี้ หลังจากมีคนสนใจ ร่วมแสดงความเห็นขอให้น้องปลอดภัย และภาวนาให้การเดินทางครั้งนี้ราบรื่นปลอดภัย และมีหลาย ๆ เพจ ร่วมอัพเดทเหตุการณ์แบบเรียลไทม์


กระทั่งเวลา 13.18 น. ก็มีรายงานว่าขบวนเดินทางถึง รพ.จุฬาลงกรณ์ อย่างปลอดภัย ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง 3 นาที


จากนั้น ทางทีมแพทย์ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำผู้ป่วยเด็กเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งจะทำการรักษาอย่างดีที่สุด


สำหรับการช่วยเหลือครั้งนี้ เกิดขึ้นใน โครงการ รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง โดยสภากาชาดไทย ร่วมกับสาธารณสุข สปป.ลาว คัดกรองผู้ป่วยเด็กโรคจากหัวใจ ได้รับการรักษาที่ประเทศไทย เป็นความร่วมมือของ 2 ประเทศ เพื่อต่อชีวิตให้กับเด็ก ๆ

------------
จากกรณี โลกออนไลน์ได้พร้อมใจกันแชร์ข่าวจาก เพจ ถนนมิตรภาพ-รถติดบอกด้วย กรณีเคสผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นเด็กชายวัย 7 เดือน ซึ่งเดินทางด้วยรถพยาบาลมาจากโรงพยาบาลหนองคาย เพื่อส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ เพื่อทำการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหัวใจ ระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร แต่รถพยาบาลต้องใช้ความเร็ว


ซึ่งรถพยาบาลออกเดินทาง 07.30 น. และมีกรอบเวลา ต้องถึงจุดหมายก่อน 14.00 น. เพราะเด็กมีภาวะตัวเขียวต้องรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีการตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ส่งตัวเด็กมาทางเฮลิคอปเตอร์  


นพ.สมศักดิ์ ประฎิภาณวัตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย กล่าวว่า

รพ.หนองคาย เป็น รพ.ที่รับส่งต่อ เนื่องจาก รพ.หนองคาย ไม่มีหมอหัวใจเด็ก จึงได้ทำการคัดกรองร่วมกับทีมจุฬาฯ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ แล้วทำรายชื่อผู้ป่วยที่พิจารณาเข้ารับการรักษา เข้าคิวรอการผ่าตัด ประเมินว่าจะสามารถเดินทางด้วยรถยนต์เข้ารับการผ่าตัดได้เมื่อไร เพื่อให้การเดินทางปลอดภัย และรวดเร็วที่สุด


ตอนนี้มีรายชื่อทั้งหมด 37 ราย เข้าคิวไว้แล้ว 3 ราย เด็กกลุ่มนี้มีความเขียวพิการแต่กำเนิด การเดินทางที่ใช้เวลานานจะมีปัญหาอุปสรรค กลุ่มนี้อยากให้เดินทางไปถึงเร็วที่สุด ซึ่งไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ เพราะบางทีถ้าขึ้นเครื่องบินแล้วมีความกดอากาศ ถ้าเด็กร้องก็จะเขียวมาก หากเขียวบนเครื่องจะไม่ปลอดภัยกับเด็ก ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ เริ่มส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหนองคาย เดินทางด้วยรถของโรงพยาบาลจุฬา ไปตามถนนมิตรภาพเข้ากรุงเทพ ผู้ใช้รถใช้ถนนให้ความร่วมมือเปิดเส้นทางให้


ต้องขอขอบคุณตำรวจทางหลวง ตำรวจจราจร การทางพิเศษ ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนที่เอื้ออำนวยให้รถรีเฟอร์เดินทางได้อย่างรวดเร็ว เด็กปลอดภัย ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาชีวิตเด็ก คาดว่าเด็กที่ตรวจอาการแล้วทั้ง 37 ราย จะได้รับการเข้าคิวผ่าตัดแล้วเสร็จภายในปี 2567 เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วเด็กจะได้รับการติดตามอาการจากโรงหมอมะโหสถของลาว หากมีอาการผิดปกติก็จะมีการหารือกับโรงพยาบาลหนองคาย พิจารณาเป็นราย ๆ ไป


นพ.สมศักดิ์ ยังเผยอีกว่า โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างเอกอัครราชทูตไทย ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬา คณะแพทย์จุฬาลงกรณ์ มูลนิธิเพื่อการสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว โรงหมอมะโหสถ นครหลวงเวียงจันทน์ ร่วมมือกัน โดยทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิดใน สปป.ลาว ให้ได้รับการผ่าตัด รักษาในประเทศไทย


โดยมีผู้ป่วยโรคหัวใจเด็กจากทั่วประเทศ สปป. ลาว รวม 92 คน เข้าร่วมรับการตรวจคัดกรอง ภายหลังการคัดกรองทีมแพทย์มีแผนจะทยอยนำคนไข้จำนวน 37 ราย ไปนำตัวไปผ่าตัดรักษาที่ประเทศไทยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย


ซึ่งเคสแรกทางโรงพยาบาลหนองคายเป็นผู้นำส่งผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 66 ขณะนี้อาการปกติสามารถกลับไปใช้ชีวิตที่ สปป.ลาวได้แล้ว เคสที่เดินทางเมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) เป็นเคสที่ 2 เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว หมอจุฬาฯ ประเมินแล้วว่าปลอดภัย ก็จะมาพักฟื้นที่โรงพยาบาลหนองคายต่อจนผู้ป่วยอาการปกติ ก็จะส่งตัวกลับ สปป.ลาว


โดยเคสที่ 2 เด็กชาย อายุ 10 เดือน เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด มีภาวะเขียวแต่กำเนิด เมื่อร้องก็จะตัวเขียว มีความผิดปกติของเส้นเลือด มีภาวะเส้นเลือดผิดปกติ ถ้าร้องเมื่อไรก็จะเขียว ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะเข้ารับการรักษาเรื่องปอดบวม และไม่โตตามวัย อาจจะติดเชื้อทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่จะเสียชีวิต จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตั้งแต่เด็ก แนวทางการรักษาส่วนใหญ่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือด ขึ้นกับพยาธิสภาพหัวใจ ครอบครัวผู้ป่วยไม่มีค่าใช้จ่าย


ส่วนเคสที่ 3 เป็นหญิง อายุ 1 ปี เป็นลักษณะเหมือนกับเคสที่ 2 หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด โรงพยาบาลจุฬาจะประเมินผู้ป่วยอีกทีว่าจะผ่าตัดแบบใดเพื่อให้เด็กปลอดภัยที่สุดและจะได้นัดคิวส่งต่อไปรักษา

------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/X7ekWvPWeT4



คุณอาจสนใจ

Related News