สังคม
‘สุริยะ’ สั่งปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู 7 วัน คาดวัสดุแปลกปลอมขัดตัวล้อ สาเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดร่วง
โดย petchpawee_k
25 ธ.ค. 2566
70 views
“สุริยะ” สั่งปิดการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลังเกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดร่วงประเมินความปลอดภัยให้มั่นใจ 7 วัน ก่อน ขร. เข้าตรวจสอบฯ ย้ำหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ดำเนินการตามบทลงโทษของสัญญาฯ คาดสาเหตุวัสดุแปลกปลอมขัดตัวล้อด้านข้างทำให้ลากรางจ่ายไฟหลุดออกทั้งแนว พร้อมเยียวยาผู้เสียหายทุกราย
กรณีรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) รถไฟฟ้าสายสีชมพู หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนนและเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน ได้รับความเสียหาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อเวลา 04.45 น. (24 ธ.ค.)บริเวณสถานีสามัคคี (PK04) เบื้องต้นพบว่ามีรถยนต์ที่จอดใต้สถานี จำนวน 3 คัน ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ BTS ระดมเจ้าหน้าที่ขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้าเพื่อทำการยึดรางให้ติดกับคานเสาตอมอรถไฟฟ้า ป้องกันการหล่นลงมาด้านล่าง ส่วนรางที่หล่นลงมาทับรถยนต์ประชาชน และได้นำรถเครนจำนวน 2 คัน เพื่อทำการยกรางขึ้นจากหลังคารถ โดยทำการยกส่วนด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้นนำรถที่ได้รับความเสียหายออก โดยเครนจะทำหน้าที่ประคองน้ำหนักรางไว้ก่อน ขณะที่ตำรวจ เชิญตัวเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทั้งส่วนหน้างานรถไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่บริษัท BTS เข้าให้ข้อมูลที่สภ.ปากเกร็ด
ผู้เสียหายรายหนึ่ง เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุตนขับรถมาจอดใต้รางรถไฟฟ้าเพื่อลงของ ระหว่างนั้นมีเศษวัสดุอะลูมิเนียมหล่นตกใส่ฝากระโปรงหน้ารถ ก่อนที่รางจ่ายกระแสไฟฟ้าจะหลุดร่างลงมาใส่รถ กระจกมองข้างฝั่งขวาหัก รถเป็นรอยบุบถลอกข้าง ๆ โดยในรถมีลูกนั่งอยู่ด้วย รู้สึกตกใจอย่างมากโชคดีที่ปลอดภัยไม่ได้รับบาดเจ็บ หลังเจ้าหน้าที่ติดต่อแสดงความรับผิดชอบแล้ว
ต่อมานายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ลงที่เกิดเหตุ เปิดเผยว่า รางระบบจ่ายไฟ ได้ตกลงมาจากจุดบริเวณหน้าตลาดกรมชลประทานปากเกร็ด ตกลงมาที่พื้นประมาณ 100 เมตร ส่วนที่เหลือจากแยกกรมชลประทานถึงแยกแคราย มีรางระบบจ่ายไฟตกลงมาค้างที่ตอม่อ ที่ตกลงมาทำให้รถยนต์เสียหาย 4 คัน รถ จยย.อีก 1 คัน ไม่มีผู้บาดเจ็บ โดยวิศวกรของบริษัท ไอสตรอม เป็นผู้ที่รับติดตั้งระบบรางจ่ายไฟเร่งตรวจสอบทันที ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการประคองรางจ่ายไฟเพื่อป้องกันการดึงรางส่วนอื่น ๆ ตกลงมาเพิ่มอีก
ส่วนรางระบบจ่ายไฟ ที่ตกลงมา ทางเจ้าหน้าที่ทำการถอดตัวเชื่อมรอยต่อรางออกแยกเป็นชิ้นส่วน ชิ้นละประมาณ 10 กว่าเมตร ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 170 กก. หลังจากถอดรางจ่ายไฟได้แล้ว ทางการไฟฟ้าจะเข้าดำเนินการซ่อมเสาไฟฟ้า และจะสามารถจ่ายกระแสไฟได้ /รางจ่ายกระแสไฟเป็นรางที่ประกอบอยู่ด้านข้างของรางรถไฟที่ตกลงมาไม่ใช่ตัวรางรถไฟ ดังนั้นรถไฟฟ้ายังสามารถตั้งอยู่บนรางได้ ส่วนผู้เสียหายที่รถยนต์ได้รับได้เข้าแจ้งความที่ สภ.ปากเกร็ดแล้ว เท่าที่ดูเป็นเพียงร่องรอยเหล็กน้อย แค่หลังคารถบุบ คิดว่าความเสียหายไม่เท่าไหร่ โชคดีที่เวลาเกิดเหตุเป็นช่วงเช้ามืดทำให้ไม่ค่อยมีคนออกมาพลุกพล่าน
ขณะที่วานนี้ (24 ธ.ค.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู บริเวณถนนติวานนท์ หลังเกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนนและเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน ได้รับความเสียหาย โดยส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถนั้น
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ โดยเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และพี่น้องประชาชน ตนจึงได้สั่งการให้ปิดการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. (24 ธ.ค.) เพื่อตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียด
สำหรับในวันนี้ (25 ธ.ค.) จะเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี คือ ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08) -สถานีมีนบุรี (PK30) /ขณะที่ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานีนั้น ขร.จะต้องดำเนินการตรวจสอบ และประเมินเบื้องต้น 7 วัน จากนั้นจะตรวจสอบให้มั่นใจในด้านความปลอดภัย ก่อนที่พิจารณาเปิดให้บริการอีกครั้งต่อไป ทั้งนี้ได้กำชับว่าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก จะมีบทลงโทษครอบคลุมตามสัญญา ด้วยเงื่อนไขในการเดินรถต่อไป
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้น ระบุว่า รถตรวจรางพบวัสดุแปลกปลอม ซึ่งวัสดุแปลกปลอมดังกล่าว อาจจะเกิดจากรถเครนที่เข้าไปเคลียร์พื้นที่ เพื่อคืนผิวจราจร แล้วไปขัดบริเวณตัวล้อด้านข้าง ทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว
ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่มีรถยนต์บริเวณดังกล่าวเสียหาย 3 คัน และสายไฟฟ้าล้ม โดย NBM จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ จะมีรถตรวจทางวิ่งตรวจสอบในช่วงเวลา 04.00 น. ก่อนให้เปิดบริการทุกวัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัยในการให้บริการและการเดินทางอย่างแน่นอน
นายสุริยะ ระบุย้ำว่า ในทุกวันรถไฟฟ้าที่จะบริการประชาชนเริ่ม 06.00 น. แต่ก่อนให้บริการประชาชน รฟม. จะมีรถตรวจความเรียบร้อยระบบรางว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งรถไฟฟ้าที่มาตรวจราง คือ รถตรวจการก็วิ่งตรวจ ปรากฎว่าน่าจะมีเศษดิน ที่เกิดจากบริษัทของผู้รับเหมาที่กำลังจะคืนพื้นที่ในการก่อสร้าง เขายกเครน เพื่อจะไปดึงชิพพลายไม่ให้ดินถล่ม แล้วพอดึงชิพพลายขึ้น เศษดินก็ไปติดรถตรวจการ ทำให้พอมีดินมาติด รางที่จ่ายไฟเกิดแรงกระชากแล้วล้มลงมา พอล้มลงมาก็ไปพาดสายไฟ และทำให้เสาไฟฟ้าล้มลงมา
ซึ่ง รฟม. คำนึงเรื่องความปลอดภัย ถึงมีรถตรวจการก่อนทุกครั้ง และเรื่องนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดกับรถขบวนโดยสาร โดยสาเหตุดังกล่าวมาจากการก่อสร้าง คืนพื้นที่ แล้วดินลงรถไปที่รถตรวจการ ซึ่งตนเองคิดว่าเหตุการร์นี้ไม่น่าเกิดง่าย ๆ ในอนาคต โดยระหว่างการก่อสร้างจะพยายามดูเรื่องนี้ และเชื่อว่าถ้าไม่มีดินไปติดรถตรวจการก็ไม่น่ามีปัญหา ส่วนดินที่ไปติดรถตรวจ สันนิษฐานว่า “จังหวะที่เครนไปดึงชิพพลาย พอดึงชิพพลาย ก็อาจจะกระเด็นทำให้เศษดินเข้าไปได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า หากไม่มีดินไปติดล้อ ปกติรางจะไม่หล่นลงมาอย่างแน่นอน
ตนเองลงพื้นที่มาสร้างความมั่นใจและกำชับ รฟม.ให้ตรวจสอบตลอดเส้นทาง และได้เร่งรัดให้เกิดความเรียบร้อย เรื่องการก่อสร้างบริเสณด้านล่างด้วย /ส่วนรางรถไฟที่ตกลงมา จะมีรถมายกเก็บ แล้วจะนำรางมาติดตั้งใหม่ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 วัน ซึ่งจะไม่มีการปิดการจราจรเพราะดำเนินการช่วงกลางคืนส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหาย ก็ต้องเยียวยาและกำชับผู้รับเหมาว่าการจะคืนพื้นที่ต้องดูแลให้ดี โดยจะเยียวยาผู้เสียหายทั้งหมด
ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางรางได้ลำดับเหตุการณ์รางไฟฟ้า รถไฟฟ้าสายสีชมพู ร่วงหล่น โดยเริ่มต้นจากขบวนรถตรวจสอบความพร้อมเส้นทางก่อนเปิดให้บริการ (หมายเลข PM40) กำลังเคลื่อนที่เพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินรถไฟฟ้าก่อนเวลาเปิดให้บริการ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างสถานีสนามบินน้ำ (PK03) กับสถานีแคราย(PK02) ฝั่งมุ่งหน้าไปศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เกิดรางนำไฟฟ้าที่อยู่ด้านข้างคานทางวิ่ง (Guide Beam) ฝั่งด้านนอกหลุดร่วง ทำให้รถไฟฟ้าเกิดการเบรกฉุกเฉิน
ดังนั้นจึงได้ทำการตัดกระแสไฟรางนำไฟฟ้าระหว่างสถานีแยกปากเกร็ด (PK06) ถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) โดยศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าได้แจ้งให้ทุกสถานีรับทราบแผนการเดินรถสำรอง พร้อมกับเร่งดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการตัดไฟ การจัดการจราจร การตั้งเสาไฟฟ้า และสายไฟบริเวณดังกล่าว รวมทั้งประสานเจ้าหน้าที่เพื่อนำรถยนต์ที่เสียหายออกจากพื้นที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นจะทำการถอดรางจ่ายไฟที่ร่วงลงมาวางบริเวณพื้นถนน เพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไป
โดยเบื้องต้นพบว่า “สาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้น คาดว่าเป็นผลจากการดึง sheet pile ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณใกล้เคียงออกตามขั้นตอนก่อสร้าง เมื่องานแล้วเสร็จ ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดกับตัวรถไปกระแทกส่งผลใหเกิดการขยับตัวราง และมีชิ้นส่วนที่หลุดติดกับล้อตัวขบวนรถไป ทำให้ไปเกี่ยวรางนำไฟฟ้า ขยับออกแล้วร่วงลงมาด้านล่าง ทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว” ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้มีรถยนต์ที่จอดใต้สถานีจำนวน 3 คัน ได้รับความเสียหายแต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด และมีเสาไฟฟ้าล้ม กับโคมไฟใต้ทางรถไฟฟ้าเสียหาย โดย NBM จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด
ขณะที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่า รฟม. อธิบายเพิ่มเติมว่า ดินไปติดที่ตัวราง แล้วพอรถตรวจการมา ล้อรถก็ไปเบียดกับตัวราง พอวิ่ง ๆไปมันเบียดแล้วก็ไปกระชาก ด้วยน้ำหนักของตัวรถ ก็ทำให้น็อตจุดยึดหลุด แล้วก็แรงกระชาก ทำให้ขาดยาวเลย 4 กิโลเมตร ซึ่งสาเหตุเกิดจากการก่อสร้างที่มีการถอนชิพพลาย
แนวทางการป้องกันในอนาคตก็คงต้องระวังของสูงใต้รถไฟฟ้าด้วย พร้อมยืนยันว่าระบบของรถไฟฟ้าไม่มีปัญหา แต่เกิดจากการก่อสร้างใต้รถไฟฟ้า และน็อตที่ยึด ยืนยันว่ามีความแข็งแรง แต่ขบวนรถ หนักประมาณ 100 ตัน พอเบียดกระชากน้ำหนักเลยทำให้น็อตหลุด และการกระชากทำให้รางขาด แต่ยืนยันว่าถ้าไม่มีน้ำหนักเป็น 100 ตันมากระชาก น็อตไม่หลุดแน่นอน
ส่วนท่อนที่เหล็ก ๆ ที่ร่วงลงมา ผู้ว่า รฟม.บอกว่า คือขาที่เป็นปุ่ม ๆ ด้านข้างหล่นลงมา เพราะเป็นรางจ่ายไฟ เพราะวัสดุเป็นเหมือนชนวนกันไฟ ที่จะไม่ให้ประกบกับรางโดยตรง ดังนั้นเมื่อเกิดกระชาก เศษวัสดุ ชนวนกันไฟกล่นลงมา ซึ่งมองเผิน ๆ อาจจะเหมือนคอนกรีต /ทั้งนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ว่ารางช่วงสถานีเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ มีความเสียหายไปถึงหรือไม่ หากไม่มีความเสียหาย ในวันนี้ (25 ธ.ค.) ก็จะเปิดให้บริการปกติ และสถานีที่ได้รับความเสียหาย ก็จะใช้เวลาติดตั้งใหม่ 7 วัน
ทั้งนี้ที่หน้าตลาดกรมชลประทาน ถนนติวานนท์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ได้มีการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ COMMAND POST มีการระดมรถเครนทั้งของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้านครหลวงกว่า 10 คัน เข้าดำเนินการ โดยเริ่มจากการตัดกระแสไฟฟ้า จากนั้นจะใช้รถเครนประคองชิ้นส่วนรางอะลูมิเนียมรถไฟฟ้า ซึ่งพบว่ามีน้ำหนักมาก ต้องใช้รถเครนจำนวน 2 คัน ในการประคองรางไว้ นอกจากนี้ยังต้องใช้เครนรั้งเสาไฟฟ้าเพื่อป้องกันเสาตีกลับ และยังคงปิดการจราจรฝั่งซ้ายหน้าตลาดกรมชลประทานให้รถเบี่ยงไปใช้ถนนฝั่งตรงข้ามแทน
15.00 น. บริเวณหน้าตลาดชลประทาน เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สภ.ปากเกร็ด ตั้งกรวยยางและแบริเออร์ ในช่องทางขาเข้า เลนขวาสุด ซึ่งเป็นจุดที่รางจ่ายกระแสไฟฟ้าหล่นสู่พื้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังไม่สามารถเคลียร์รางจ่ายกระแสไฟออกจากพื้นที่ จึงต้องใช้กรวยยางและแบริเออร์ทำการกันพื้นที่ไว้ชั่วคราว
ส่วนเสาไฟฟ้าแรงสูง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้ทำการยกถอนออกทั้งต้น เนื่องจากโคนเสาหัก ขณะนี้ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าได้ปกติแล้ว สำหรับการจราจรถนนติวานนท์ฝั่งขาเข้า จาก 5 แยกปากเกร็ด ถึงจุดกลับรถกรมชลประทาน ได้ทำการปิดเบี่ยงซ้าย ทำให้รถเคลื่อนตัวได้ช้า มีปริมาณรถสะสมเล็กน้อย โดยฝั่งขาเข้ารถสามารถสัญจรได้เพียง 2 ช่องทาง ส่วนช่องทางขวามสุดยังปิดกั้นไว้จนกว่าจะเคลียร์รางจ่ายกระแสไฟฟ้าได้
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/XeP9sKM_iaU
แท็กที่เกี่ยวข้อง รถไฟฟ้าสายสีชมพู ,สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ ,รฟม. ,ปิดบริการ