สังคม
'เศรษฐา' ปลื้มยูเนสโกยก 'สงกรานต์ไทย' เป็นมรดกโลก จัดฉลองยิ่งใหญ่ 'แอนโทเนีย' ใส่ชุด 'นางมโหธรเทวี'
โดย nattachat_c
7 ธ.ค. 2566
165 views
วานนี้ (6 ธ.ค. 66) ที่ประชุมยูเนสโกครั้งที่ 18 มีมติเอกฉันท์ ประกาศขึ้นทะเบียน 'สงกรานต์ไทย' ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อเวลา 15.20 น. (เวลาประเทศไทย) ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา
โดยวาระของไทย ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เริ่มประชุมเมื่อเวลาประมาณ 15.10 น. เร็วกว่ากำหนดเดิมที่จะเริ่มในเวลา 17.00 น.
โดยเริ่มจากที่การเปิดคลิป คำกล่าวแถลงของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงความสำคัญของเทศกาลสงกรานต์ไทย
ต่อด้วย ภาพประเพณีสงกรานต์ของไทย พร้อมเพลงประกอบคลิปวิดีโอ ให้ที่ประชุมได้เห็นมรดกทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาของไทย
และก่อนจะเริ่มประชุมลงมติ ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้ใส่เสื้อลายดอกสัญลักษณ์สงกรานต์ ประพรมน้ำให้กับผู้ที่เข้าประชุมด้วย
จากนั้น ก็เริ่มประชุมใช้เวลาประมาณ 10 นาที (เสร็จประมาณ 15.20 น.) จึงมีมติเอกฉันท์ ประกาศให้สงกรานต์ไทยขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยไม่มีข้อซักถาม ซึ่งถือว่าสมบูรณ์แบบ
และก่อนจบ ก็มีคลิปนายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะกรรมการยูเนสโก ปิดท้ายด้วย
ขณะเดียวกัน มีผู้แทนของคณะทำงานในครั้งนี้ได้มีการมอบพวงมาลัยดอกไม้สดให้กับ ฯพณฯ นายมุสตาก มูรัด ประธานคณะกรรมการด้วย
และหลังจากได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว วันนี้ (7 ธ.ค. 66) เวลา 18.00 น. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะจัดงานใหญ่ ฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.
โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดงาน พร้อมคณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต และปลัดกระทรวง ซึ่งจะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ ไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม ประกอบด้วย ขบวนมหาสงกรานต์จตุรทิศแผ่นดินไทย ขบวนอันเชิญพระพุทธสิหิงค์ ขบวนตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน นำโดย น.ส.แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอับดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด "นางมโหธรเทวี" นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 ตามด้วยขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์ 4 ภาค ขบวนแตรวงกลองยาว และมีการแสดงดนตรีโดยวงสุนทราภรณ์ ในเวลา 19.00 น.ที่ลานคนเมือง กทม. จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทย ร่วมแสดงความยินดีในวาระสำคัญยิ่งนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจะใช้ประเพณีสงกรานต์ เป็นพลัง Soft power ส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดงานตลอดเดือนเมษายน ปีหน้า
-------------
ทั้งนี้ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม ได้บอกว่า
ประเทศไทยได้นำเสนอข้อมูลองค์ความรู้เ กี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ต่อที่ประชุม ดังนี้
'สงกรานต์' เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า 'สงกรานต์' เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์ จากราศีหนึ่งสู่ราศีหนึ่ง ช่วงเวลาสงกรานต์ของไทยเป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ดังนั้น จึงเป็นประเพณีการฉลองขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ
ประเพณีเทศกาลสงกรานต์ของไทย มีกิจกรรมที่ยึดถือแนวปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน แตกต่างกัน ตามความเชื่อและแนวปฏิบัติของคนไทยแต่ละภูมิภาค โดยมีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย การชำระล้างความสกปรกและ ขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป ได้แก่ การทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนสาธารณสมบัติ ในบางถิ่นมีการ อาบนํ้าสระผมในลักษณะเป็นพิธีกรรม มีการนิมนต์ให้พระสงฆ์สวดมนต์ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเกิดสิริมงคล การไปวัดเพื่อแสดงคารวะต่อพระรัตนตรัย และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว การแสดงคารวะหรือ ขออโหสิกรรม จากผู้อาวุโส หรือผู้มีพระคุณด้วยการมอบดอกไม้ เสื้อผ้าและนํ้าหอม รวมทั้งการแสดงความปรารถนาดีต่อกันด้วย การอวยพรและรดนํ้าดำหัว ตลอดจนการจัดกิจกรรมรื่นเริงสนุกสนาน มีการละเล่นของหนุ่มสาว
“สงกรานต์ ถือเป็นประเพณีที่งดงามมีคุณค่า สะท้อนถึงความเป็นไทย เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษากายใจและ สิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสของการแสดงความกตัญญูและความปรารถนาดีต่อผู้มีพระคุณ การแสดงความเอื้ออาทรต่อ ครอบครัว ญาติมิตรและชุมชน ขณะเดียวกัน เน้นความสำคัญของการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เน้นการรณรงค์ใช้น้ำหอม ไม่ใช้น้ำสกปรก มาสาดใส่กัน อีกทั้ง มีการประกาศวันสำคัญต่างๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสงกรานต์ คือ วันขึ้นปีใหม่ไทย วันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว
โดยบางท้องถิ่นจะทำความสะอาด สถานที่และจับจ่ายในวันที่ 13 วันที่ 14 เป็นวันสุกดิบ มีการทำอาหาร เพื่อเตรียมที่จะทำบุญ ส่วนวันที่ 15 เป็นการไปทำบุญที่วัด หลังจากนั้นก็ไปคารวะผู้ใหญ่ โดยการสาดนํ้าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13-14 เมษายน บางแห่งอาจต่อเนื่อง ไปอีก 2-3 วัน
อย่างไรก็ตามจะมีการจัดทำแผนการดำเนินงานเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียน ตลอดทั้งปี 2567 มุ่งให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคม และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย โดยเบื้องต้น สวธ. จะเป็นผู้นำการขับเคลื่อน เผยแพร่ สาระคุณค่า อัตลักษณ์ และความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ และนำเข้าสู่ THACCA ของรัฐบาล อีกทั้งร่วมกับ ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยามขับเคลื่อนการจัดประเพณีสงกรานต์ในปี 2567 เป็นต้น ” อธิบดี สวธ. กล่าว
---------------
วานนี้ 6 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ในช่วงระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ให้เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ขอบคุณทุกภาคส่วนสำหรับการอุทิศตนและความมุ่งมั่น ทั้งจากฝ่ายประเมินผลและคณะกรรมการฯ ที่ได้คัดเลือกให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” อยู่ในรายการบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมไปถึงสำนักเลขาธิการสำหรับการทำงานอย่างหนักทั้งหมดที่ผ่านมา โดยสงกรานต์เป็นประเพณีในวันปีใหม่ไทย มีการเฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนทั่วประเทศ เป็นประเพณีที่ได้รับการฝึกฝนและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยคนไทยและชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นประเพณีอันงดงามและมีความหมาย สะท้อนถึงคุณค่าของความกตัญญูกตเวทีของไทยต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น และจิตวิญญาณแห่งความสามัคคี
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กิจกรรมในช่วงประเพณีสงกรานต์ทั้งหมดถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของมรดกทางวัฒนธรรม โดยประเพณีสงกรานต์ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ บิณฑบาต สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ ตลอดจนการแสดงละครพื้นบ้านและการแสดงที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานสงกรานต์ ดังนั้น สงกรานต์ในประเทศไทยจึงเป็นตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลยินดีที่จะส่งเสริมความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสงกรานต์ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ โดยหวังว่าการหารือและทำความเข้าใจร่วมกัน จะนำไปสู่การบรรลุสันติภาพและความมั่นคงสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลยินดีต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาร่วมเทศกาลและสัมผัสประสบการณ์ของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย พร้อมด้วยรอยยิ้มและการต้อนรับที่อบอุ่น
อนึ่ง “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564 โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ ทั้งสิ้น 45 รายการ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการสร้างความเคารพและสร้างความตระหนักตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นจนถึงสากล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษา โดยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ สามารถอยู่ในรูปแบบการแสดงออกทางวาจาและภาษา การแสดงศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีทางศาสนา เทศกาลเฉลิมฉลอง และงานฝีมือ
----------