สังคม

'ดร.เค็ง' เปิดใจเล่า ป่วยจิตเวช ม.ดัง ฟ้อง 16 ล้าน ล้มละลาย-เร่ร่อน เผยชีวิตล่าสุด

โดย nattachat_c

4 ธ.ค. 2566

5K views

วันที่ 3 ธันวาคม 2566 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ได้โพสต์เล่าเรื่องราวว่า “เค็ง” เกิดในครอบครัวคนจีนที่มีพี่น้อง 9 คน เธอเป็นคนที่ 8 ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจนในวัยเด็ก พี่ ๆ ต้องทำงานส่งเสียเธอเรียน และเธอเป็นคนเดียวในบ้านที่มีโอกาสเรียนหนังสือจนจบปริญญาเอก ด้วยทุนกระทรวงวิทย์ ฯ และ ม.แม่ฟ้าหลวง


เรื่องมีอยู่ว่าตอนเธอเรียน ป.เอก อยู่ที่อังกฤษอยู่นั่นเธอป่วยด้วยโรคจิตเวช เธอเข้าสู่กระบวนการรักษาใน รพ. แต่โชคดีระบบการดูแลของมหาวิทยาลัยที่นั่นดีมาก จนอาการของเธอกลับมาดีและเรียนจนจบ ป.เอก และกลับมาทำงานใช้ทุนเป็นอาจารย์ และเมื่อทำงานเป็นอาจารย์ได้อีกสักระยะหนึ่ง อาการป่วยของเธอกำเริบและไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้บริหารขอให้เธอลาออก ด้วยสภาวะการเจ็บไข้ ทำให้เธอเขียนข้อความลาออกทางอีเมล์ในขณะที่ยังไม่ครบเงื่อนไขการใช้ทุน และมหาวิทยาลัยก็ฟ้องเธอ เรียกเงินชดเชยทุนที่ส่งเธอไปเรียนนับ 10 ล้านบาท


ดร.เค็ง ไม่รู้เลยว่าการเจ็บป่วยของเธอนั้น จะนำไปสู่ความยุ่งยากถึงขนาดนี้ เธอเดินเร่ร่อนอยู่ที่เชียงราย ขี่จักรยานจากในเมืองไปแม่จัน พูดคนเดียว ไม่อาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเดิม ๆ อยู่เป็นปี เธอป่วยจิตเวชเต็มรูปแบบ กว่าเธอจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาก็ผ่านไปหลายปี แม้ตอนนี้อาการจิตเวชจะดีขึ้นแล้วเธอยังมีอาการซึมเศร้า และรับรู้ว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับการฟ้องร้อง จนต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย และทำให้พี่ชายที่เซ็นค้ำประกันตอนขอทุนได้รับความเดือนร้อนไปด้วย


เค็งต่อสู้คดีโดยลำพังในศาลปกครอง ในขณะที่เธอยังอยู่ในสภาพที่แม้ดีขึ้นแต่ไม่ปกติ เธอสู้ว่าเธอไม่ได้หนีทุน แต่เพราะเธอป่วย ซึ่งมิใช่การกระทำของตนเอง ซึ่งในระเบียบของกระทรวงวิทย์ฯ มีข้อยกเว้นการใช้ทุนหากเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ แต่มหาวิทยาลัยสู้ในประเด็นว่าเธอลาออกและไม่ทำงานใช้ทุน ศาลรับพิจารณากรณีเพียงได้ใช้ทุนหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาว่าป่วยหรือไม่ป่วย เธอแพ้คดีในศาลปกครองชั้นต้น และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์


คนที่เคยเป็นความหวังของครอบครัวกลับกลายอยู่ในสภาพที่ถูกฟ้องร้องด้วยเงินนับ 10 ล้านบาท แม้พยายามขอกลับเข้าไปทำงานเพื่อยุติข้อพิพากก็ไม่ได้รับโอกาส จนเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 เธอได้กลับไปทำงานให้กับมูลนิธิฯ แห่งหนึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นการกลับเข้าสู่การทำงานในรอบสิบปี และเธอมีความสุขมาก แม้หัวหน้างานจะบอกว่างานวิจัยของเธอนั้นทำงานที่บ้านได้ แต่เธออยากออกมาเจอผู้คนและกลับเข้าสู่การทำงานอีกครั้ง


นอกจากนี้นายสมบัติ ยังได้เขียนข้อความคอมเม้นต์เพิ่มเติมว่า .เมื่อผมทราบว่าเค็งได้งาน ผมแจ้งเธอว่าให้มาเลือกเสื้อผ้า รองเท้า สิ่งของจำเป็นที่จะใช้ในการกลับเข้าสู่สังคมคนทำงานอีกคร้ง เธอแวะมาที่มูลนิธิกระจกเงาเลือกสิ่งของที่จำเป็นไปจำนวนหนึ่ง และผมโอนเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เป็นเงินก้นถุงสำหรับการเริ่มงานวันแรกของเธอ


เมื่อคืนผมโทรไปคุยถามถึงสภาพการทำงานวันแรกและได้ยื่นข้อเสนอว่าผมจะเขียนเรื่องของเธอในเฟสและจะระดมทุนให้แต่เธอปฏิเสธ เธอบอกว่าแค่เธออดทนให้พ้นเดือนนี้และได้เงินเดือน ๆ แรกเธอก็จะค่อย ๆ ฟื้นคืนสถานะพึ่งพาตนเองได้แล้ว ผมชื่นชมในความเข็มแข็งนี้ของเธอและผมเชื่อว่าเธอจะผ่านพ้นวิกฤติชีวิตได้อย่างแน่นอน”


ทั้งนี้มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นรายหนึ่ง ระบุว่า “สิ่งหนึ่งที่ดูย้อนแย้ง คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอให้เธอลาออก แล้วหลังจากนั้นมหาวิทยาลัยก็ฟ้องร้องเธอ มันดูแปลก ๆ และปกติการฟ้องร้องผู้หนีการใช้ทุนรัฐบาล ต้องเป็นต้นสังกัดกระทรวงผู้ให้ทุน ไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ทำงานใช้ทุนไม่ใช่เหรอคะ มันน่าจะมีรายละเอียดอะไรมากกว่านี้รึเปล่าคะ”


ทางนายสมบัติ ตอบกลับว่า “มีเรื่องแทรกซ้อนในเรื่องนี้คือ ณ เวลานั้น บริบททางการเมืองค่อนข้างเข็มข้น ประกอบกับเธอป่วย เธอได้เขียน email ถึงผู้บริหารและบุคคลากรในองค์กรจำนวนมาก วิพากษ์วิจารณ์ทั้งการบริหารงานและวิจารณ์การเมืองในเวลานั้น ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่พอใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามในจดหมายเหล่านั้นเคสได้แจ้งผู้บริหารว่าเธอมีอาการจิตเวช แต่สุดท้ายก็จบอย่างที่เล่ามาในบทความข้างต้น ผมหวังว่าจะมีพื้นที่สื่อที่่สามารถเปิดให้เคสได้เล่าเรื่องและพูดคุยกับหน่วยงานให้ทุนเพื่อทำความเข้าใจเรื่องทั้งหมดและหาทางออกในเรื่องนี้”


นายสมบัติ ระบุว่า ระเบียบกระทรวงวิทย์ฯ มีข้อยกเว้นการใช้ทุนหากเจ็บป่วยในขั้นที่ทำงานไม่ได้ แต่ระเบียบของ ม.แม่ฟ้าหลวง ไม่มีเงื่อนไขนี้ กระทรวงวิทย์มอบหมายให้ ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นผู้ฟ้องแทน เพราะตอนทำสัญญาให้ทุนทาง ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นคนได้โควต้าจากกระทรวงวิทย์ฯ การฟ้องร้องเกิดขึ้นในขณะที่ ดร.เค็ง ยังอยู่ในภาวะเจ็บป่วย ดังนั้นกระบวนการดังกล่าวจึงเดินหน้าไปก่อนที่เคสจะเริ่มกระบวนการต่อสู้ในด้านข้อเท็จจริง


ปัจจัยสำคัญมี 2 เรื่องคือ การเจ็บป่วยในจิตเวชที่ยาวนานก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษา ทำให้การคัดค้านการลาออกไม่เกิดขึ้นในช่วงที่ระเบียบเปิดทางให้คัดค้านคำสั่ง เมื่อการคัดค้านไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ระเบียบกำหนดไว้ทำให้สถานะของ ดร.เค็ง มีผลทางกฎหมายและเป็นเหตุให้ ม.แม่ฟ้าหลวง ใช้เป็นเหตุในการฟ้องร้อง


นายสมบัติ  เผยอีกว่า รากปัญหาหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในเคสแบบนี้คือ แรงบีบคั้นจากการศึกษา แม้เธอจะเรียนจนจบแต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับการออกไปใช้ชีวิตลำพังในต่างประเทศและเรียนหนังสืออย่างหนัก และไม่ใช่ทุกคนรับมือกับเรื่องแบบนี้ได้ ผมเคยร่วมแลกเปลี่ยนกับมิตรสหายใน Clubhouse ที่นำประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อเลยทีเดียว ว่าการศึกษาเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการป่วยเป็นโรคจิตเวช ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินว่าเรียนจนเป็นบ้า มันมีที่มาจริง ๆ และเป็นเรื่องที่ควรทำให้เกิดความรู้และมีระบบในการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้


ทีมข่าวได้พูดคุยกับ ดร.เค็ง ยินดีเปิดหน้าเผยว่า เมื่อปี 2555 ตอนที่ตนเรียน ป.เอก อยู่ที่อังกฤษ อาการหนักขึ้นถึงขั้นวิตกกังวล เดินไปไหนจะทำอะไรก็จะรู้สึกว่ามีกล้องตามส่องตลอดเวลา คิดไปเองเป็นอาการหลงผิดซึ่งจะไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย และพอทราบว่าคุณแม่เสียชีวิตก็เกิดอาการคลุ้มคลั่งด่าคนไปทั่ว จากนั้นเขียน email แจ้งมหาลัยที่อังกฤษว่าจะลาออก จนจิตแพทย์มารับตัวไปโรงพยาบาลกักตัวไว้ 28 วัน หลังจากออกจากโรงพยาบาลอาการเริ่มดีขึ้น ทำงานอยู่อังกฤษอีก 1 ปี จนถึงปี 2556 ทำวิทยานิพนธ์และงานวิจัย


หลังจากกลับประเทศไทย ตนทำงานเป็นอาจารย์อยู่ ม.แม่ฟ้าหลวง กระทั่งวันที่ 19 สิงหาคม 2557 รู้สึกดิ่งมากจึงเขียน email ถึงอธิการบดีว่าตัวเองกำลังอยู่ในอาการหลอน กลัวคนอื่นมาทำร้ายและกลัวตนเองจะไปทำร้ายคนอื่น เป็นอาการเดิมเหมือนที่อยู่อังกฤษ เหมือนคนไม่มีสติและขอลาออก ปรากฎว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ณ ขณะนั้นให้ออกทันที  นิติกรเอาจดหมายมายื่นให้พ้นสภาพพนักงาน อนุญาตให้ลาออกตามที่ขอ


โดยทางมหาวิทยาลัยให้ลาออกเพราะปัญหาสุขภาพ และมาฟ้องร้องตนภายหลังว่า ทำงานไม่ครบตามสัญญา ซึ่งตนจะต้องทำงานชดใช้ทุนให้ ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่กลับมา  ต่อมาตนเขียน email ถึงผู้บริหารมหาวิยาลัยฯ ว่าจะไม่ลาออกออก แต่มหาวิทยาลัยไม่รับเข้าทำงานแล้ว จึงเก็บของออกจากมหาวิทยาลัย  ไปอยู่บ้านเช่าตามลำพังที่ จ.เชียงราย ใช้ชีวิตเร่ร่อน  ยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2555 หลังจากออกโรงพยาบาลที่อังกฤษไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาเลย ซึ่งโรคนี้ต้องอยู่ในการดูแลของจิตแพทย์ กลายเป็นคนป่วยเร่ร่อน


ดร.เค็ง ยัง  ยังเปิดเผยอีกว่า “ปี 2558 ม.แม่ฟ้าหลวง ส่งจดหมายมาทวงหนี้ ตนจึงเขียนจดหมายส่งไปที่มหาลัยว่าไม่ได้ทำผิดอะไร ไม่ควรต้องจ่ายหนี้เพราะตนไม่ได้ตั้งใจจะออกจากที่ทำงาน ยังอยากทำงานอยู่ แต่ทางมหาลัยไม่อยากให้ตนทำงาน วันนี้ตนขอเป็นตัวเทนของคนป่วยจิตเวชและคนที่ตกอยู่ในสภาวะเดียวกันออกมาสะท้อนเรื่องดังกล่าวควรมีความเอื้ออาทรเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย ตอนนี้ตนเองอาการดีขึ้นหายเกือบปกติแต่ยังต้องไปพบหมอที่โรงพยาบาลตามนัด เริ่มทำงานเหมือนคนปกติ แต่น่าเสียดายสถาบันที่ตนทำงานไม่ได้เป็นหน่วยงานราชการ จึงชดเชยใช้หนี้ทุนไม่ได้ หนี้ทุนที่ฟ้องมา 16 ล้าน  ศาลชั้นต้นตัดสินลดมูลค่าหนี้ที่ต้องชดใช้เพราะอาการเจ็บป่วย เหลือ 6 ล้านกว่าบาท แต่อัยการฝ่ายผู้ฟ้องคดีไม่ยอมจะต้องชดใช้ 16 ล้าน เหมือนเดิม ฝั่งนั้นก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเช่นกัน เรื่องฟ้องร้องขณะนี้รอศาลปกครองสูงสุดตัดสิน  ไม่ว่าจะให้ตนชดใช้กี่ล้านแสนหนึ่งก็ไม่มีให้”


ขณะที่ สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) โพสต์ข้อความผ่านทาง twitter X ชื่อ Mek Suwit พูดถึงชีวิตล่าสุดของ ดร.เค็ง ระบุว่า “ปัจจุบัน ดร.เค็ง หายดีแล้ว เธอทำงานเป็นผู้ช่วยผม ส่วนคดีฟ้องร้องและเงื่อนไขการใช้ทุนคาดว่าน่าจะจบเร็ว ๆ นี้เพราะเธอเริ่มทำงานได้เหมือนคนปกติ”


ด้าน บก.ลายจุด เข้ามาตอบในความเห็นดังกล่าวว่า “ขอบคุณมากนะครับ นี่เป็นการหยิบยื่นโอกาสสำคัญของการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งให้เค็ง”

-------------







คุณอาจสนใจ

Related News