สังคม

อานุภาพ ‘ดาวบีสีเขียว’ ไซต์ก่อสร้างเงียบผิดปกติ รถบรรทุกไม่ติดสติกเกอร์แล้ว 'ชัชชาติ' ฮึ่ม! สั่งไล่เช็กทั่วกรุง

โดย nattachat_c

10 พ.ย. 2566

50 views

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวกรณีเหตุการณ์รถบรรทุกดินตกลงในบ่อพักท่อร้อยสายของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บริเวณถนนสุขุมวิท ซอย 64/1


นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากบริเวณแยกราชปรารภ และถนนสุขุมวิท ปากซอย 64/1 ที่มีรถตกลงไปในบริเวณที่ก่อสร้าง โดยเหตุวานนี้เป็นพื้นที่ก่อสร้างของ กฟน.ที่นำสายไฟฟ้าลงดิน ซึ่งทั้ง 2 กรณีคล้ายกันคือมีรถบรรทุกวิ่งผ่าน สาเหตุอาจจะเกิดได้ 2 เรื่อง 1.รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 25 ตัน จากการคำนวณด้วยสายตาคาดว่าบรรทุกน้ำหนักประมาณ 45 ตัน ซึ่งต้องมีการพิสูจน์กันต่อไป 2.การก่อสร้างฝาบ่อมีมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งมีการซ่อมแซมเสริมคานเหล็กให้มีความแข็งแรงมากขึ้น


นายชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้นมาตรการความปลอดภัยของ กทม. คือ การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก กับมาตรฐานการก่อสร้าง อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่อยู่ระหว่างการทำฐานราก, การก่อสร้างท่อสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การก่อสร้างท่อระบายน้ำ Pipe Jacking ของสำนักการระบายน้ำ โดยช่วงบ่ายของวันนี้จะมีการนัดแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยถึงมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะตัวปิดฝาบ่อซึ่งเป็นโครงสร้างชั่วคราว และความเรียบของฝาบ่อ


ต่อมาเรื่องน้ำหนักบรรทุก มีความซับซ้อนพอสมควร กทม.ต้องร่วมกับตำรวจ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง พ.ศ.2535 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดูแลทางหลวงท้องถิ่น โดย กทม.ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงท้องถิ่น ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ประกาศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งต้องกำหนดน้ำหนักเหมือนกับ อปท.อื่นๆ เพราะรถไม่ได้วิ่งภายในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะรถบรรรทุกมีการวิ่งไปในจังหวัดอื่นๆ ที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีด่านชั่งน้ำหนัก


นายชัชชาติกล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นคดีอาญา โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน เมื่อจับกุมแล้วต้องส่งให้ทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินคดี การดำเนินการต่อไปต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจ และ ทล.ไม่รอชั่งน้ำหนักบนถนน แต่จะชั่งที่ต้นทางที่ไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้ง 317 แห่ง ที่มีการขุดดินเหนียว ซึ่งได้ยืมเครื่องชั่งจาก ทล.มา 1 ตัวแล้ว โดยในวันนี้จะเข้าสุ่มตรวจ 1 ไซต์ก่อสร้าง


นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนน้ำหนักที่รองรับฝาบ่อได้ต้องทำไว้เกินน้ำหนักที่กฎกำหนดไว้แล้ว รวมถึง กทม.จะเพิ่มเงื่อนไขออกใบอนุญาตการก่อสร้าง ถ้าไซต์ก่อสร้างใดมีการบรรทุกน้ำหนักเกินจะมีการให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว พร้อมกับเสนอรัฐบาลปรับกฎหมายให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยให้เจ้าของรถบรรทุกหรือผู้ว่าจ้างมีความผิดด้วย ซึ่งต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น

---------------

วานนี้ (9 พ.ย.66) เวลา 15.50 น. ที่ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาจากการก่อสร้างบนผิวจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานประกอบด้วย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การประปานครหลวง (กปน.) บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)


ต่อมานายวิศณุ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณูปโภคในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 2 ครั้ง ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น กทม.จะดูแล 3 เรื่องคือ 1.ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกให้เข้มงวดขึ้น แม้จะยังไม่มีเครื่องชั่ง แต่ก็สามารถสังเกตด้วยตาได้ จึงขอความร่วมมือไปยังทุกหน่วยงานให้เข้มงวดกับผู้รับจ้าง ในการขนดินและวัสดุก่อสร้าง หากมีข้อสงสัยต้องปรามและเร่งดำเนินการ


2.โครงสร้างรองรับชั่วคราว แม้จะมีการออกแบบให้รับน้ำหนักที่ปลอดภัย แต่การรับน้ำหนักที่มากเกินไป  (Overload) เกิดขึ้นจริง ซึ่งเราต้องทำโครงสร้างรองรับชั่วคราว ให้มีส่วนเผื่อความปลอดภัย หรือ Margin of Safety (MOS) ที่เพียงพอ อะไรที่พอรับได้เพื่อความแข็งแรงก็ทำ โดยเฉพาะจุดเสี่ยง


3.การปรับสภาพผิวจราจรให้เรียบ ซึ่ง กฟน.ได้เรียกผู้ว่าจ้างให้ปรับปรุงฝาบ่อให้มีความเรียบ และปลอดภัยมากขึ้น โดยปรับเป็นฝาบ่อให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น และเพิ่มความแข็งแรงของคานเหล็กในจุดที่มีความเสี่ยง ที่มีรถบรรทุกวิ่งผ่านจำนวนมาก โดยจะทยอยปรับให้เสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2567


นายวิศณุ กล่าวอีกว่า กทม.จะมีการห้ามรถบรรทุกวิ่งในเส้นทางที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ Pipe Jacking ของสำนักการระบายน้ำ เช่น ถนนศรีอยุธยา โดยจะมีการประสานกับทางตำรวจในการกวดขันห้ามรถบรรทุก รวมถึงสะพานข้ามแยกที่เป็นสะพานเหล็ก ก็จะห้ามให้รถบรรทุกวิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน


นอกจากนี้ กทม.ได้เพิ่มเวลาการก่อสร้างบ่อบนถนนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะตามปกติจะมีการก่อสร้างในเวลา 22.00-5.00 น. เท่านั้น ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างมีเพียง 3-4 ชม. นอกนั้นเป็นเวลาการเตรียมงานและเก็บงาน


ทั้งนี้ กทม.จะมีการออกประกาศ ห้ามรถบรรทุกวิ่งใน เส้นทางการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำไปบ์แจ็กกิ้ง (Pipe Jacking) ของสำนักการระบายน้ำ กทม. เช่น บริเวณถนนศรีอยุธยา โดยจะประสานกับทางตำรวจกวดขันห้ามรถบรรทุก รวมทั้งเส้นทางที่สะพานชำรุด หรือสะพานมีอายุการใช้งานมานาน เช่น สะพานไทย-เบลเยี่ยม / สะพานไทย-ญี่ปุ่น / สะพานทางยกระดับพระราม 9 และสะพานข้ามแยกต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจะมีการออกประกาศเร็วๆนี้
---------------
วานนี้ (9 พ.ย.) ทีมข่าวลงพื้นที่บริเวณไซต์งานก่อสร้างของรถบรรทุกที่ตกถนนสุขุมวิท ได้คุยกับชาวบ้านที่อยู่ละแวกใกล้เคียง บอกว่า วันนี้มีความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด เพราะปกติแล้ว ช่วงเวลา 11.00 น. จะเห็นรถบรรทุกเข้าออกหลายคัน และต้องมีรถมาจอดเพื่อต่อคิวเข้าไซต์งานแล้ว แต่วันนี้ไม่มีรถบรรทุกมาจอดเลย อีกทั้ง ตั้งแต่ช่วงเช้าเห็นรถบรรทุกบางตามาก


นอกจากนี้ชาวบ้านยังบอกอีกว่า ไซต์งานดังกล่าว สร้างมาหลายปีแล้ว และที่ผ่านมาเห็นรถบรรทุกวิ่งเข้าออกทั้งวัน ตั้งแต่ช่วงเช้า 7-8 โมง และช่วงเย็นที่กฎหมายห้าม ก็ยังเห็นวิ่งขนดินขนปูนกันปกติ ในแต่ละวันมีรถวิ่งไม่ต่ำกว่า 50 คัน วิ่งโดยไม่สนเวลากันเลย และเมื่อถามว่า สังเกตสติกเกอร์ที่ติดหน้ารถบรรทุกบ้างหรือไม่ ชาวบ้าน บอกว่าไม่เคยสังเกตเลย จนกระทั่งออกข่าว


ขณะที่ทีมข่าวได้ไปสำรวจรถบรรทุกที่วิ่งเข้าออกไซต์งาน พบว่ารถวิ่งไม่เยอะ และจากที่สังเกตรถบรรทุก ไม่มีสติกเกอร์ตัวบี รูปดาวสีเขียวแล้ว มีเพียงอักษร STP 2023 ซึ่งคาดว่าจะเป็นอักษรย่อของบริษัท


ขณะที่นายธราพงษ์ เพ็ชร์คง ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตพระโขนง ลงพื้นที่ไซต์งานก่อสร้าง ภายในซอยสุขุมวิท 64/2 โดยมีนายเฉลิมพล พรมทอง ผู้จัดการโครงการก่อสร้าง เป็นผู้พาเข้าไปตรวจใช้เวลาเข้าไปตรวจประมาณ 40 นาที ก่อนจะออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ


นายธราพงษ์ บอกว่า หลังจากที่ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมถึงกรณีที่เกิดขึ้น ตนเองก็ได้รับมอบหมายให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องของการขนดิน น้ำหนักของดินที่รถบรรทุกขนออกไป ซึ่งจากการเข้ามาตรวจสอบ พบว่าดินภายในโครงการฯ มีดินเหลือไม่เยอะแล้ว เพราะเป็นช่วงท้ายของการก่อสร้างโครงสร้างแล้ว /เมื่อถามว่าที่ผ่านมาทางเขตมีการตรวจสอบบ้างหรือไม่ นายธราพงษ์ ยืนยันว่า มีการตรวจสอบอยู่แล้ว


ด้านนายเฉลิมพล พรมทอง ผู้จัดการโครงการฯ ได้กล่าวว่า หลังจากนี้จะยังมีการขนดินออกไปอยู่บ้าง แต่ไม่เยอะเท่ากับช่วงแรกแล้ว จากนี้หากมีการขนดินอีก ก็จะต้องมีการตรวจชั่งน้ำหนักให้เข้มงวดรัดกุมและชัดเจนมากขึ้น ส่วนหนังสือคำสั่งที่ทาง กทม.ออกมานั้น ทางเราจะปฏิบัติตาม


นายเฉลิมพล ยังบอกอีกว่า ทางโครงการได้ทำหนังสือแผนงาน แผนดำเนินการก่อสร้างส่งไปเขตมาโดยตลอด ในการตรวจสอบจะดข้ามาตรวจเดือนบพ 1-2 ครั้ง แต่ในส่วนของรถบรรทุกดินเป็นหน้างานของผู้รับเหมาที่จะพิจารณาว่าแต่ละคันจะบรรทุกดินออกไปในปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งทางโครงการไม่ทราบในจุดนั้น แต่หลังจากนี้จะต้องเข้มงวดเข้าไปตรวจสอบปริมาณที่ขนออกไป


เมื่อถามว่าจะนำเครื่องชั่งมาตรวจวัดน้ำหนักภายในไซต์หรือไม่ ก็ตอบว่าอาจจะเป็นการคำนวนทางวิศวะกรรมว่าขนาดรถที่เข้ามานั้นปริมาณเท่าไหร่ควรจะคำนวนดินออกไปเท่าไหร่ ให้เป็นไปตามระเบียบ และมองว่ารถบรรทุกที่เข้ามาและออกไป จะต้องผ่านหลายด่าน ทั้งด่านชั่ง ด่านทางด่วนใดๆ ยืนยันว่าหลังจากนี้จะควบคุมให้มากขึ้น

---------------

จากกรณีที่รถบรรทุกดินตกบ่อการไฟฟ้าบริเวณถนนสุขุมวิท 64/1 จนถนนพังเสียหาย และสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่สัญจรไปมาเป็นวงกว้าง ก่อนที่ต่อมามีการพบว่ารถบรรทุกคันดังกล่าว มีสติกเกอร์รูปดาวสีเขียว อักษร B ติดอยู่ที่กระจกหน้ารถ


จนมีการตั้งข้อสงสัยว่ารถดังกล่าวเกี่ยวข้องกับส่วยสติกเกอร์ตามที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล ออกมาแฉว่ามีหน่วยงานรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ดังกล่าว แลกกับการให้รถบรรทุกเหล่านี้สามารถวิ่งนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด และบรรทุกน้ำหนักเกินได้


ผู้สื่อข่าวสอบถาม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวมีกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่กำกับดูแลรับผิดชอบ แลละมีหน้าที่ตรวจสอบประเด็นดังกล่าวแล้ว ว่าสติกเกอร์ที่ปรากฎที่บริเวณหน้ารถบรรทุกเกี่ยวข้องกับการกล่าวหาว่าตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ใดหรือไม่


โดยตนเองไม่จำเป็นต้องสั่งการ เพราะมีการแบ่งหน้าที่กันแล้ว ทุกคนรู้หน้าที่ แต่การกล่าวหาว่าสติกเกอร์ดังกล่าว เป็นส่วยสติกเกอร์ ที่สังคมเรียกกันนั้น ควรจะมีหลักฐาน หากกล่าวหาโดยเลื่อนลอย แม้จะเป็นการข้อสังเกตของสังคม แต่ก็ทำให้องค์กรตำรวจหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเสื่อมเสียชื่อเสียง และทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม


อย่างไรก็ตามยืนยันว่า หากตรวจสอบพบว่าสติกเกอร์ดังกล่าวเป็นส่วยสติกเกอร์เรียกรับผลประโยชน์ของตำรวจจริง ตนเองในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนทั้งทางอาญาและทางวินัยอย่างเด็ดขาด ไม่เอาไว้


พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่ได้มีการสั่งการประเด็นใดเป็นพิเศษ พร้อมยืนยันที่ผ่านมาเน้นย้ำข้าราชการตำรวจมาโดยตลอดว่า จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น
-------------
วานนี้ (9 พ.ย.) เวลา 09.00 น.พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. สั่งการให้ พ.ต.อ.วิทวัฒน์ ชินคำ รรท.ผบก.น.5 ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี รถบรรทุกเหยียบฝาบ่ออุโมงค์สายไฟจนทรุดตัวลง ส่งผลให้รถแท็กซี่ และรถ จยย.ได้รับความเสียหายและมีผู้บาดเจ็บ ได้มีคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเนื้อหาระบุว่า


กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. เวลาประมาณ 11.45 น. ได้เกิดเหตุรถยนต์บรรทุก ทะเบียน 43-3281 นนทบุรี วิ่งมาตามถนนสุขุมวิทขาเข้าในช่องทางที่ 2 นับจากช้ายมือ เมื่อขับขี่มาถึงบริเวณปากชอยสุขุมวิท 64/1 ได้เกิดเหตุฝาครอบหลุมท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ได้ทรุดตัวลงแยกเป็น 6 แผ่น แล้วทำให้ฝาครอบหลุมท่อระบายน้ำแผ่นที่ 2 กระดกขึ้น เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์คันทะเบียน 4 ขร 2351 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์แท็กซี่คันทะเบียน ทษ 3343 กรุงเทพมหานคร กระเด็นลอยขึ้นและตกลงมาบนพื้นถนน ทำให้รถทั้ง 2 คัน ได้รับความเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่งผลกระทบให้การจราจรติดชัดเป็นอย่างมาก


ซึ่งต่อมาได้ปรากฎข้อมูลว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ มีสติ๊กเกอร์หน้ารถบรรทุก พบว่าเป็นรูปดาวมีตัวอักษร B สีเขียว ทำให้เกิดเป็นประเด็นที่เคลือบแคลงสงสัยต่อประชาชนโดยทั่วไป ตามที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับส่วยสติ๊กเกอร์หรือไม่


พ.ต.อ.วิทวัฒน์ จึงได้ลงนามคำสั่งคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ที่ 348/ 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฉะนั้น เพื่อให้ปรากฎข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่รับผิดชอบมีพฤติการณ์ปล่อยปละละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้หรือไม่ และกรณีดังกล่าวจะมูลอันเป็นการกระทำความผิดทางวินัยตำรวจหรือไม่ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว


โดยมอบหมายให้ เป็นประธานกรรมการ พ.ต.อ.ภพธร จิตติ์หมั่น รอง ผบก.น.5 เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พ.ต.อ.สุนทร ไชยรักษา ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.น.5 เป็นคณะกรรมการ พ.ต.ท.กฤษณะ จันทร์ประเสริฐ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.วัดพระยาไกร เป็นคณะกรรมการและเลขานุการ


ทั้งนี้ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดำเนินการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วเสนอรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง มาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

-------------
เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีรถบรรทุก ตกถนนบริเวณฝาท่ออุโมงค์สายไฟฟ้าและสายสัญญาณน้ำ บริเวณซอยสุขุมวิท 64 /1 คาดว่าเป็นผลมาจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งบริเวณหน้ารถมีสติกเกอร์รูปดาวสีเขียวติดอยู่


โดยนายอภิชาติ ยืนยันว่ารถดังกล่าวเป็นรถที่จ่ายส่วยเพื่อวิ่งนอกเวลาและบรรทุกน้ำหนักเกินแน่นอน ซึ่งจะต้องจ่ายให้กับหลายหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถของตนเอง เพราะไม่เช่นนั้นในกรุงเทพมหานคร มีสี่แยกจำนวนมากซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่หากไม่มีสติกเกอร์จะต้องถูกเรียกจอดเพื่อตรวจสอบทุกจุด จะสังเกตว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะเมื่อก่อนเกิดเหตุลักษณะเดียวกันที่บริเวณราชปรารภ ซึ่งสังเกตว่าน่าจะเป็นรถบรรทุกคันเดียวกัน และเหตุการณ์ล่าสุดตนยังสงสัยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยและอุบัติภัยจึงไม่เข้าไปดำเนินการ แต่ให้เจ้าของรถเป็นผู้ดำเนินการเองโดยอ้างว่ารถมีมูลค่าหลายล้านบาท ทั้งที่ถนนที่รถบรรทุกทำพังมีมูลค่าหลายล้านบาท การที่ผู้ประกอบการทำแบบนี้ถือว่าเห็นแก่ตัวเกินไป ถ้ารถไม่ติดชะงักอยู่ในที่เกิดเหตุแล้วมีรถตามหลังมาตกลงไปในท่อดังกล่าว ที่มีความลึกถึง 7 เมตร ความสูญเสียจะมากขนาดไหน


ทั้งนี้ นายอภิชาติ ระบุว่า สติกเกอร์รูปดาวสีเขียวที่มีสัญลักษณ์ตัวบีติดอยู่ จะเป็นสติกเกอร์สำหรับรถบรรทุกขนวัสดุขนดินในไซด์งานก่อสร้างเข้าออกเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในไซด์งานก่อสร้างจะไม่มีตาชั่งน้ำหนักสำหรับรถบรรทุก ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรน้ำหนักก็เกินกฎหมายกำหนด ในขณะที่พื้นที่ทางหลวงจะมีด่านช่างเพื่อตรวจสอบน้ำหนัก เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้พูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร ถึง ว่านำรถบรรทุกไปช่างน้ำหนักที่ใด ตนจึงบอกว่าสามารถช่างได้ก่อนขึ้นทางด่วนจะมีด่านช่างน้ำหนักหากเกินจะไม่สามารถขึ้นทางด่วนได้ สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือสะพานข้ามแม่น้ำในพื้นที่กทม. ไม่มีด่านช่างน้ำหนักหากเกิดการชำรุดหรือเสียหายขึ้นมา ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากจึงอยากวิงวอนไปถึงประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกับรถบรรทุกขอให้ระมัดระวัง เพราะทักษะของผู้ขับขี่แต่ละคนไม่เท่ากัน


พร้อมกันนี้ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยังระบุว่าสำหรับส่วยสติกเกอร์รูปดาวที่เกิดเหตุนี้จะต้องจ่ายส่วยให้กับหน่วยงานหลายแห่งทั้งสถานีตำรวจเจ้าของพื้นที่ที่รถต้องขับผ่าน กทม. เจ้าของพื้นที่ แต่ตนไม่สามารถฟันธงได้ว่าเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่กทม. ไม่สามารถเข้าไปเคลียร์กับเจ้าของรถบรรทุกได้เป็นเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์หรือไม่ แต่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศรส.ส. พรรคก้าวไกล ก็คาดว่าเป็นเช่นนั้น แต่ตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุจึงไม่สามารถพูดได้ และไม่รู้ว่าเจ้าของรถบรรทุกจ่ายส่วยให้ใครเคลียร์กับใครในราคาเท่าไหร่ ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่แล้วที่มีข้อมูลทุกอย่างครบถ้วน ส่วนสติดเกอร์ “เสี่ยบิ๊ก” ที่ติดอยู่บนรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นใครนั้นตนไม่รู้จักมาก่อน


“ผมขอเรียนตรงตรงว่าการประกอบอาชีพรถบรรทุก ถ้าจะยืนอยู่บนการทำผิดกฏหมาย ผมขอให้เลิกทำไปเถอะครับเพราะท่านรู้มั้ยว่าชีวิตของคนที่ร่วมใช้ถนนกับท่านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องมาเสียหายหรือเสียชีวิตมันไม่สมควร การประกอบอาชีพสุจริตภายใต้กฎหมายก็สามารถอยู่ได้ ทำไมพวกผมอยู่ได้”


ส่วนผู้ที่จะต้องออกมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ กทม. ตำรวจ สิ่งแวดล้อม ตำรวจจราจรกลาง


พร้อมแสดงความเห็นว่าในจุดเกิดเหตุมีหลักฐานที่เป็นภาพนิ่งและวิดิโอต่างๆ ที่บันทึกไว้แล้ว และย้ำว่าเกิดเรื่องใหญ่เช่นนี้ผู้ใหญ่จะต้องลงมาตรวนสอบ ว่าเหตุใดถึงมีการทำลายหลักฐาน ไม่ใช่ผู้เจ้าของรถบรรทุกมาอ้างว่า รถราคา 4-5 ล้านบาท แต่ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำใหัรถติดนาน 17-18 ช.ม. และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะรู้ ว่าเจ้าของรถดังกล่าวเป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่ เพราะหากคนเรากล้าทำผิดกฎหมาย ก็ถือว่าพอสมควร


เมื่อถามว่ารถบรรทุกเป็นบริษัทเดียวกับกรณีที่เคยเกิดเหตุที่แยกมักกะสัน และมาเกิดเหตุซ้ำหรือไม่ นายอภิชาติ กล่าวว่า รถสีเดียวกัน แต่รถคันแรกที่มักกะสัน ทำไมตรวจจับไม่ได้ โดยเปรียบเทียบว่ารถจักรยานยนต์ที่ใส่หมวกกันน็อคปล้นทองยังจับได้เลย แล้วนี่รถคันเบ้อเร่อทำไมถึงจับไม่ได้ และชี้ว่านี่คือสาเหตุที่เรียกว่ากินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้องแต่ก็พูดไม่ได้ เพราะในกรุงเทพฯยังกล้ากระทำผิดแล้ว ในต่างจังหวัดจะรุนแรงขนาดไหน


"ฝากไปยังผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยงาน เรื่องนี้จะต้องแก้ไข และรีบดำเนินการ เพราะว่าในขณะนี้ตนในฐานะคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องส่วย เรื่องนี้หากมีอะไรก็จะรายงานต่อประธานกรรมาธิการคมนาคม" นายอภิชาติกล่าว


นายอภิชาติ ยังย้ำว่าปัญหาของส่วยมีหลากหลายมิติ เช่นเดียวกับปัญหาบ่อน จับได้ก็ย้ายที่ ก็ไม่จบสักที และจี้ไปยังรัฐบาลที่จะต้องดูแล เพราะถนนใช้งบมหาศาลในการก่อสร้างแต่มีอภิสิทธิในการจ่ายเงินไม่กี่แสนบาท แต่สามารถทำงานได้เป็นอาทิตย์ สองอาทิตย์ หรือเป็นเดือน เพราะหากจบงานก็ย้ายไปที่อื่น ก็เคลียร์จุดอื่น ซึ่งคนเคลียร์อาจจะเป็นบัญชีม้า เรื่องนี้ เป็นอะไรที่คนให้กับคนรับเขารู้กัน ซึ่งคนนอกก็ไม่สามารถดูตัวเลขได้


เมื่อถามว่า รถบรรทุกบางส่วนสะท้อนว่าหากไม่บรรทุกเกินน้ำหนักก็อาจจะไม่คุ้มค่าการวิ่งงาน นายอภิชาติ กล่าวว่า สหพันธ์มีงบรถอยู่ 4-5 แสนคัน แต่ทำไมสามารถวิ่งได้โดยถูกกฎหมายตั้ง 20 กว่าปี พร้อมชี้ว่าอยู่ที่จิตสำนึกกับคุณธรรม


พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์ปริมาณน้ำหนักดินที่รถบรรทุกเมื่อวานนี้เกิดอุบัติเหตุ ว่า หนักไม่น้อยกว่า 40 ตัน ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้ 25 ตัน แต่หากเป็นรถพ่วงก็อยู่ที่ 50 ตัน ซึ่งรถพ่วงบางเจ้า ขนน้ำหนักเป็น 100 ตันก็มี ทำให้ผู้ประกอบการบางรายมองว่ากฎหมายใครทำผิดก็ได้อยู่ที่ว่าใครสามารถจ่ายให้เจ้าหน้าที่เท่าไหร่


ทั้งนี้ ในที่เกิดเหตุยังมองว่า เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในที่เกิดเหตุต้องเป็นผู้ดำเนินการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไปบริการยกกรวย และให้บริการกับเจ้าของรถ ซึ่งต้องไปตรวจสอบ เชื่อว่าเรื่องนี้ยาวแน่ ไม่ใช่ EP เดียว น่าจะมีหลาย EP อยู่ที่ว่าจะจริงใจแก้ไขปัญหาหรือไม่ ซึ่งในการร่วมมือกับนายวิโรจน์ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล การแก้ไขปัญหาส่วนรถบรรทุก จนถึงตอนนี้ ยอมรับว่าปัญหาก็ยังมีอยู่แต่ไม่ใช่รูปแบบส่วยสติ๊กเกอร์ อาจจะเป็นการใช้บาร์โค้ด โดยรวบรวมทะเบียน ซึ่งผู้อำนวยการสอบสวนกลางได้กำชับ ว่าหากหน่วยงานไหนถูกจับด้วยหน่วยงานอื่น ก็จะถูกสั่งย้ายทันที

-------------
วานนี้ (9 พ.ย.) พนักงานสอบสวน สน.พระโขนง ได้เชิญตัวนายศักด์มงคล ทาสะโก อายุ 29 ปี คนขับรถบรรทุก มาให้ปากคำ พร้อมเผยกับทีมข่าวเรื่องสติ๊กเกอร์รูปดาวตัว B  อ้างว่าไม่ใช่สติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุก แต่เป็น“สติ๊กเกอร์ป้ายเคลียร์เข้าไซต์งาน ไม่ใช่สติ๊กเกอร์ส่งส่วย ติดเพื่อให้ไซต์งานรู้ว่าป้ายนี้ต้องมาเอาดินที่นี่” โดยตนมาบรรทุกดินที่ไซต์งานแห่งนี้ประจำ ซึ่งสติกเกอร์ดังกล่าวจะติดเฉพาะผ่านไซต์งานนี้เท่านั้น


ทั้งนี้ มีการติดสติ๊กเกอร์รูปดาวตัว B บริเวณกระจกหน้ารถบรรทุกแค่ 4 คันเท่านั้น หากมีการไปบรรทุกดินไซต์งานอื่นก็จะเปลี่ยนสติกเกอร์ใหม่เป็นรูปแบบอื่น แน่ใจ 100% ว่าไม่ใช่ส่วยรถบรรทุก ใครที่คอมเม้นต์ด่ากล่าวหาว่าเป็นส่วยรถบรรทุก ทางเจ้าของรถบรรทุกจะฟ้อง


สำหรับสติ๊กเกอร์รูปดาวตัว B เป็นชื่อของ ‘เสี่ยบิ๊ก’ เจ้าของรถบรรทุก /ตนเองวิ่งรถบรรทุกประจำทุกวันก็ไม่ได้จ่ายเงินค่าผ่านทางแต่อย่างใด ตนเป็นคนมันนอกเพิ่งมาขับรถกรุงเทพฯ เพิ่งมาเจอเหตุการณ์ครั้งแรก ก็ตกใจไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ยืนยันว่าไม่ได้บรรทุกน้ำหนักเกิน อย่างไรก็ตามคงต้องให้มีการชั่งน้ำหนักก่อน จึงจะทราบว่าบรรทุกเกินหรือไม่


นอกจากนี้พนักงานสอบสวนยังได้เชิญตัวนายสวาสดิ์ ทำหินกอง อายุ 48 ปี คนขับรถแท็กซี่ที่ประสบเหตุ เข้าให้ปากคำด้วย เผยว่า ตอนนี้ทางการไฟฟ้านครหลวง ได้ติดต่อมาหาจะรับผิดชอบค่าเสียหายให้ทุกอย่างรวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ตนกังวลว่าจะไม่มีใครรับผิดชอบ พร้อมระบุว่าหลังเกิดเหตุตนขับรถอยู่บนถนนเห็นฝาท่อก็รู้สึกเสียว ๆ

-----------
เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีแผ่นปูนปิดหน้าถนนทรุดจากการที่รถบรรทุกขนดินเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า จากข้อมูลของสมาพันธ์การขนส่งทางบก มีข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นสติกเกอร์ส่วย แต่อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.โอภาส หาญณรงค์ ผู้กำกับ สน.พระโขนง จะต้องตอบคำถามในประเด็นนี้ ตนเข้าใจว่าผู้กำกับการตำรวจนครบาลก็ได้ลงมากำกับด้วยตนเองแล้ว เพราะเป็นประเด็นที่ไม่ใช่แค่บรรทุกน้ำหนักเกินแล้ว นอกจากนี้ วิศวกรที่ดูแลบ่อที่จะนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง คงไม่ได้ออกแบบแผ่นปูนปิดหน้างาน รองรับรถบรรทุกที่มีการสั่นสะเทือนด้วย ดังนั้นจึงกระทบผู้ใช้ยวดยานบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก และหากเราติดตามข่าวจะพบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มมีข่าวทรุดตัวเป็นจำนวนมาก


เมื่อถามว่าส่วยนั้น มีการชี้แจงว่าเป็นสัญลักษณ์ของบริษัทรับเหมา นายวิโรจน์ กล่าวว่า กรณีส่วยนั้น ฟังไม่ขึ้น เมื่อสักครู่ ตนได้ฟังคำสัมภาษณ์และสอบถามของผู้กำกับ สน.พระโขนง ระบุว่า สติกเกอร์ติดเพื่อให้คนขับแยกรถได้ออก ว่าจอดตรงไหน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าปกติคนขับรถสามารถจำรถตัวเองได้อยู่แล้ว หากจะออกแบบก็ควรออกเป็นสติกเกอร์คาดกันแดดได้ดีกว่า แต่ออกเป็นรูปดาว B กลางกระจก รบกวนทัศนวิสัยการขับขี่ด้วยซ้ำ ตนเชื่อว่าเจตนาเอาไว้ให้ใครสักคนที่เตี๊ยมเอาไว้มองเห็นได้ง่าย จึงตั้งคำถามกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 5 และสน.พระขโนงว่าคนที่เตี๊ยมกันเป็นข้าราชการตำรวจหรือไม่ ระดับไหน มีการจาายส่วยหรือไม่


“ถ้าติดเพื่อให้จำรถตัวเองได้ง่าย ผมว่ามันตลกมาก ประชาชนก็รับไม่ได้ รู้อยู่แก่ใจ รู้อยู่เต็มอก ขึ้นอยู่กับว่าจะสอบหรือไม่แค่นั้น” นายวิโรจน์ กล่าว


เมื่อถามว่าการที่ตำรวจออกมาชี้แจงแทน สามารถตั้งข้อสงสัยได้หรือไม่ว่าตำรวจอุ้ม นายวิโรจน์ กล่าวว่า แม้เจ้าของจะอ้างว่า B ย่อมาจากชื่อ เสี่ยบิ๊ก แต่ตนคิดว่าตำรวจก็ต้องตั้งคำถามว่าเสี่ยบิ้ก คือใคร มีการจ่ายผลประโยชน์หรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่ามีการตัดตอนคำตอบเร็วเกินไป จึงมองเป็นอย่างอื่นได้ลำบาก


ขณะเดียวกัน ตนก็เข้าใจว่ามีการบ่ายเบี่ยงของคนขับรถที่ไม่ยอมชั่งน้ำหนักของตัวรถและดินที่ขน จึงตั้งคำถามว่าหากเป็นตำรวจระดับผู้กำกับและผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 หากไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง และรักษาพยานวัตถุสำคัญที่จะพิสูจน์ ว่าบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ ตนเชื่อว่าทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ต้องพิจารณาว่าต้องหาบุคคลเหมาะสมมาทำงานแทนหรือไม่


“ขนาดยังไม่ไปจับใคร แค่ปกป้องพยานวัตถุสำคัญ หลายคนก็ตั้งคำถามว่าปล่อยให้เขาขนดิน แล้วไปเทในไซต์งานได้อย่างไร…เข้าใจ แต่มันคือของกลาง เราควรเก็บพิทักษ์รักษา แต่ไม่ใช่ให้เขาไปขนและทิ้งในไซต์งาน” นายวิโรจน์ กล่าว


นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ยังระบุข้อมูลว่ามีรถขนดินอีก 2 คันพยามขนดินเข้าไปในซอยสุขุมวิท 64/2 พอมีประชาชนร้องไปเสียงเซ็งแซ่ ถึงเข้าไปดู ซึ่งรถขนดินทั้ง 2 คันที่ขนดินก็มีสติกเกอร์ดาว B สีเขียวทั้ง 2 คัน จึงฟังไม่ขึ้นว่าสติกเกอร์มีไว้สำหรับจัดลำดับรถบรรทุก เพราะหากจะดลำดับต้องมีเลข เช่น B01 B02 B03 แต่ว่ามีสติกเกอร์ตัว B ที่พยามส่งสัญลักษณ์ถึงใคร ตนย้ำว่าตำรวจจะทิ้งประเด็นนี้ไม่ได้ อย่างน้อยต้องสอบตำรวจหน้างานปล่อยคนมายุ่งเกี่ยวหลักฐานได้อย่างไง


นายวิโรจน์ ย้ำว่า เรื่องส่วยเป็นเรื่องใหญ่และน่าเศร้ามาก เพราะมีตำรวจเสียชีวิตแล้ว 2 คน หากตำรวจมีเรื่องส่วน ถือว่าไม่รักศักดิ์ศรีตำรวจ


“ปีหนึ่ง ส่วยมีมูลค่า 2 หมื่นล้าน แสดงว่าตำรวจไม่ได้เรียนรู้บทเรียนเลย ถ้ายังมีเรื่องส่วยอยู่ ก็แสดงว่าไม่ได้รักศักดิ์ศรีของตำรวจจริงๆ เลย ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องสอบให้สิ้นข้อสงสัย” นายวิโรจน์ กล่าว


นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดมีข้อมูลว่าเจ้าของรถ ยังไม่ยอมให้ชั่งน้ำหนักดิน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าสามารถคาดคะเนได้ในเบื้องต้นว่าน้ำหนักอาจจะเกิน คำนวณคร่าวๆ ได้ว่ารถที่ขนดินมาอยู่เราราว 30-40 ตัน ยังไม่รวมตัวรถที่มีน้ำหนักประมาณ 9-11 ตัน ตนเชื่อว่ามีโอกาสสูงมากที่น้ำหนักจะเกิน และตัวรถอาจมีการดัดแปลงเพื่อบรรทุกน้ำหนักเกินอีก จากที่กฎหมายกำหนดไว้ 25 ตัน


นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ตำรวจ สน.พระโขนง เปิดเผยว่า ยังไม่ได้มีการจับกุมเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินแต่อย่างใด แต่ประชาชนก็เห็นรถบรรทุกคลุมผ้าใบเข้ามาในพื้นที่ โดยเข้าใจว่ามีการเร่งรัดการก่อสร้างหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องกำชับว่าการปล่อยรถบรรทุกที่เกินน้ำหนักเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครจนมีหลุม ที่มีสายไฟฟ้าลงกิน 700 กว่าแห่ง พร้อมจะทรุดตัวได้ตลอด หากเกิดตกลงไปก็เสียชีวิตแน่นอน และเป็นเรื่องที่เสียใจที่เจ้าของรถแท็กซี่ที่ขับตามมารถชน แผ่นคอนกรีตได้รับความเสียหาย เพลาหน้าขาด แล้วใครจะรับผิดชอบ จึงเรียกร้องให้การไฟฟ้านครหลวงมารับผิดชอบก่อน และไปตามไล่บี้กับบริษัทรถบรรทุก หากพบว่าน้ำหนักเกิน


ส่วนการคาดการณ์ว่าจะมีการจ่ายส่วยในหน่วยงานใดบ้างนั้น นายวิโรจน์ มองว่ามีหลายหน่วยงานเยอะไปหมด เช่น เจ้าหน้าที่ด่านชั่งบางคนบางราย ตำรวจทางหลวงบางคนบางนาย หรือเจ้าหน้าที่ของ กทม. บางคนบางนายด้วย ตำรวจท้องที่ ตำรวจจราจรกลาง ตนไม่ได้เหมารวมทั้งองค์กร แต่จะต้องมีการสอบสวนหรือสังคายนากันยกใหญ่เพราะมีหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอแนะว่าควรตั้งด่านชั่งบนถนนทางหลวงก่อนที่จะเข้ามายังกรุงเทพมหานคร และหวังว่าจะมีการดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา


"เวลากวดขันก็ดำเนินคดีกับคนที่สุจริตแต่ฟังพลาดในการดำเนินตามกฏหมาย แต่รายใหญ่ที่ขนเกิน 20 ตัน 30 ตันปล่อยฉลุย ซึ่งโดยสามารถของตำรวจหากเห็นสภาพรถ สภาพหิน สภาพทรายก็จะรับรู้ อยู่แก่ใจว่ารถต้องสงสัยเป็นคันไหน แต่ไปจับรถที่ผิดผิดเผลอดำเนินคดีก็จะเกิดการลักลั่นและยังเกิดปัญหาการเรียกตบทรัพย์อีก" นายวิโรจน์ กล่าว


นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นภัยต่อสาธารณะมองว่าเรื่องนี้ควรเป็นวาระสำคัญ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปตำรวจด้วย โดยขอส่งสารไปถึงนายกรัฐมนตรี ว่าการจ<

คุณอาจสนใจ

Related News