สังคม
พายุพัดต้นกร่าง 6 คนโอบ ล้มทับศาลาวัดราชบุรี เจ็บ 6 ราย - ผู้เชี่ยวชาญชี้ ปลายปีจะไม่หนาว ปีหน้าร้อนแล้งสุดๆ
โดย nattachat_c
6 พ.ย. 2566
178 views
วานนี้ (5 พ.ย.66) ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. เกิดเหตุพายุพัดต้นไม้ใหญ่ล้มทับศาลา ภายในวัดบางกระ มีผู้บาดเจ็บหลายราย
นายจำนงค์ จันทร์วงศ์ ปลัดอำเภอเมืองราชบุรี จึงประสานมูลนิธิปฐมราชานุสรณ์ ไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยแบ่งเป็นผู้บาดเจ็บที่ต้องนำส่งโรงพยาบาล 4 ราย มีหนึ่งรายอาการสาหัส ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย มี 2 ราย รวมเป็นผู้บาดเจ็บ 6 คน
หลังเกิดเหตุ ภายในวัดค่อนข้างโกลาหล ทั้งพระในวัด และชาวบ้านที่ทราบข่าว ต่างเดินทางมาดูที่เกิดเหตุ
โดยในที่เกิดเหตุ พบต้นกร่างขนาด 5 คนโอบ อายุกว่าร้อยปี ตั้งอยู่ข้างโบสถ์ด้านปีกขวา ต้นกร่างล้มทับศาลาที่ตั้งพระพุทธรูป พังเสียหาย รวมทั้ง มีจักรยานยนต์ถูกต้นไม้ล้มทับเสียหายอีก 4 คัน โดยผู้บาดเจ็บทั้งหมดวิ่งมาหลบฝนอยู่ในศาลานี้ ส่วนที่ปีกซ้ายของโบสถ์ ก็มีต้นไม้หักล้มลงมา แต่โชคดี ไม่โดนโบสถ์
นอกจากนี้ ทางด้านหลังโบสถ์ ก็มีต้นไม้ใหญ่หักโค่นลงมาที่บริเวณหน้าลานพระพุทธองค์ใหญ่ แต่พระพุทธรูปไม่ได้รับความเสียหาย
อีกจุด ที่ข้างศาลาการเปรียญ ต้นไม้ล้มเฉียดศาลาไปนิดเดียว ซึ่งหลังเกิดเหตุ ทางการไฟฟ้าฯ ได้มาตัดไฟ รวมทั้ง มีเจ้าหน้าที่ อบต.หนองกลางนา, ฝ่ายปกครอง, ชาวบ้าน พระลูกวัด และทหารจิตอาสาจาก มทบ.16 จำนวน 11 นาย มาช่วยกันตัดกิ่งไม้ และเก็บกวาดปรักหักพัง เท่าที่จะทำได้
-----------
นายเอกชัย ทองอินทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลหนองกลางนา ไวยยาวัจกร วัดบางกระ กล่าวว่า
ช่วงเช้า ทางวัดมีการจัดกฐิน พอทอดกฐินเสร็จเรียบร้อย เวลาประมาณ 13.00 น. มีฝนตกลงมา ตกมาได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็เกิดพายุพัดกระหน่ำ เจ้าหน้าที่ของวัดต้องพากันเก็บของ แล้ววิ่งเข้าไปหลบฝนที่ศาลา แต่พายุซัดต้นกร่างขนาดใหญ่ ลงมาทับศาลา ทำให้มีผู้บาดเจ็บ บางคนถึงกับสลบไป
จึงเร่งนำตัวผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลราชบุรี แล้วแจ้งไปยัง อบต.หนองกลางนา และแจ้งไปทางอำเภอด้วย เพื่อให้มีคำสั่งควบคุมพื้นที่ ป้องกันผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในจุดเกิดเหตุ เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายซ้ำ และรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาย้ายต้นไม้ที่โค่นลงมา รวมทั้ง เรื่องของการซ่อมแซมวัดด้วย
สำหรับต้นกร่างนี้ คาดว่ามีอายุมากกว่า 90 ปี ส่วนค่าเสียหายในเบื้องต้น เฉพาะศาลาที่ถูกต้นไม้ทับ อยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท
ส่วนจักรยานยนต์ และจุดอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเสาไฟฟ้าที่ล้มลงมา คาดว่า ค่าเสียหายรวมกว่า 1 ล้านบาท
-----------
นายธนกิจ จันทรรักษา อายุ 59 ปี ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย จากการถูกพระพุทธรูปล้มทับ มีแผลถลอกที่เหนือคิ้วซ้าย เล่าว่า
ก่อนเกิดเหตุ มีฝนตกหนัก และมีลมพายุม้วนจากแม่น้ำเข้ามา ตนเองอายุจะ 60 ปีแล้ว เพิ่งจะเคยเห็นลมพายุแบบนี้เป็นครั้งแรก
ตอนเกิดเหตุ ตนนั่งหลบฝนอยู่ในศาลา พอต้นไม้โค่นลงมาทับศาลา ตนก็วิ่งหนีออกมาแบบเฉียดฉิว ได้รับบาดเจ็บที่คิ้วซ้าย และที่เข่าซ้าย เพราะโดนพระพุทธรูปล้มทับ แต่ไม่เป็นอะไรมาก
ซึ่งโชดดีที่งานกฐินเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้าหากมีพายุช่วงมีกฐิน คงจะมีคนเจ็บมากกว่านี้
-----------
นายชลอ มิตรมาก อายุ 52 ปี บาดเจ็บที่หลัง เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า
ตอนนั้น กำลังจะเก็บของใส่รถ ลมมันหวลขึ้นมาเป็นลูก ตอนที่ต้นไม้ล้มทับศาลา ตนนั่งอยู่ในศาลา มารู้อีกทีคือ ต้นไม้ล้มทับศาลาแล้ว ตนเองต้องก้มลงหมอบกับพื้น เพราะหลังคายุบลงมาทับตัว ซึ่งโชคดีที่หมอบทัน ส่วนภรรยาของตนก็บาดเจ็บ นำตัวส่งโรงพยาบาล
ส่วนผู้บาดเจ็บสาหัสนั้น มี 1 คน ที่เหลือก็หัวแตก มีแผลถลอก ปวดตามตัว นายชลอ บอกว่า โชคดีที่งานกฐินเสร็จแล้ว ไม่อย่างนั้น อาจเกิดความชุลมุนเหยียบกัน เพราะมีคนมาร่วมทอดกฐินไม่ต่ำกว่า 1,000 คน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าว รายงานว่า พายุฝนยังทำให้มีต้นไม้ล้มขวางถนน ข้างวัดคลองโพธิ์ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ
ทางฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ อบต.ท่าราบ ต้องปิดถนนชั่วคราวและให้ชาวบ้านไปใช้เส้นทางอื่น ก่อนจะนำเลื่อยยนต์มาตัดกิ่งไม้ เพื่อเปิดทางให้รถสามารถวิ่งไปได้ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
-------------
วานนี้ (5 พ.ย. 66) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานฯ ที่มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า
“ปลายปีจะไม่หนาว แต่ปีหน้าร้อนแล้งสุดสุด"
ปลายฝน ฝนก็ตกโดยเฉพาะภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ สำหรับน้ำท่วมรอการระบายเป็นเรื่องปกติครับ การคาดการณ์ปริมาณฝนในปีไม่ปกติ (เช่น ปีเอญนิญโญ) มีความคลาดเคลื่อนสูง เช่นปีนี้
การพยากรณ์รายฤดูกาล แบบจำลองโดยส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศฝนน้อย แต่ในข้อเท็จจริง ปริมาณฝนเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม มีมากกว่าปกติประมาณ 30% และ 19% ตามลำดับ
โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสาน (อย่างไรก็ตามปริมาณฝนสะสมยังคงน้อยกว่าปกติน่ะครับ ยกเว้นภาคอีสาน) ดังนั้น การพยากรณ์ฝนปีนี้จึงพึ่งได้เฉพาะการคาดการณ์ล่วงหน้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น เกษตรกร และชาวนา จึงต้องติดตามสถานการณ์ทุกเดือนน่ะครับ
แม้ว่า เดือนกันยายน และตุลาคม จะเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน แต่เมื่อวิเคราะห์จากดรรชนีฝน SPEI พบว่า ช่วง 3-6 เดือน ที่ผ่านมา หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก ยังคงมีสถานการณ์ฝนแล้ง ยกเว้นบริเวณชายขอบฝั่งตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือริมแม่น้ำโขง
และเมื่อวิเคราะห์การกระจายของอุณหภูมิช่วงเดือนธันวาคม และเดือนเมษายนตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่า ในเดือนธันวาคมจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี (ความหนาวเย็น) ยกเว้นปี 2566 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกือบ 2 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า ปีนี้เราจะไม่หนาว
ในขณะเดียวกัน อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายนปี 2567 ก็จะสูงกว่าปกติ 1.5 องศาเซลเซียส เราก็จะร้อนสุด ๆ เหมือนกัน จากปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) และสภาพอากาศแปรปรวน (เอ็นนิญโญ) ดังนั้น ปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า เสื้อหนาวอาจจะขายไม่ค่อยดีน่ะครับ พ่อค้า แม่ค้า อย่าสั่งมาตุนเยอะนะครับ
ในขณะที่เริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนาปรัง ฝนก็ตกได้น้ำ ราคาข้าวดีจูงใจให้ชาวนาทำนากันในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำต้นทุน (เฉพาะในลุ่มเจ้าพระยา) ประมาณ 62% (11,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) น้อยกว่าปี 2565 (78%, 14,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร)
โดยปีที่แล้ว มีการจัดสรรน้ำกว่า 5,800 ล้านลูกบาศ์กเมตรทำนาปรังกว่า 7 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา แต่ปีนี้ ดูจากข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ จะมีการจัดสรรน้ำให้ชาวนาเพียง 2,300 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งจะมีพื้นที่ทำนาได้เพียงไม่เกิน 2 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ อะไรจะเกิดขึ้น ?
พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% โดยเฉพาะในภาคอีสาน ถ้าไม่มีน้ำต้นทุนของตัวเอง (บ่อ สระ ฝายขนาดเล็ก ระบบสูบน้ำเข้าแปลงนา) ประกอบกับอากาศร้อน และแล้งจัดปีหน้า อัตราการระเหยจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ปัญหาเรื่องไฟป่าในภาคเหนือ ฝุ่น PM2.5 และ คลื่นความร้อนในเมืองจะตามมา
แม้ว่าการพยากรณ์ฝนรายฤดูกาลอาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ก็มีความจำเป็นต่อชาวนาในการเตรียมปัจจัยการผลิต เพราะต้นทุนการทำนาจะสูง หากไม่มีการวางแผน
ข้อมูลล่าสุด จากแบบจำลองหลายชุด บ่งชี้ปริมาณฝนต้นฝนปี 2567 อาจจะน้อยกว่าปกติ ส่งนัยถึงการเข้าสู่ฤดูฝนที่ล่าช้าออกไป ปริมาณน้ำต้นทุนที่ต้องเตรียมไว้สำหรัยช่วงต้นฤดูฝน ?
พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% จะต้องเตรียมการรับมือด้วยครับ และที่สำคัญเกษตรกร และชาวนาต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดน่ะครับ เพราะสภาพอากาศ คือชีวิตความเป็นอยู่ของทุกท่าน
-------------
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศประจำวัน วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ว่า
บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อน ปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีหมอกในตอนเช้า
ในขณะที่ลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
-------------
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/dfpC4Q-ELj0