สังคม

ดรามา 'ปังชา' ทีมทนายแจง ไม่ใช่คำพื้นฐาน ยอดฟ้อง 102 ล้าน คิดจากมูลค่าแบรนด์

โดย nattachat_c

31 ส.ค. 2566

9.9K views

เป็นกระแสดราม่าเกือบทั้งสัปดาห์ สำหรับกรณี 'ร้านลูกไก่ทอง' ที่ออกมาโพสต์ผ่านหน้าเพจร้าน ว่า ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 'ปังชา' แล้ว พร้อมสงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และสงวนสิทธิ์ ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้าน หรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย


จนต่อมา ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนที่สุดร้านเองต้องออกมาประกาศแจ้ง การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 'ปังชา' มีการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ขออภัย พร้อมขอบคุณทุกคนที่อธิบายให้ความรู้

-----------

ด้าน กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ออกมาชี้แจงแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า 'ปังชา' ของแบรนด์ที่เป็นข่าว เขาแค่จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ดังนั้น เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใคร ๆ ก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะ ที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต


และได้อธิบายว่า โดยข้อเท็จจริงคือ น้ำแข็งไสราดชาไทยมีขายมานานแล้ว จะไม่มีใครจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร แล้วอ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้


ดังนั้น ใคร ๆ จะขายน้ำแข็งไสราดชาไทยก็ยังสามารถขายได้ แต่ห้ามใช้ภาชนะที่มีการออกแบบลวดลายและลักษณะเดียวกับที่เขาจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ภาชนะไว้


และหากใครคิดค้นสูตรขนมขึ้นมาใหม่ เป็นสูตรขนมที่ไม่เคยมีในประเทศไทย ก็สามารถนำมาจดอนุสิทธิบัตรได้ด้วย  


จะเห็นว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคำว่าลิขสิทธิ์ เพราะงานลิขสิทธิ์หมายถึง

งานที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์การใช้ศิลปะ เช่น งานวาดภาพ งานวรรณกรรม หรือดนตรีกรรม เป็นต้น


ขณะที่ เครื่องหมายการค้า คือ

ชื่อ ข้อความ โลโก้ ภาพ กลุ่มของสี หรือเสียง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ที่นำมาใช้เพื่อสร้างความจดจำของผู้บริโภค ในการแยกแยะแบรนด์ต่างๆ 


แต่เครื่องหมายการค้าคุ้มครองได้ตามรูปแบบที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากข้อความหรือภาพบางส่วน ที่สื่อถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพของสินค้าและบริการ  ข้อความหรือภาพนั้นต้องถูกสละสิทธิ แต่ยังปรากฏบนเครื่องหมายการค้านั้นได้


การสละสิทธิ หมายถึง

ไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความหรือภาพนี้ ในลักษณะอื่น แต่ถ้านำมาจัดวางในรูปแบบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ และเป็นสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกัน ยังสามารถห้ามได้อยู่


คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ

การใช้คำว่า “...ปัง...ชา...” หรือ “...ปังชา...” กับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ


ย้ำอีกครั้งว่า 'ปังชา' ใครก็ขายได้แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบ    ผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิตแต่ถ้าคิดค้นสูตรขนมขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏในที่ใดมาก่อน สามารถนำมาขอจดอนุสิทธิบัตรได้

-------------
ทางทีมงาน ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังฝ่ายกฏหมายของร้าน ได้เปิดเผยว่า


เดิมทางร้านได้มีการยื่นขอไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 28 เดือนพฤศจิกายน 2561 ในการใช้ชื่อเครื่องหมาย PANG CHA THE BEST THAI TEA


แต่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ระบุมาว่า ให้สละสิทธิ์ที่จะใช้อักษร (ไม่ให้ใช้) คำว่า PANG CHA THE BEST THAI TEA แต่ให้ไปการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะมาใหม่แล้วค่อยเอามายื่นขอ ซึ่งหมายความว่า ให้ทางร้านไปสร้างแบรนด์ ให้คนในสังคมได้รู้จัก (ถ้าพูดถึงคำว่า ปังชา ต้องนึกถึงร้านนั้นๆ)


ต่อมา ในปี 2565 ทางร้านก็ได้มีการยื่นเอกสารคำร้อง พร้อมทั้งเอกสารการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะ ไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 28 เดือน กันยายน 2565 ในการใช้ชื่อเครื่องหมาย THE BEST THAI TEA PANG CHA


ขณะที่ ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้พิจารณาให้สละสิทธิ์ที่จะใช้อักษร (ไม่ให้ใช้) คำว่า THE BEST THAI TEA แต่อนุญาตให้ใช้ PANG CHA ได้ นั่นหมายถึงทางร้านได้สิทธิ์นั้นมาตามกฏหมาย


ทีมทนายยังได้ชี้แจงต่อ ในประเด็นที่มีการยื่นโนติสไปยังร้านค้าทั้ง 3 ร้าน คือที่ จ.เชียงราย 2 ร้าน ความเสียหาย 102 ล้านบาท และ จ.สงขลา 1 ร้าน ความเสียหาย 7 แสนบาท


ซึ่งตัวเลขความเสียหาย คำนวณมาจากมูลค่าของร้านลูกไก่ทอง (ผู้ส่งโนติส) และ ระยะเวลาที่ร้านค้าทั้ง 3 มีการใช้ชื่อดังกล่าวในการโฆษณา นับตั้งแต่วันที่ได้สิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา (28 ก.ย. 65)


จึงมีการทำหนังสือเตือนไปเพื่อไม่ให้ทางร้านค้าทั้ง 3 มีการละเมิดสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นการเตือน เพื่อให้ทางร้านทั้ง 3 ยุติการใช้ชื่อดังกล่าว ส่วนกรณีที่ในเอกสารมีการเรียกเก็บเงินค่าเสียหายนั้น เป็นการเขียนตามรูปแบบหนังสือเตือนเท่านั้น

ทีมกฎหมายยังได้ระบุต่อว่า

ในเคสของร้านทางช้างเผือก จ.สงขลา ก็ได้มีการทำหนังสือและโทรศัพท์กลับมาแสดงความบริสุทธิ์ในกรณีดังกล่าว พร้อมกับได้นำเอาชื่อออกจากป้ายหน้าร้านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางร้านลูกไก่ทองก็ไม่ได้มีการเรียกเก็บเงินใด ๆ ตามหนังสือเตือนไปก่อนหน้านี้


ส่วนที่ร้านในจังหวัดเชียงราย 2 แห่ง ที่มีการทำหนังสือแจ้งไปนั้น ยังไม่มีการประสานกลับมา เพื่อหาทางแก้ไข หรือมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็น


ซึ่งฝ่ายกฏหมายของร้านลูกไก่ทองบอกว่า ถ้าทางร้านจะดำเนินคดีจริง ๆ ก็สามารถที่จะทำได้ เพราะเลยเวลาที่กำหนดมาแล้ว แต่ทางร้านยังไม่ทำ เพราะไม่ได้มีเจตนาเรียกรับเงิน เพียงอยากให้หยุดการใช้ชื่อดังกล่าวเท่านั้น


อย่าไรก็ตามทางทีมทนายระบุว่า คำว่า 'ปัง' ที่ต้องการสื่อคือ 'ความปัง' เพราะเราต้องการให้ชาไทยดังไกลระดับโลก ไม่ใช่ความหมายของคำว่า 'ขนมปัง'
-------------



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/dl143Da1R30


คุณอาจสนใจ

Related News