สังคม

รู้จัก กอส. 'รุ่นเทพ' คนดังจบเพียบ - 'เสรีพิศุทธ์' ชี้หลักสูตรเอาเปรียบ ปชช.-คนมีความสามารถ

โดย weerawit_c

9 มิ.ย. 2566

1.5K views

จากกรณีที่มีการเปิดเผยถึงการเลื่อนขั้นของ “ผู้กองสาว” รายหนึ่งที่ใช้เวลาเพียง 4 ปี ก็ได้รับการติดยศแบบก้าวกระโดด จาก ‘ส.ต.ต.หญิง’ ใช้กระทั่ง ติดดาวเป็น ‘ร.ต.อ.’ ภายหลังจากเข้าหลักสูตร กอส. ที่เปิดอบอรมทุกปี ปีละ 4 ครั้ง


สำหรับ หลักสูตร กอส. ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู แต่มีบทความวิเคราะห์มาอย่างต่อเนื่องว่า “ควรจะมีต่อไปหรือไม่”


โดยเฉพาะเมื่อต่อมา มีการรับทายาทข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และรับนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ มาเป็นตำรวจ มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เฉลี่ยปีละ 1 รุ่น จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มี คนดัง ลูกไฮโซ นามสกุลดัง มักจะสมัครเรียน และติดยศเป็นข้าราชการตำรวจ


ดังเช่น กอส. รุ่นที่ 45 ก็ได้รับขนานนามว่า “รุ่นเทพ” เพราะมีคนดังคุ้นหูจำนวนมากจบจากรุ่นนี้


ไม่ว่าจะเป็น สงกรานต์ เตชะณรงค์ ทายาทโบนันซ่า “พัตเตอร์” เตชธร จามิกรณ์ น้องชายแท้ๆ ของนางเอก “แพนเค้ก” เขมนิจ จามิกรณ์ เป็นอีกคนที่เคยถูกดรามาครหา ใช้เส้นใหญ่มาเป็นตำรวจ สุดท้ายก็แจงว่า ไม่ได้ใช้เส้นอะไรแต่ผ่านการอบรม กอส. รุ่น 45 อย่างถูกต้อง


ล่าสุด  มีผู้จบหลักสูตร กอส. หลายคนเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับ “ธุรกิจสีเทา” ดังเช่น สารวัตรไบร์ท-ร.ต.อ.คุณากร ขจรบุญถาวร เรียน กอส. รุ่นที่ 40 และตามข้อมูลของนายชูวิทย์ ยังระบุไว้ด้วยว่า มีคนชื่อ รูบี้ เป็นคนสนิทของสารวัตรซัว เพราะเป็นรุ่นน้องโรงเรียนเดียวกัน จบ กอส. รุ่น 42


เมื่อปี 2563 ก็เคยมีข่าว “ไฮโซจิมมี่” ร.ต.อ.อัครวินทร์ เตชะอุบล ทายาทนักธุรกิจพันล้าน ซิ่งรถหรูป้ายแดง ออกจากผับตอนเช้าตรู่ แล้วก่อเหตุชนชนคนขายลูกชิ้นตายคาถนน แล้วหนีไปตั้งหลักทั้งวัน กว่าจะเข้ามอบตัวในตอนเย็น ก็ไม่วายเป็นตำรวจที่ผ่านหลักสูตร กอส. รุ่น 41


ขณะที่ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะอดีตผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การขึ้นตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่ผ่านการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจสัญญาบัตร (หลักสูตร กอส.) ว่า การบรรจุตำรวจชั้นสัญญาบัตร ปกติจะรับคนที่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาดำรงตำแหน่งยศร้อยตำรวจตรี หรือไม่ก็รับผู้จบปริญญาตรีในสาขานิติศาสตร์บัณฑิตหรือรัฐศาสตร์บัณฑิต


รวมถึงหากต้องการความรู้ความสามารถด้านอื่น ก็รับคนที่จบปริญญาตรีสาขาอื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์ โดยสมัยตนเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นั้น ได้ยกระดับนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้น คนจบปริญญาตรี ตนให้เข้ารับตำแหน่งระดับนายสิบเท่านั้น ไม่ได้ให้ตำแหน่งร้อยตำรวจตรี เพื่อให้ตำรวจชั้นประทวนมีความรู้ความสามารถมากกว่าปัจจุบัน เมื่อเขามาเป็นตำรวจก็ให้เวลาในการสอบเลื่อนขั้นเป็นตำรวจสัญญาบัตร ซึ่งมีการแข่งขันกันภายใน


พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่ง ตนรับผู้ที่จบเนติบัณฑิตมาเป็นพนักงานสอบสวนจำนวนมาก



"ยุคที่ผมเป็น ผบ.ตร. บุคลากรตำรวจ จะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นชั้นประทวนและสัญญาบัตร" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว


พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อว่า การรับบรรจุเข้าเป็นสิบตำรวจตรีก่อน เพื่อส่งไปฝึกอบรมหลักสูตร กอส. ในลักษณะนี้นั้น ตนไม่รับ เพราะถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบพี่น้องประชาชนทั่วไป ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน แต่ในยุคปัจจุบันกลับมีลักษณะนี้ ซึ่งการที่รับเข้าทำงานแบบนี้คล้ายกับกรณีของสิบตำรวจโทหญิงกรศศิร์ บัวแย้ม ที่มีข่าวกับ ส.ว. ก็เป็นการรับมาทำงานภายใน พอถึงเวลาก็บรรจุเป็นสัญญาบัตรกัน


"กรณีนี้ก็เหมือนกัน เพราะอัตราว่างแทนที่จะเปิดรับสมัครทั่วไป เพื่อให้พี่น้องประชาชน บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มาเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ก็ไม่ทำ กั๊กเอาไว้แล้วเปิดเงียบๆเป็นการภายใน โดยอ้างว่าขาดแคลน หมายความว่า ผบ.อยากจะเอาใครมาเข้ารับราชการบ้างล่ะ ก็บรรจุลูกหลานเหลน พรรคพวกญาติพี่น้อง หรือทหารขอมา ทางการเมืองขอมา ก็บรรจุเข้าไป" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว


พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อคนของ ผบ.ได้รับราชการ ก็จะมีคนของรอง ผบ. ก็มีการอนุมัติให้อบรมและบรรจุเป็นนายตำรวจ


"บรรจุเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรยศร้อยตำรวจตรี แล้วร้อยตรี ร้อยโท ร้อยตำรวจเอก ก็ยังเป็นแค่รองสารวัตร ไม่ใช่การกระโดดข้ามตำแหน่งเหมือนตั๋วช้าง" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว


เมื่อถามว่าหากได้เข้ามาดูแลตำรวจ จะสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนได้อย่างไร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า หากคนคุมตำรวจยังไม่รู้เรื่องตำรวจ ก็ไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาพื้นฐานโครงสร้างปฏิรูปอะไรต่างๆได้ เพราะฉะนั้น ยุคนี้หากเราได้รัฐบาลที่ดีจำเป็นจะต้องปฏิรูปทั้งหมด ใน MOU ที่ตนเสนอ ตอนแรกเขียนปฏิรูปทหาร ตนก็บอกว่าไม่ได้ ต้องปฏิรูประบบข้าราชการทั้งหมด ไม่เช่นนั้น MOU ก็จะมีแต่ปฏิรูปทหาร


"ตำรวจเป็นแบบนี้ ถ้ามาแก้ปัญหาปลายเหตุก็ไม่จบสิ้น ต้องปฏิรูป ยังรับคนจบวุฒิ ม.6 มาเป็นนายสิบอีกหรือ จะรับคนจบปริญญาตรีมาเป็นพนักงานสอบสวนอีกหรือ บ้านเมืองเป็นแบบนี้แล้ว จะตามอัยการไม่ทัน จะตามศาลไม่ทัน" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าว


ทั้งนี้การเลื่อนยศของข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ร้อยตำรวจตรี - ร้อยตำรวจเอก ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 ปี ต่อ 1 ชั้นยศ และมีหลักเกณฑ์ชัดเจน เว้นแต่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก หรือสาขาเฉพาะทาง เช่น จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แพทยศาสตร์ หรือกฎหมาย จะได้เลื่อนชั้นยศเร็วกว่า แต่เฉพาะในระดับชั้นยศ "ร้อยตำรวจตรี - ร้อยตำรวจเอก" เท่านั้น


1.กรณีของนักเรียนนายร้อยตำรวจ หรือ นรต. เมื่อเรียนจบ 4 ปี จะติดยศ "ร้อยตำรวจตรี" ทันที จากนั้น 6 เดือนจะปรับขึ้นเป็น "ร้อยตำรวจโท" และต้องอยู่ในตำแหน่งนี้ 2 ปี 8 เดือน ก่อนจะปรับขยับเป็น "ร้อยตำรวจเอก" หรือที่เรียกกันว่า "ผู้กอง" ตำแหน่ง "รองสารวัตร" จากนั้นต้องรออีก 7 ปี ถึงจะขยับขึ้น "พันตำรวจตรี" หรือตำแหน่ง "สารวัตร" ได้


2. กรณี "นายร้อย 53" หรือตำรวจชั้นประทวนที่ได้เลื่อนชั้นจาก "นายดาบตำรวจ" เป็น "ร้อยตำรวจตรี" โดยอัตโนมัติ เมื่ออายุ 53 ปี จากนั้นอีก 3 ปี จะเลื่อนเป็น "ร้อยตำรวจโท" และจะเกษียณในยศ "ร้อยตำรวจเอก" เมื่ออายุ 60 ปี


3. กรณีบุคลลภายนอกสอบเข้ามาตามหลักสูตร กอส. หรือ "หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุ หรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร" เมื่อสอบติดจะได้รับยศ "สิบตำรวจตรี" เข้ารับการอบรม 3 เดือน จากนั้นจะติดยศ "ร้อยตำรวจตรี" อีก 8 เดือนจะขยับเป็น "ร้อยตำรวจโท" และอีก 2 ปี 8 เดือน จะขึ้นเป็น "ร้อยตำรวจเอก" และต้องรออีก 7 ปี ถึงจะขยับขึ้น "พันตำรวจตรี" หรือตำแหน่ง "สารวัตร" ได้เช่นกัน


แต่ในกรณีเป็นบุคคลภายนอกสอบเข้ามา แต่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็จะเลื่อนยศไวขึ้นอีก เช่น ถ้าจบปริญญาตรี จะอยู่ในชั้นยศ "ร้อยตำรวจตรี" 1 ปี และ "ร้อยตำรวจโท" 2 ปี


จบปริญญาโท จะอยู่ในชั้นยศ "ร้อยตำรวจตรี" 1 ปี "ร้อยตำรวจโท" 1 ปี และ "ร้อยตำรวจเอก" 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับหลักสูตรการศึกษา


จบปริญญาเอก จะอยู่ในชั้นยศ "ร้อยตำรวจตรี" 1 ปี "ร้อยตำรวจโท" 1 ปี และ ร้อยตำรวจเอก 1 ปี


จบหลักสูตรแพทยศาสตร์ จะอยู่ในชั้นยศ "ร้อยตำรวจตรี" 1 ปี "ร้อยตำรวจโท" 1 ปี และ ร้อยตำรวจเอก 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับหลักสูตรการศึกษา


ซึ่งหลักเกณฑ์นี้เป็นไปตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งยศ พ.ศ.2554 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 โดย นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ ปฏิบัติการราชการแทนนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/X2WKMXp-y6Q

คุณอาจสนใจ

Related News