สังคม

เสียงสะท้อนแพทย์ ชี้ปัญหาเรื้อรังเชิงระบบ ทำแพทย์-พยาบาล แห่ลาออก งานหนักแต่ค่าตอบแทนสวนทาง

โดย petchpawee_k

6 มิ.ย. 2566

14 views

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะประธานคณะกรรมการ โรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่า เหตุแพทย์ลาออกจากระบบราชการนั้นเป็นเรื่องจริง และไม่ได้เป็นแค่วิชาชีพแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพยาบาล และเภสัชกรด้วย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานาน และปัญหาเริ่มสะท้อนชัดเจนมากขึ้น โดยมาจาก 3 ปัจจัยหลักที่แพทย์ลาออก ได้แก่


1.จากภาระงานที่มากขึ้น

2.ทัศนคติของบุคลากรรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ทั้งค่าตอบแทน ค่าครองชีพ ที่ไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน โอกาสการศึกษาต่อเพื่อพัฒนา / การฟ้องร้องของคนไข้ที่รักษา และ

3.หลังสถานการณ์โควิด ภาคเอกชนและต่างประเทศ ต้องการบุคลากรทางการแพทย์มีมากขึ้น จึงออกนอกระบบ


รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องหมอลาออก เคยหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เมื่อต้นปี 2566 ซึ่งก็ต้องหารือกันบ่อยขึ้น ซึ่งต้องยอมรับ คือ ในการบริหารจัดการงบประมาณ ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ทำให้ภาระการทำงานของแพทย์เพิ่มมากขึ้น /ขณะที่เงินบำรุงลดลง ส่งผลให้ รพ. หลายแห่งบริหารงบประมาณด้วยสภาพตัวแดง ขาดทุน ไม่เพียงพอเพื่อพัฒนาระบบ หลายรพ.ยังเป็นระบบ manual


ด้านเพจ แพทย์ชนบท ได้โพสต์ หัวข้อ "แพทย์ลาออก ปัญหาเรื้อรังเชิงระบบที่ สธ.ละเลยมานาน" พร้อมระบุว่า แพทย์จบใหม่ทำงานหนักมากคือเรื่องจริง วันไหนอยู่เวรคือแทบไม่ได้นอน งานในเวลาราชการก็หนัก เพราะแพทย์จบใหม่คือแพทย์ด่านหน้าที่ต้องรับงานทั้ง ตรวจผู้ป่วยนอก ราวน์ผู้ป่วยใน ตกเย็นจนดึกต้องประจำห้องฉุกเฉิน


แพทย์ในอดีตเป็นเจนเนอเรชั่นที่ยอมรับการทำงานหนัก อดทนเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว เก็บหอมรอมริบมีบ้านหลังใหญ่และดูแลครอบครัวญาติพี่น้อง ไหวไม่ไหวก็ต้องไหว


แต่แพทย์ในปัจจุบันเป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ ต้องการชีวิต work-life balance ทำงานเต็มที่ แต่มีเวลาพักหรือมีเวลาให้ชีวิตส่วนตัว มีอิสระ มีความเป็นธรรม แต่ระบบการทำงานแบ่งงานของแพทย์ ยังเป็นแบบดั้งเดิม น้องๆจึงเหลือทางเลือกไม่มาก บ้างก็อึดถึกทนต่อไป บ้างก็ขอย้ายไปโรงพยาบาลที่มีการบริหารจัดการที่ดีกว่า บ้างก็ไปเรียนต่อเฉพาะทาง เพื่อหนีวงจรนี้ หรือ ไม่ก็ลาออก


ปัญหานี้แก้ได้ ต้องใช้พลัง ใช้เวลา ใช้ความมุ่งมั่น ทั้งระดับนโยบายและระดับการบริหารจัดการของผู้อำนวยการโรงพยาบาล แต่เรื่องนี้ถูกละเลยมานาน วูบไหวเป็นไฟไหม้ฟาง

--------------------

หมอธีระวัฒน์ ฉะ ระบบงานโรงพยาบาล ปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นในมุมมองของตน ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว


โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ โพสต์ข้อความของ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา และกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2564-2566) ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ขอยกตัวอย่าง ลูกศิษย์ที่จบไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข ว่า เขาจบไปไม่กี่ปี ไฟแรง ขยันทำงาน ไม่เคยคิดหาประโยชน์จากคนไข้ โรงพยาบาลนี้เป็นทั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดระดับโรงพยาบาลศูนย์ที่ต้องรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชน 8 แห่งในจังหวัด นอกจากนั้นยังรับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงอีก 3 จังหวัด ในฐานะที่เป็น โรงพยาบาลศูนย์ เฉพาะประชากรที่ต้องดูแลในจังหวัดตนเองก็ประมาณ เกือบแสนคนเข้าไปแล้ว


โรงพยาบาลแห่งนี้มีอายุรแพทย์ คือ แพทย์ที่เชี่ยวชาญรักษาทางยา ไม่ได้ผ่าตัด ที่ดูแลโรคนับสิบระบบตั้งแต่ ไข้หวัด ปวดหัวตัวร้อน ไอ จาม ปอดบวมโรคผิวหนัง เบาหวาน ความดันสูง โรคไต จนถึงอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และรับผิดชอบการตรวจพิเศษที่ต้องใช้เครื่องมือ เช่น การส่องกล้องดูกระเพาะ หลอดอาหาร ส่องกล้องดูหลอดลมในปอด ตรวจทางหัวใจและอื่นๆ



น้องเล่าว่า ที่นี่มีอายุรแพทย์ประมาณสิบคน นอกจากที่ต้องดูแลผู้ป่วยนอก OPD (Out-patient Department) ยังต้องตรวจรักษาคนไข้หนักกว่าที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ที่เราเรียกว่า คนไข้ใน IPD (In-patient Department) สำหรับโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลศูนย์ จะมีโรค อาการ ที่รุนแรง หรือซับซ้อนกว่าโรงพยาบาลระดับอื่นมาก สิ่งนี้หมายความถึง “เวลา” ที่มีให้กับคนไข้กลุ่มนี้ จะมากขึ้นไปด้วย นี่ยังไม่รวมถึงคนไข้อาการหนักซึ่งมีภาวะช็อก ไม่รู้สึกตัว ติดเชื้อรุนแรง ใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น ที่อยู่ในไอซียู ซึ่งหมอกลุ่มนี้ต้องดูแล (ICU-Intensive Care Unit)


โดยสรุปคือ ต้องดูพร้อมๆ กันทั้งคนไข้นอกและคนไข้ใน รวมทั้งที่อยู่ในไอซียู


ถ้าโชคร้ายขณะนั่งตรวจคนไข้นอก เกิดมีเหตุด่วนถูกตามก็ต้องวิ่งเข้าไปดูคนไข้ในที่อาการแย่ลง คนไข้นอกก็ยิ่งรอนานมากขึ้น เวลาที่ใช้ในการตรวจที่สั้นอยู่แล้วก็ยิ่งสั้นลงไปอีก จะบอกคนไข้ที่รอตรวจที่ OPD ว่าต้องไปปั้มหัวใจช่วยชีวิตคนไข้ในก็ไม่มีเวลา หรือไม่มีใครเห็นใจ ต้องถูกต่อว่า


ในช่วงบ่ายจะมีแพทย์ออกตรวจผู้ป่วยนอกอีกกลุ่มที่มาตรวจเฉพาะเจาะจงโรค หรือที่เรียกว่าคลินิกเฉพาะโรค (Specialty clinic) ซึ่งความจริงก็คือ แพทย์กลุ่มเดิมที่ถนัดเชี่ยวชาญต่างกัน เช่น ชำนาญทางหัวใจหลอดเลือด ระบบประสาท หรือไต อะไรเหล่านี้ ที่ผลัดเปลี่ยนกันออกตรวจผู้ป่วยทั่วไปช่วงเช้าแล้ว แต่มีทักษะความสามารถเฉพาะเรื่องเพิ่มเติมก็จะออกตรวจเฉพาะอีกตอนบ่าย และในแต่ละวันจะมีการรับผู้ป่วยใหม่ที่อาการเริ่มหนัก เริ่มซับซ้อนเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็จะเป็นแพทย์กลุ่มเดิมอีกที่มารับคนไข้ใหม่


ดังนั้น แพทย์ทางอายุรกรรมกลุ่มนี้ต้องทำงานทุกวันไม่เว้นวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ แม้ไม่ได้อยู่เวร อย่าลืมว่าโรงพยาบาลเปิด 24 ชั่วโมง ต้องมีแพทย์เวรสำหรับตอนกลางคืน ก็จะเป็นแพทย์กลุ่มเดิมที่ต้องผลัดเปลี่ยนอยู่เวรกันอีก


ที่พูดมาคือ มีแพทย์อายุรกรรม 10 คนนะ ยังไม่พูดถึงช่วงที่แพทย์แต่ละท่านมีภารกิจอื่น ๆ ที่จำเป็นทางราชการ เช่น การทำผลงานทางวิชาการ การไปอบรมเพิ่มเติม การพัฒนาคุณภาพ เป็นต้น


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/AIvVIR-GPs4

คุณอาจสนใจ