สังคม

ดาวเคราะห์น้อย 'วิโรจน์' พุ่งชนส่วยสติกเกอร์ แฉอีกสารพัดส่วย - เด้งฟ้าผ่า! ผู้การทางหลวง

โดย nattachat_c

31 พ.ค. 2566

891 views

เช้า วานนี้ (30 พ.ค. 66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางมาร่วมรายการออนไลน์ 'กรรมกรข่าว คุยนอกจอ' กับสรยุทธ สุทัศนะจินดา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของส่วยสติิกเกอร์ทางหลวง ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน


ช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ นายวิโรจน์ กล่าวถึงการชี้แจงประเด็นส่วยทางหลวงของ พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ที่ระบุเมื่อวานนี้ว่า “ปัญหาเรื่องส่วย เป็นปัญหาที่มีมานาน แต่เรื่องส่วยคือปลายเหตุ ปัญหาที่เป็นต้นเหตุก็คือเรื่องรถบรรทุกหนักเกินกำหนด มองว่าการแก้ไขจำเป็นต้องแก้ในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องการแก้กฎหมาย รวมถึงอาจต้องย้อนถามไปยังสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยด้วยว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเห็นแก่ตัวจนต้องบรรทุกหนักเกินกำหนด ก็ต้องไปแก้ไขในมิติอื่น ๆ ด้วย” ซึ่งนายวิโรจน์ระบุว่า ตนขอถามย้อนไปถึงผู้บังคับการฯ ว่า เป็นถึงผู้บังคับการตำรวจทางหลวง แล้วไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร ท่านต้องทบทวนตัวเองแล้วว่า ควรเป็นผู้บังคับการฯ ต่อไปหรือเปล่า


อีกทั้งปัญหาส่วยทางหลวงเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นมาเป็น 10 กว่าปีแล้ว การที่ผู้บังคับการฯ บอกว่าต้องไปดูที่ต้นเหตุหรือสาเหตุก่อนและหากประชาชนพบเบาะแส ขอให้แจ้งเข้ามา จะจัดการโดยไม่ละเว้น นายวิโรจน์มองว่า ถ้าขยะมันอยู่ในบ้านของท่าน ท่านต้องรอให้คนนอกบ้านมาชี้ตำแหน่งขยะเหรอ ท่านมองเห็นขยะในบ้านทุกวัน ท่านก็ต้องเก็บกวาดเอง หลักฐานต่าง ๆ ที่ตนนำมาแฉ ล้วนมาจากข้าราชการตำรวจทางหลวงและกรมทางหลวงที่ทนไม่ได้กับระบบส่วยส่งมาให้ จะเหมารวมว่าทั้งองค์กรเห็นดีเห็นงามกับเรื่องส่วยไม่ได้


ซึ่งผู้บังคับการฯ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เรื่องส่วยเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่บอกปัดว่า ต้นเหตุเกิดจากอะไรและส่วยเป็นปลายเหตุ ตนจึงขอเรียนท่านผู้บังคับการฯ ตามตรงว่า ต้นเหตุจะเป็นอะไรก็ช่าง แต่ปลายเหตุจะเอามาอ้างเพื่อเก็บส่วยไม่ได้ ต่อให้เป็นเรื่องบรรทุกเกินพิกัดเป็นต้นเหตุ ปลายเหตุตำรวจก็ควรจะต้องบังคับจับปรับตามกฎหมาย ไม่ใช่เอามาเป็นเหตุผลในการเก็บส่วย สังคมไทยจะยอมให้ส่วยเป็นต้นเหตุจึงหรือ


นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า ต้นเหตุของเรื่องส่วยจริง ๆ ต้องย้อนไปประมาณ 20-30 กว่าปีก่อน เกิดจากตำรวจทางหลวงหรือข้าราชการกรมทางหลวงบางคน นำกฎหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เรื่องควันดำ ตรวจผ้าคลุม ตรวจเสียงเครื่องยนต์ ฯลฯ รวมไปถึงบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เป็นข้ออ้างที่นำมาใช้ตรวจรถบรรทุก จนทำให้รถบรรทุกต้องเสียเวลาทำรอบส่งสินค้าจากการถูกตรวจและส่งผลกระทบถึงบรรดาผู้ประกอบการที่อาจจะมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลในแต่ละพื้นที่ ก็จะประสานให้ผู้มีอิทธิพลช่วยลงมาเคลียร์พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามเขตพื้นที่ต่าง ๆ โดยนำเงินก้อนมาจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่แต่ละท้องที่ พอเคลียร์เสร็จก็จะออกสติ๊กเกอร์รับรองว่าได้พูดคุยตกลงกับเจ้าหน้าที่แล้ว


ซึ่งสติ๊กเกอร์เหล่านี้จะจำหน่ายในราคาต่าง ๆ ต่อเดือน เช่น 3,000-10,000 บาท แล้วแต่พื้นที่ที่มีการตกลงกัน รถคันไหนที่มีผู้มีอิทธิพลเคลียร์ให้แล้วก็ติดสติ๊กเกอร์เพื่อสามารถผ่านการตรวจไปได้หรือมีบริการพิเศษในการโทรแจ้งว่ามีด่านลอย ก็จะสามารถหาทางลัดเพื่อหลบหลีกด่านลอยได้ คันไหนที่ไม่มีใครเคลียร์ให้และไม่มีสติ๊กเกอร์ ก็ต้องเสียเวลาถูกเจ้าหน้าที่ตรวจตามด่านต่าง ๆ ไป สาเหตุเหล่านี้ผู้บังคับการฯ ต้องรับรู้ ถ้าไม่รับรู้ก็ควรต้องพิจารณาตัวเอง แล้วเอาคนที่รู้เรื่องนี้มาทำงานแทน


นายวิโรจน์จึงย้ำว่า ปัญหาเรื่องส่วยทางหลวง จุดเริ่มต้นจริง ๆ จึงมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่จุกจิกและไม่จำเป็น บีบให้ผู้ประกอบการที่สุจริตจนทำให้ไม่มีทางเลือก และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตบางคนอาศัยช่องว่างจากข้อกฎหมายเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือในการเรียกเก็บส่วยรีดไถรังแกประชาชน ทั้งที่ต้องบังคับใช้กฎหมายจับปรับตามบทบัญญัติหากพบว่าทำผิดกฎหมายจริง การที่ผู้บังคับการฯ ออกมาพูดว่าต้นเหตุเป็นอย่างอื่นและปลายเหตุคือการเก็บส่วย เช่นนี้ถือว่าเป็นการพูดรับรองการเก็บส่วย หากตอบคำถามสื่อมวลชนแบบนี้ ตนมองว่าเป็นตำรวจไม่ได้ ท่านต้องพิจารณาตัวเอง

-------------

ล่าสุด พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้ลงนามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ 172/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค.2566 ให้ พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล. ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเดิม พร้อมกันนี้ ยังได้ลงนามคำสั่งที่ 173/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค.2566 ให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทน ผบก.ทล. อีกตำแหน่ง โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง


นอกจากนี้ พล.ต.ท.จิรภพ ยังมีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องทั้งหมดเป็นไปด้วยความโปร่งใสไร้ข้อเคลือบแคลงจากสังคม


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่ไปที่มาของการโยกย้ายตำแหน่งครั้งนี้ สืบเนื่องจาก หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวขึ้นมา ทาง พล.ต.ต.เอกราช ในฐานะ ผบก.ทล. ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ถูกพาดพิงถึง จึงตัดสินใจเดินทางเข้าพบ พล.ต.ท.จิรภพ เพื่อขอให้โยกย้ายตำแหน่งตนเองมาประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และเปิดทางให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส


ส่วนกรณีที่มีการเลือก พล.ต.ต.จรูญเกียรติ เข้ามารับหน้าที่รักษาราชการแทน ผบก.ทล.นั้น เนื่องจาก พล.ต.ต.จรูญเกียรติ เป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้างเกี่ยวกับเรื่องการปราบปรามทุจริตในหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ รวมถึงมีผลงานด้านการปราบปรามคดีสำคัญที่เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของภาครัฐ ซึ่งการเข้ามาทำหน้าที่ตรงจุดนี้จะช่วยให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นไร้ข้อเคลือบแคลงสงสัยและเป็นที่เชื่อมั่นจากสังคม


ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว จะเป็นไปด้วยความตรงไปตรงมา พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำการทุจริตเป็นอันขาด

-------------

วานนี้ (30 พ.ค.) พลตำรวจโทอาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล ออกมาแฉเรื่องส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกว่า โดยต่อมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้จเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบข้าราชการตำรวจที่อาจไปเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งทางจเรตำรวจแห่งชาติ ก็รับลูกแล้ว และได้สั่งการโดยด่วนให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงให้ครบทุกมิติว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องหรือไม่ และจะรายงานกลับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหากพบความผิดก็ต้องดำเนินคดีทั้งทางอาญาและวินัย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังได้กำชับด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมรับข้อมูลทั้งจากประชาชน และจากพรรคก้าวไกล


ส่วนกรณีการให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับการตำรวจทางหลวงที่ระบุว่า ตำรวจเป็นปลายเหตุนั้น พลตำรวจตรีอาชยน ระบุว่า การให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับการตำรวจทางหลวงเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่กองบังคับการตำรวจทางหลวง แต่ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นตำรวจภูธร / ตำรวจจราจร ต้องมาบูรณาการร่วมกันในการตรวจสอบ และการทำงานตามหน้าที่ หากพบผู้กระทำความผิดก็ต้องจับ ต้องทำให้โปร่งใสชัดเจน หรือหากมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ก็ต้องทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อจะได้มีการแก้ไขต่อไป / ส่วนเรื่องส่วยรถบรรทุกนั้น ยังตอบไม่ได้ว่าที่ผ่านมามีข้อมูลว่ามีหรือไม่มีเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องส่วย เมื่อพูดไปมักมี 2 มุมเสมอ ไม่ว่าส่วยอะไรก็ตาม จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ไปยุ่งเกี่ยวก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน


ขณะที่ พลตำรวจตรีเอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เปิดเผยสั้นๆ ว่า ไม่ขอแสดงความเห็นที่นายวิโรจน์ออกมาโต้กลับถึงประเด็นที่ได้ให้สัมภาษณ์ / ตอนนี้ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบตามขั้นตอนแล้ว ให้รอผลการดำเนินการของคณะทำงาน ยืนยันว่าทำอย่างตรงไปตรงมา

------------

วานนี้ (วันที่ 30 พ.ค.) พลตำรวจเอกวิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือสั่งการแต่งตั้งให้ตรวจสอบกรณีสติกเกอร์รถบรรทุกจากพลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้วเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (30 พ.ค.)


โดยได้สั่งการให้จเรตำรวจทั่วประเทศลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานต่างๆ อีกทั้งยังจะต้องมีการเชิญนายวิโรจน์ และนายกสมาพันธ์รถบรรทุกแห่งประเทศไทย รวมทั้งตำรวจทางหลวงที่ถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการรับส่วยเข้ามาให้ข้อมูลด้วย


ซึ่งกระบวนการตรวจสอบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการเชิญคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเรื่องตำรวจหรือ ก.ร.ตร. ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ตำรวจระดับผู้บัญชาการขึ้นไป ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบล และจเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งหมด 10 คนมาร่วมพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบจะมีความเข้มข้น และภายหลังจากคณะกรรมการฯมีมติแล้วจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน และจะส่งเรื่องไปให้กับผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดพิจารณาลงโทษทันที คาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบภายใน 15 วัน


ทั้งนี้ ถึงแม้ว่านายวิโรจน์จะไม่เดินทางเข้ามาให้ข้อมูลที่ได้เคยเปิดโปงไว้ ทางตำรวจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะนำพยานหลักฐานต่างๆที่จเรตำรวจได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศรวบรวมมาให้กับคณะกรรมการฯพิจารณา หากพบว่ามีมูลความผิดก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับตำรวจทุกนายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

------------

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) ทีมข่าวลงพื้นที่ภาคอีสาน สำรวจหลายจุดที่เคยใช้เป็นจุดพักรถบรรทุกน้ำหนักเกิน พบว่าขณะนี้มีการแจ้งเตือนไม่ให้จอดรถเหมือนเดิมแล้ว  


โดยมีการส่งข้อความแจ้งเตือนในกลุ่มไลน์จากเจ้าของสติ๊กเกอร์เคลียร์เส้นทางรายหนึ่งในภาคอีสาน ที่ส่งถึงสมาชิกในกลุ่มกว่า 1 พันคน เมื่อช่วงเวลาประมาณ 4 โมงเย็นวานนี้ (30 พ.ค.)


ในข้อความแจ้งให้หยุดเดินรถบรรทุกน้ำหนักเกินทุกเส้นทาง ทุกจังหวัด หรือถ้าจะบรรทุกน้ำหนักต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนด


    ต่างจากเจ้าของสติ๊กเกอร์อีกราย แจ้งให้สมาชิกแบกน้ำหนักเกินได้ตามปกติ โดยใช้ถนนเส้นอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ แต่ต้องมาพักรถรอที่สี่แยกปราสาท และโทรถามเส้นทางอีกครั้ง


โดยข้อความเหล่านี้เป็นการแจ้งเตือนในลักษณะคล้ายกันในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มคนขับรถบรรทุก หลังจากขบวนการส่วยรถบรรทุกน้ำหนักเกินกำลังถูกเปิดโปง ซึ่งเป็นการพยายามใช้วิธีเลี่ยงการตรวจอีกรูปแบบหนึ่ง


    คนขับรถบรรทุกรายหนึ่ง ให้ข้อมูลเพิ่มว่า มีคำสั่งให้เปลี่ยนจุดจอดรถไปหลายๆ ที่ ไม่จอดแช่นานตามจุดเดิม และต้องวิ่งตามกำหนดเวลาที่แจ้งไว้เท่านั้น


ข้อมูลนี้สอดคล้องกับการสำรวจของทีมข่าว โดยเฉพาะจุดพักสำคัญคือสี่แยกปราสาท จังหวัดสุรินทร์ และสี่แยกประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เมื่อคืนนี้ไม่มีรถบรรทุกจอดพักเหมือนที่ผ่านมา


ข้อมูลจากคนขับรถบรรทุก จุดพักรถน้ำหนักเกินในภาคอีสานตอนล่าง มีอย่างน้อย 7 จุด


จุดที่ 1 บริเวณช่องตะโก รอยต่อ จ.สระแก้วและ จ.บุรีรัมย์

จุดที่ 2 ใกล้แยกวาปีปทุม จ.ร้อยเอ็ด เป็นรถบรรทุกหิน ทราย มาจาก จ.เลย

จุดที่ 3 ก่อนข้ามสะพานใกล้สี่แยกสตึก จ.บุรีรัมย์

จุดที่ 4 ใกล้สี่แยกพยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม รถบรรทุกหินทราย และสินค้าเกษตร

จุดที่ 5 หน้าปั้มน้ำมัน สี่แยกปราสาท จ.สุรินทร์

จุดที่ 6 ก่อนถึงสี่แยกประโคนชัย จ.บุรีรัมย์

จุดที่ 7 ใกล้แยกโชคชัย จ.นครราชสีมา


ล่าสุดขบวนการส่วยสติ๊กเกอร์แจ้งให้สมาชิกรอฟังการเปลี่ยนแปลงหลังวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งอาจเปลี่ยนรูปแบบไปใช้สัญลักษณ์แบบใหม่แต่ยืนยันว่ายังมีการจ่ายส่วยเคลียร์เส้นทางให้บรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างแน่นอน
------------
นายวิโรจน์ ได้ทวีตข้อความว่า


“คำตอบของตำรวจระดับสูงที่บอกว่า "ถ้าประชาชนคนไหนเจอส่วย ก็ให้แจ้งมา จะจัดการให้" ไม่ต่างจากประโยคที่บอกว่า "ถ้าเห็นขี้ผมให้บอกด้วย ผมจะได้ไปล้างก้น" นั่งทับขี้เอาไว้ ก็รู้อยู่แก่ใจ ทุกคนได้กลิ่นเหม็นตลบอบอวลไปหมด เวลานั่งแล้วมันลื่นๆ ไม่คิดจะไปล้างก้นเองเลยหรือ #ส่วยทางหลวง”


และโพสต์ภาพตัดต่อ ใบหน้าตัวเองทับลงไปในสติกเกอร์รูปพระอาทิตย์ยิ้มแฉ่งสีส้ม พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “ลองเปลี่ยนมาติดสติ๊กเกอร์แบบนี้ ดูไหมครับ”

--------------

นายวิโรจน์ โพสต์ว่า


ตอนนี้เหล่าแก๊งค์ขายส่วยสติ๊กเกอร์ ชีวิตต้องคอยหวาดระแวง หลบๆ ซ่อนๆ หัวซุกหัวซุน ชุลมุนไปหมด


เอาว่าผมรู้ความเคลื่อนไหวของพวกคุณทุกย่างก้าวก็แล้วกัน เห็นข้อความที่พวกคุณส่งถึงกันในวง LINE เต็มไปหมด โพสต์นี้ นี่แค่คัดมาส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ


ไอเดียการย้ายจุดติดสติ๊กเกอร์จากด้านนอก มาติดในตัวรถ ย้ายจากกระจกหน้า มาติดที่ "บังแดด" หรือจะเปลี่ยนจากการติดสติ๊กเกอร์ มาเป็นการโชว์นามบัตรแทน


คิดว่าวิธีแบบนี้จะรอดหรือครับ ยิ่งย้ายมาติดด้านใน ยิ่งส่อพิรุธ


แต่เดิมที่สติ๊กเกอร์ติดอยู่ด้านนอก แค่เหลือบเห็นสติ๊กเกอร์ ก็ปล่อยผ่านได้ทันที ไม่ต้องมีพิรุธอะไร แต่ถ้าสติ๊กเกอร์ติดอยู่ด้านใน นี่หวานหมูเลยครับ เพราะต้องเสียเวลาจอดรถ ต้องเปิดประตูรถให้ตำรวจดู สภาพแบบนี้ถ่ายคลิปได้สบายๆ


แถมคลิปที่ถ่ายได้ จะเห็นพฤติการณ์ต่างๆ ชัดเจน แลพเป็นหลักฐานมัดตัวตำรวจทางหลวงรายนั้น อย่างดิ้นไม่หลุดทันที


ส่วนที่บอกให้แกะสติ๊กเกอร์อันอื่นออกให้หมด ให้เหลือแต่รุ่น #เรารักประเทศไทย ที่เขาว่าขลังที่สุด ตอนนี้ก็น่าจะสิ้นมนต์ขลังแล้วนะครับ เห็นลอกออกกันหมดแล้ว


กรี๊ดออกมาครับ กรี๊ดออกมา กรี๊ดให้สุดเสียง แล้วร้อง อาฮ้า อาฮ้า ปิดท้าย ให้มันฟินสุดๆ ไปเลย

-------------

นอกจาก “ส่วยทางหลวง” หรือ “ส่วยสติกเกอร์” ซึ่งมีมานานกำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ แต่ทุกวันนี้ยังมีกรณีตำรวจรีดไถเงินคนขับรถบรรทุก ตามด่านตรวจหรือขับรถตามทำทีตรวจจับ ก่อนจะ “ขอค่ากาแฟ” ถ้าไม่จ่ายจะออกใบสั่ง คนขับอยากให้แก้ปัญหานี้ด้วย


ทีมข่าวได้พูดคุบกับคนขับรถบรรทุกรายหนึ่ง เผยว่า ขับรถบรรทุก 20 กว่าปี จนถึงทุกวันนี้เจอด่านโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อพบว่ามีความผิด เช่น อุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบ ป้ายเลอะเบือน หรืออื่นๆ ตำรวจก็จะออกใบสั่ง


วงการคนขับรถบรรทุกรู้กันดีต้องจ่ายเงินให้ตำรวจ 100-200 บาท คนขับบางคนไม่มีเงินขอจ่าย 40-50 บาท ตำรวจไม่รับต้องเป็นแบงค์ร้อยเท่านั้นไม่งั้นเขียนใบสั่ง นอกจากนี้ยังโดนตำรวจทางหลวงขับรถตามมารีดไถเงิน ตนไม่มีหลักฐานแต่สิ่งที่พูดคือความจริง


ทุกครั้งที่เจอด่าน ตำรวจจะเขียนใบสั่งกรณีมีความผิด ถ้าเราไม่อยากมีปัญหาก็จ่ายเงินให้ตำรวจเรียกขอ ซึ่งไม่ได้บอกจำนวนเงิน แต่ตำรวจจะเดินมาที่ประตูรถแล้วพูดว่า “ขอค่ากาแฟหน่อย” ถือว่าเป็นอันรู้กัน พอจ่ายเงิน ตำรวจก็โบกมือให้รถขับออกจากด่านไป


“เมื่อก่อนเยอะมากเจอทุกด่าน ตอนนี้น้อยลง แต่ก็ยังมีตำรวจบางนายมีพฤติกรรมรีดไถเงินรถบรรทุกอยู่ สาเหตุที่คนขับจำใจจ่ายเพราะไม่อยากมีปัญหา รีบไปส่งของไม่อยากเสียเวลา รำคาญ ถ้าไม่จ่ายตำรวจก็หาเรื่องค้นรถกลัวโดนยัดยา”


แม้กระทั่งด่านชั่งน้ำหนักของกรมทางหลวง บางทีรถเคลียร์ (รถที่มีสติกเกอร์ติด/จ่ายส่วย) วิ่งผ่านได้เลย ส่วนมากเป็นรถพืชไร่ จะไม่เข้าด่านชั่งน้ำหนัก / แต่รถของตนไม่มีสติกเกอร์ก็จะถูกเรียกจอดเพื่อชั่งน้ำหนักซึ่งไม่ได้บรรทุกเกินอย่างรถของพวกตนถ้าไม่เข้าด่านชั่งน้ำหนัก เจ้าหน้าที่จะขับรถไล่ตามให้มาชั่งน้ำหนัก แต่รถที่จ่ายส่วยเขาจะรู้กันขับผ่านไปได้เลย รถพวกนี้ส่วนมากบรรทุกเกิน 50 ตัน ที่กฎหมายกำหนด


“ตนเคยคุยกับคนขับรถบรรทุกที่ซื้อสติกเกอร์มาติดหน้ากระจกและบรรทุกน้ำหนักเกิน เขาเล่าว่าเถ้าแก่ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งเคลียร์ด่านให้แล้ว พอเจอด่านตรวจตำรวจเห็นสติกเกอร์ก็จะปล่อยผ่าน ส่วนมากจะเคลียร์กับตำรวจระดับบิ๊ก ๆ ตำรวจชั้นผู้น้อยเห็นสติกเกอร์ก็ไม่กล้าแตะต้องกลัวเจอตอ” ทั้งนี้อยากให้มีการปฏิรูปตำรวจเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว


คนขับรถบรรทุกอีกราย เผยว่า ตนเองขับรถบรรทุกมาเกือบ 30 ปี วิ่งบรรทุกปูนส่งสายเหนือ ที่ผ่านมาโดนตำรวจเรียกเอาตังค์ตลอด ก็ยอมเสีย 100-200 บาท บอก “ขอค่ากาแฟ ” บางครั้งบอก “ขอค่าบริการ” ก็ไม่รู้เป็นค่าบริการอะไรยอมรับบางครั้งตนโดนตรวจจับอุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบ หลอดไฟขาด ก็ยืนเงินให้ตำรวจแลกกับการไม่โดนใบสั่ง


หรือบางครั้งเจอด่าน รถไม่มีป้ายภาษี ทะเบียนขาด ไม่อยากโดนใบสั่งตำรวจก็จะขอค่าแฟ ก็ต้องยอมจ่าย ไม่ได้โดนทุกด่าน ตำรวจดีๆ ก็มีเขาไม่ขออะลุ่มอล่วยให้ปล่อยไป /ถ้าเจอตำรวจที่เรียกขอเงินแล้วไม่มีจ่ายก็จะหน่วงเราไว้ เดินดูรอบรถหาความผิดออกใบสั่ง โดนรีดไถเงินทั้งตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร


“ตนวิ่งรถได้เบี้ยเลี้ยงก็ต้องแบ่งจ่ายค่ากาแฟให้ตำตรวจอีก อยากขอความเห็นใจ พวกผมก็เหนื่อย อันไหนเราผิดก็ยอมรับผิด แต่ถ้าผมไม่ผิดแล้วมาขอเงินผมก็ไม่อยากให้ บาทเดียวผมก็ไม่อยากเสีย บางครั้งต้องอ้อนวอนขอว่าไม่มีเงินกินข้าว ยิ่งเจอตามรายทางเซ้าซี้ขอเงินอยู่นั้นแหละ วอนผู้ทีอำนาจช่วยจัดการเรื่องนี้ด้วย”


ขณะที่คนขับรถบรรทุกอีกราย เผยว่า ขับรถเจอบางด่าน ตำรวจจะถามว่า “มีกาแฟกินมั้ย” ตนก็จ่ายไป 40-50 บาทเพราะไม่ค่อยมีเงิน ถ้าให้ 20 บาท ตำรวจจะบอกว่า “ไม่พออยู่กันตั้งหลายคน” ก็จ่ายเงินเพิ่มถึงจะยอมปล่อยให้ไป บางครั้งตำรวจขี่รถมอเตอร์ไซค์ตามเพื่อตรวจจับ และขอค่ากาแฟ ถ้าไม่ให้ก็เป็นเรื่องใหญ่จึงจำใจจ่าย “แม้จำนวนเงินที่จ่ายไม่มาก แต่ถ้าตำรวจเรียกขอค่ากาแฟ จากรถบรรทุกหลาย ๆ คน รวมกันมันก็เป็นจำนวนเงินที่มาก”

-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/wSQk29iuw0w



แท็กที่เกี่ยวข้อง  ส่วยสติ๊กเกอร์ ,วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ,ตำรวจทางหลวง ,ส่วยทางหลวง ,พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ,พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ,จเรตำรวจแห่งชาติ ,พรรคก้าวไกล ,พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ,รถบรรทุกหนักเกินกำหนด ,พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ ,พลตำรวจโทอาชยน ไกรทอง ,พลตำรวจเอกวิสนุ ปราสาททองโอสถ

คุณอาจสนใจ

Related News