สังคม

เผยผลตรวจชายเมียนมา ติดโควิด XBB.1.16.1 พบปอดอักเสบรุนแรงก่อนเสียชีวิต ประวัติไม่เคยรับวัคซีน

โดย weerawit_c

27 เม.ย. 2566

237 views

วานนี้ (26 เม.ย.) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง กรณีชายสัญชาติเมียนมา อายุ 34 ปี เสียชีวิตภายในห้องพัก เขตสาทร กทม. และตรวจ ATK พบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2566 ผลการสอบสวนพบว่า ผู้เสียชีวิตทำงานเป็นพนักงานโรงงานแห่งหนึ่งใน กทม. ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน และไม่มีประวัติเข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ก่อนเสียชีวิต ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้เสียชีวิตได้เล่นน้ำสงกรานต์กับเพื่อน และเริ่มเป็นไข้ มีอาการตาแดง ซื้อยาทานเองอยู่แต่ในห้องพัก



จนมีผู้มาพบว่านอนเสียชีวิตในห้องพัก ผลตรวจภาพรังสีคอมพิวเตอร์ (CT scan) ของศพ โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าได้กับภาวะปอดอักเสบชนิดรุนแรง ส่วนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.16.1 ดังนั้น จึงขอย้ำให้ผู้ไม่เคยรับวัคซีน รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสู้กับโควิดสายพันธุ์ต่างๆ



นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังเทศกาลสงกรานต์ และสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 1,088 ราย เฉลี่ยวันละ 155 คนต่อวัน สูงขึ้น 2.5 เท่าเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า และคาดว่าจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมี ยา เวชภัณฑ์สำรอง และเตียงเพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ขอแนะนำประชาชนเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี



สำหรับกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกันได้ และหากป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจ ATK รวมทั้งเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 เมื่อพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากาก และรีบไปพบแพทย์หากมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ถ้าเป็นกลุ่ม 608 ให้รีบพบแพทย์เมื่อทราบผลตรวจ ATK เป็นบวก สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้ไปรับบริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลภาครัฐสังกัดอื่น ได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ



นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 องค์การอนามัยโลกได้ปรับสถานะเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.16 ให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง (Variant of Interest: VOI) จากเดิมเป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (Variant under Monitoring: VUM) อย่างไรก็ตาม การตรวจโควิด-19 ในปัจจุบันด้วยวิธี Real-time PCR และชุดตรวจ ATK ยังสามารถพบการติดเชื้อโควิดได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์ลูกผสม



ทั้งนี้ มีความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 เพียงพอในระดับบุคคลและประชากร เพื่อลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยสามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ ฉีดห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน และไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด ที่สำคัญสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/suSaDZQnyh8

คุณอาจสนใจ

Related News