สังคม

เชียงรายฝุ่นหนาจนฟ้าเหลือง กระทบทัศนวิสัยการบิน – ‘พิธา’ ชี้แก้ฝุ่นพิษต้องกล้าชนกลุ่มทุน

โดย petchpawee_k

28 มี.ค. 2566

146 views

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่จังหวัดเชียงรายยังคงวิฤตหนัก ฝุ่นหนาปกคลุมจนท้องฟ้ากลายเป็นสีเหลือง กระทบท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ต้องแจ้งเตือนทัศนวิสัยในการมองเห็นเหลือแค่ 760 เมตร


โดย วานนี้ 27 มี.ค. 66 นาวาอากาศตรี สมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟสบุ๊ค แจ้ง ทัศนวิสัยของท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเลวร้ายเหลือ 760 เมตร


ในวันเดียวกัน นายชุติเดช กมนณชุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 15 (เชียงราย) ได้รับแจ้งมีเหตุไฟไหม้พื้นที่ดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย จึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบเกิดไหม้อย่างหนักบริเวณพื้นที่จุดชมวิว และสุสานบนดอยช้างพื้นที่ ต.วาวี อ.แม่สรวย โดยไฟได้โหมลุกไหม้พื้นที่ที่มีพงหญ้าแห้งอย่างหนัก และลุกลามไปอย่างรวดเร็วจนเกือบถึงถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังกันเข้าไปดับไฟอย่างหนักแต่เนื่องจากเป็นป่าเขาสูงชัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการเข้าดับไฟตลอดทั้งวันนี้ โดยช่วงเย็นที่ผ่านมาได้ควบคุมไฟเอาไว้ได้


นายชุติเดช กล่าวว่า ไฟป่าบนดอยช้างเกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและลุกไหม้อย่างหนัก แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงและเมื่อดับไฟครั้งแรกแล้วเกิดการคุกรุ่นขึ้นมาอีก ทำให้เจ้าหน้าที่ไฟป่าต้องร่วมกับอาสาสมัครและชาวบ้านเข้าดับไฟอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน


ขณะที่เพจ Drama Addict   ได้แชร์ภาพ ที่เพจส่งมาให้ เป็นภาพในจังหวัดเชียงราย เผยให้ท้องฟ้าที่ไร้ซึ่งสีฟ้า แต่หลายเป็นสีเหลืองปกคลุมทั่วลักษณะบรรยากาศคล้ายภาพยนตืฮอลลีวู้ดเรื่องดัง  พร้อมข้อความระบุว่า “mad max เหรอวะ”

--------------------------------------------------

วานนี้ (วันที่ 27 มี.ค.) เวลาประมาณ 13.50 น. นายเศวตยนต์ ศรีสมุทร รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย พร้อมภาคเอกชน และประชาชนชาวอำเภอแม่สายกว่า 200 คน ได้นัดรวมตัวบริเวณลานอเนกประสงค์ หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย และยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับนายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย จากปัญหาฝุ่นพิษ ที่กระจายสะสมในภาคเหนือของประเทศไทย ในระดับอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน สร้างความเดือดร้อน รวมถึงกระทบกับการท่องเที่ยว


ปัญหาฝุ่นข้ามแดนถูกหยิบยกขึ้นมาชี้แจง ด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้น มาจากการเผาโดยมนุษย์ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ ซึ่งตามข้อมูลของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ประเทศเมียนมา นำเข้าเมล็ดพันธ์ข้าวโพดจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่ปลูก 2.9 ล้านไร่ ในปี 2563 โดยไทยมีมูลค่า การนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2565 จำนวน 14,312 ล้านบาท


ขณะที่ข้อมูลไบโอไทยพบว่า ในปี 2564 ประเทศไทย นำเข้าข้าวโพดเพื่อเป็นอาหารสัตว์รวม 1.83 ล้านตัน โดยมีแหล่งนำเข้ามากที่สุดคือเมียนมา มีปริมาณนำเข้า 1.79 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 97.8 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นนำเข้าจากลาว 0.6เปอร์เซ็นต์ และกัมพูชา 0.3 เปอร์เซ็นต์


การนำเข้าข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2564 – 2566 ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2563 กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรออกประกาศลด/ยกเว้นอากรนำเข้าของวัตถุดิบอาหารสัตว์ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2549 เรื่องนโยบายอาหาร


ข้อ 5 ให้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ในอัตราน้ำหนักสุทธิเมตริกตันละ 0 บาท โดยการนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมา เป็นการนำเข้าที่มีอัตราภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าได้ตลอดทั้งปี และผู้นำเข้าทั่วไป นำเข้าได้ระหว่าง 1 ก.พ. – 31 ส.ค. ของทุกปี


นี่คือเหตุที่ว่า ทำไมถึงเกิดการเผาในพื้นที่ราบ อย่างมากมายหลายจุด ในพื้นที่รัฐฉานตะวันออก ประเทศเมียนมา จนทำให้เกิดฝุ่นละอองนาดเล็ก PM 2.5 สร้างมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ให้กับประชาชนพื้นที่ลุ่ม ในพื้นที่จ.เชียงราย ชายแดน จ.เชียงใหม่ และจ.แม่ฮ่องสอน ได้รับความเดือดร้อนทุกๆปี และปรากฏหมอกควันพิษอย่างหนาแน่นในปี 2566 ซึ่งยังไม่ทราบว่า มีการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกเท่าไร


โดยข้อมูลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อริศรา เจริญปัญญาเนตร ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุพื้นที่ป่าไม้ ที่เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ช่วงเวลา 2558-2563 พื้นที่ตอนบนของ สปป.ลาว 5,148,393 ไร่ , ตอนเหนือของประเทศไทย 2,552,684 ไร่ และรัฐฉานเมียนมา 2,939,312 ไร่


นายเศวตยนต์ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองหมอกควันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและยิ่งปีนี้เกิดรุนแรงกว่าเดิมจึงถึงเวลาที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหา เพราะในอดีตนั้นเราไม่อาจเข้าถึงข้อมูลปัญหาได้แต่ปัจจุบันมีทั้งดาวเทียม แอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่แจ้งข้อมูลการเกิดไฟป่า จุดความร้อน ฯลฯ จึงทำให้ทราบถึงปัญหาได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากการเผาไหม้ทั้งในประเทศและฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน


ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องเป็นระดับรัฐบาลที่จะต้องมีการเจรจาเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องระหว่างประเทศโดยเฉพาะมีการทำการเกษตรซึ่งอาจพูดได้ว่าคือ "ข้าวโพด" เพื่อลดการเผา นอกจากนี้ควรมีการควบคุมเรื่องการเปิดนำเข้าผลผลิตมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเสรี โดยทางรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ควรเข้ามาควบคุมด้วย

-------------------------------------------

ขณะที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ต่างพากันนำการบ้าน ชิ้นงานที่อาจารย์สั่ง ตลอดจนตำราเรียนเข้ามาทำและศึกษาภายในหอสมุดประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้มีติดตังเครื่องปรับอากาสละเครื่องฟอกอากาศให้เป็นห้องปลอดฝุ่นสำหรับให้บริการนิสิตนักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน ซึ่งพบว่าได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่และนักศึกษาเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก หลังค่าฝุ่นละองของพื้นที่อำเภอเมือง เพิ่มสูงขึ้นเเป็น 307 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์


ทั้งนี้สาเหตุสำคัญเกิดขึ้นจากการเผาป่าและหมอกควันข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ และในพื้นที่จ.เชียงรายบางส่วน ซึ่งนอกจากจะมีเศษขี้เถ้าตกลงมาในพื้นที่จำนวนมาก ยังมีหมอกควันปกคลุมหนาแน่น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากหมอกควันทำให้แสบตา แสบคอ แสบจมูก ไม่สามารถทำการสอนได้ภายในห้องเรียนปกติ หรือทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งได้ ทางมหาวิลายัจึงมีการปรับแผนการเรียนสอนใหหม่ในระยะนี้

-------------------------------------------

นายแพทย์ วัชพงศ์ คำหล้า นายแพทย์สาธาณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า สถิติผู้ป่วยทางเดินหายใจ ที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควัน และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มากขึ้น ระหว่างวันที่ 19-26 มี.ค. 2566 ทั้งจังหวัด มีเข้ามาพบแพทย์แล้ว จำนวน 3,478 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการแสบจมูก เจ็บคอ


โดยพบว่าเป็นผู้ป่วยนอก ที่เข้ามารับการตรวรจและรับยาไปรักษาตามอาการต่อที่บ้าน และอีกส่วนหนึ่งคือการรักษาในระบบออนไลน์ สำหรับการรองรับผู้ป่วยหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาล ในขณะนี้ยังมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยทางเดินทางหายใจอยู่ ซึ่งปัจจุบันทางแพทย์ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วย

-------------------------------------------

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติในหลายจังหวัดภาคเหนือว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ PM2.5 ในภาคเหนือรุนแรงมาก บางจังหวัดเช่นเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก บางวันสถานการณ์รุนแรงเกินกว่าที่เครื่องวัดฝุ่นละอองจะวัดได้ ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ โดยเฉพาะด้านการป้องกัน บรรเทา และเตือนภัย คงมีคนพูดถึงไปเยอะแล้ว ตนจึงขอพูดอีกประเด็นสำคัญที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก นั่นคือต้นตอของสาเหตุที่ทำให้ PM2.5 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา


หลายคนรู้ปัญหาดีว่าต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่มากขนาดนี้มาจากการเผา โดยเฉพาะการเผาเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม แต่เบื้องหลังของการเผาเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม คือธุรกิจการเกษตรที่ทำธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบ ข้อมูลจาก GISTDA เปิดเผยว่าวันที่ 26 มีนาคม 2566 เพียงวันเดียว ประเทศเมียนมาพบจุดความร้อน 10,563 จุด สปป.ลาว 9,652 จุด และไทยพบจุดความร้อนถึง 5,572 จุด สูงที่สุดในรอบ 5 ปี จำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10.6 ล้านไร่ ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาของประเทศลาว เมียนมา และไทย


สาเหตุของการเผาไม่ต้องไปหาอื่นไกล เกิดจากประเทศไทยของเราเอง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน คือเมียนมา ลาว กัมพูชา ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 770 ล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 14,325 ล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18 เท่า การขยายตัวของกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมในลาวและเมียนมา และเป็นที่มาของฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย


“ทุกตันข้าวโพด-ปาล์มน้ำมันที่มาจากการเผาป่า แลกมาด้วยอากาศบริสุทธิ์และอายุขัยคนไทย จะแก้ปัญหา PM2.5 นอกจากต้องมีมาตรการผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว สิ่งสำคัญที่จะแก้ได้จากใจกลางของปัญหา คือต้องกล้าจัดการกับต้นตอที่ทำให้เกิดการก่อมลพิษในประเทศของเราเองด้วยการประกาศนโยบาย ‘ไม่ยอมรับการเผาทุกกรณี” นายพิธากล่าว


นายพิธากล่าวต่อว่า ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะประกาศทันทีว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ผ่านด่านการค้าในภาคเหนือ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาเหล่านี้เข้าสู่ประเทศไทย ตัดวงจรการเผา ลบจุดแดงบนแผนที่ทางอากาศ


นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องมีกฎหมายให้ผู้มีส่วนในการสร้างหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง และประชาชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัทใดรับซื้อหรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษลอยเข้ามาในประเทศไทย หลักการเดียวกันกับ ‘กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน’ หรือ Transboundary Haze Pollution Act ของประเทศสิงคโปร์


ในโลกยุคปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสุขภาพแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลที่จะแก้ปัญหา PM2.5 ได้ คือรัฐบาลที่พร้อมชนกับกลุ่มทุน กล้าจัดการกับบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ และสามารถใช้เวทีระหว่างประเทศในการเจรจาสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาระดับภูมิภาค ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จะร่วมมือและสนับสนุนกับประเทศเพื่อนบ้านในการดับไฟป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของจุดความร้อน และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ประชาชนทุกประเทศในอนุภูมิภาคต้องเผชิญเช่นกัน


“การเมืองดี ระบบเศรษฐกิจที่ดี และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี คือเรื่องเดียวกันครับ” นายพิธาทิ้งท้าย

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/rCEYoGNVk_4

คุณอาจสนใจ

Related News