สังคม

พรรคการเมือง-นักวิชาการ เรียงหน้าซัดปม 'ซีเซียม-137' ไม่สนใจชีวิต-ปกปิดข้อมูล-ไร้มาตรการรับมือ

โดย nattachat_c

21 มี.ค. 2566

253 views

จากกรณี ท่อบรรจุสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 จากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี หายไปอย่างเป็นปริศนา โดย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสี สูญหายจากสถานประกอบการทางรังสี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา


ซึ่งต่อมา วันที่ 19 มี.ค. 66 เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ปภ.กรมการปกครอง ออกตรวจการปฎิบัติงานการตรวจโรงหลอมในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ซึ่งในการตรวจสอบโรงงานที่ 4 ยืนยันว่า พบสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในโรงหลอมเหล็กในตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี ประกาศปิดโรงงาน และกันพื้นที่ไม่ให้พนักงานทั้งหมดออกจากโรงงานเพื่อความปลอดภัย

-------------

วานนี้ (20 มี.ค. 66) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเพจ ระบุว่า

#ซีเซียม137 เรื่องด่วน!! เรื่องใหญ่ขนาดนี้


#รัฐบาลไทย ควรแถลงการณ์รวมการเฉพาะกิจ แจ้งเตือนประชาชนให้ระวังตัวทุกช่องทางโดยด่วน เพื่อดำเนินมาตรการเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนอย่างเร่งด่วน


ฟังแถลง 11 โมง อ้ำอึ้งคลุมเครือไปหมด...อันตรายแค่ไหน? ประชาชนป้องกันตัวอย่างไร? รัศมีที่ได้รับผลกระทบขนาดไหน? ใคร? ควรทำอะไร? ที่ไหน? อย่างไร? ไม่มี Messages อะไร ที่ชัดเจนสักอย่างจากรัฐบาลไทย..!!


รัฐบาลนี้ จะไม่ใส่ใจชีวิตประชาชน จนวาระสุดท้ายเลยเหรอคะ?

-------------
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส. และผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล ได้ทวีตข้อความว่า 


กรณี ซีเซียม137 ที่ถูกหลอมถลุง จนกลายเป็น "ฝุ่นแดง" ไปแล้ว รัฐบาลต้องชัดเจนกับประชาชนในรัศมีที่ได้รับผลกระทบ ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร ต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีมาตรการการชดเชยที่เป็นธรรม ไม่ต้องรอให้ประชาชนฟ้องร้อง
-------------

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า 


ก็ให้กระทรวงอุตสาหกรรมติดตาม ก็ไปดูว่าหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ อยู่ตรงไหนแล้ว ตั้งนานก็เห็นในข่าว ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานแต่ละกระทรวงเขารับผิดชอบอยู่แล้ว ก็ต้องไปตามกันตรงโน้น ให้นายกรัฐมนตรีไปตามเองคงไม่ใช่มั้ง ก็ไปติดตามสิ ตรงไหน อะไร ยังไง


ทั้งเรื่องเรือรั่ว น้ำมันรั่ว อะไรต่างๆก็ดูทุกวันอยู่ รวมถึงเรื่อง PM.2.5 ก็รับรายงานทั้งวัน ก็แก้ทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด


จะเป็นรักษาการณ์ หรือไม่รักษาการณ์ก็ทำงานไป จะยากอะไรเล่า งานมีเยอะแยะ


ในช่วงท้ายสื่อมวลชนได้บอกกับนายกรัฐมนตรีว่า ยังอยู่กับสื่ออีกนาน เบาๆ หน่อย นายกรัฐมนตรี ตอบกลับว่า “สื่อก็เบาๆ หน่อยสิ"
-------------

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 มี.ค.2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม,สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ,อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งที่ จ.ระยอง  หลังทราบว่าโรงงานถลุงเหล็ก พื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ได้ทำการถลุง ‘ซีเซียม-137’ และขออนุญาตส่ง ‘ฝุ่นแดง’ จำนวน 12.4 ตัน ไปที่โรงงานรีไซเคิลดังกล่าว


จากการตรวจสอบ ‘ฝุ่นแดง’ ล็อตที่ขนส่งมายังโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2566  พบมีการแยกฝุ่นแดง ว่ารับมาจากที่ไหนบ้าง โดยเจ้าเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโกดังที่ 4 มีฝุ่นแดงจำนวน 12.4 ตัน พบว่าค่ากัมมันตภาพรังสีปกติ


“ยืนยันไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสี ถือเป็นข่าวดี คาดการณ์ว่าฝุ่นแดง ที่เกิดจากการถลุง ซีเซียม-137 น่าจะยังอยู่ที่โรงงานถลุงเหล็ก อ.กบินทร์บุรี ทั้งหมด ทั้งนี้พบว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา โรงงานถลุงเหล็กดังกล่าวได้ส่งฝุ่นแดง ไปที่โรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งที่ จ.ระยอง ที่เดียวจึงได้มาทำการตรวจสอบ”.

------------

วานนี้ (วันที่ 20 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผวจ.ระยอง นายสุพจน์ ต่ออาจหาญ รองผวจ.ระยอง นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจ.ระยอง และนายอัธยา นวลอุทัย ปัองกันจ.ระยอง ได้เดินทางมาที่ บริษัท อีอาร์พี จำกัด หลังโรงเรียนบ้านหนองแฟบ ชุมชุนบ้านหนองแฟบ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อตรวจสอบ กรณีที่บริษัทดังกล่าวได้รับผงเหล็กมาจากโรงหลอมเหล็กที่ จ.ปราจีนบุรี ที่หลอม ซีเซียม-13


โดยมี น.ส.ฉุน หลิว ผู้จัดการ บริษัท อีอาร์พี ได้เปิดโรงงานให้เข้าไปตรวจสอบ ยอมรับว่า รับผงเหล็กมาจากโรงหลอมเหล็กที่ปราจีนบุรี มาตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.66 จำนวน 12.4 ตัน รวม 16 ถุงบิ๊กแบ็ก ซึ่งยังไม่ได้มีการดำเนินการหลอม ยังอยู่ในถุงมิดชิด เก็บไว้ภายในโรงงาน


ทั้งนี้ ผวจ.ระยอง ได้เข้าไปตรวจสอบ ผงเหล็กภายในโรงงาน พบว่า ผงเหล็กทั้งหมด 16 ถุงบิ๊กแบ็ก ได้ถูกนำไปเก็บไว้ด้านในของตัวโรงงาน โดยวางซ้อนกันสองชั้น โดยอยู่ในพื้นที่ปิดมิดชิด พร้อมระบุว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า (20 มี.ค) เวลา 07.00 สำนักงานปรมาณู เพื่อสันติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยเครื่องตรวจ เข้ามาตรวจสอบผงเหล็กทั้งหมด 16 ถุง โดยนำเอาตัวอย่างจากทุกถุงออกมาตรวจสอบ ปรากฎผลตรวจออกมา ไม่เกินค่ามาตรฐาน


แต่ถึงอย่างไร ก็ตาม ได้มีคำสั่งให้โรงงานหยุดดำเนินการเคลื่อนย้าย คัดแยก และเตรียมให้ทาง อุตสาหกรรม จ.ระยอง ประสานไปทางโรงงานหลอมเหล็กที่จ.ปราจีนบุรี เพื่อส่งผงเหล็กทั้งหมด กลับไปภายใน 3 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านในขุมชน


นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมพร้อม หากพนักงานในโรงงาน อาจจะไปสัมผัสกับพนักงานที่มาจากโรงหลอมเหล็กที่ปราจีนบุรี อาจจะมีสารติดมาด้วย จึงให้เฝ้าระวัง หากพบอาการผิดปกติ ให้แจ้ง 1669 ทางสาธารณสุข จ.ระยอง ได้จัดเตรียมพร้อมให้การรักษาอย่างเร่งด่วน และ ให้หยุดการดำเนินการไปก่อน


ด้านนายอิทธิ แจ่มแจ้ง ประธานชุมชนข้านหนองแฟบ ได้กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านในชุมชน ต่างก็ทราบเรื่องแล้ว เริ่มตื่นตระหนก เพราะมันคือสารอันตราย ต่างก็ไม่มั่นใจเพราะเป็นผงเหล็กที่มาจากโรงงานที่มีการหลอมซีเซี่ยม-137 จึงอาจจะมีปะปนมาด้วย และการตรวจสอบจะมั่นใจได้แต่ไหน แต่เบื้องต้นต้องการให้ขนย้าย ผงเหล็กทั้งหมด 12.4 ตันออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด เพื่อลดความตื่นกลัวของชาวบ้านในชุมชน โดยให้กลับไปยังโรงงานที่สั่งซื้อมา

------------

นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ  เปิดเผยความคืบหน้ากรณีมีภาพถ่ายแชร์ออกไปลักษณะของถุงบิ๊กแบ็คที่มีฝุ่นของสารซีเซียม-137 บรรจุอยู่ภายในกว่า 20 ถุง ภายในโรงงานหลอมแห่งหนึ่งทำให้สังคมเกิดความสับสนว่าเป็นการรักษาเป็นการเก็บรักษาที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่


เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าขณะนี้ได้ทำการซีนปิดระบบ ห้องที่เก็บบิ๊กแบ็ค ฝุ่นซี่เซี่ยม เรียบร้อยแล้วโดยมีการซีนไว้แต่ละจุด อย่างแน่นหนา เมื่อซีนเสร็จ ก็นำเครื่องตรวจวัดสารกัมมันตรังสี โดยมีการทดลองตั้งแต่ระยะ 50 เมตร จากกระสอบบิ๊กแบ็คฝุ่นซีเซี่ยมจะเห็นว่าเป็นสีเขียวเมื่อขยับเข้าไปใกล้ก็จะเป็นสีเหลืองและเมื่อถึงกระสอบบิ๊กแบ็คระยะประชิดกระสอบ ใกล้ที่สุด ก็จะเห็นว่าเป็นสีแดง นั่นคือจุดอันตราย แสดงให้เห็นว่า ข้างนอก ไม่มีสารอันตราย ฟุ้งออกมาด้านนอกมีแค่ ข้างกระสอบบิ๊กแบ๊คที่มีฝุ่นเท่านั้น


ดังนั้น ห้องที่ซีลและเก็บถุงบิ๊กแบ็คจะไม่มีสารกัมมันตรังสี แผ่ออกมาอย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นจุดอันตรายที่เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมและระงับสถานการณ์ได้แล้ว ไม่มีผลกระทบกับประชาชนด้านนอก


ขณะเดียวกันในโรงงานพื้นที่โดยรอบก็ไม่ได้ส่งผลกระทบเช่นกันเพราะขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ตามปกติแล้ว ส่วนการเคลื่อนย้ายไปทำลายนั้น ต้องรอประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง


นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการทดสอบนำเครื่องวัดสารกัมมันต์ตารางสีมาทดสอบที่บริเวณหน้าโรงล้อมให้สื่อมวลชนได้รับชมพบว่าปริมาณของสารกัมมันตรังสีนั้นไม่พบบริเวณด้านหน้าโรงงานนั่นแสดงว่าเป็นจุดที่ปลอดภัยจึงขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ได้แล้วส่วนขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการอย่างไรและใครเป็นบุคคลที่นำวัตถุสี่เซี่ยมหนีออกมาจากโรงงานก็เป็นหน้าที่ของตำรวจ


สำหรับ วัตถุซีเซี่ยม-137 ที่ มาพบที่โรงหลอมก็พบว่าไม่ใช่เป็นต้นทางที่รับซื้อโดยตรงแต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ได้สำรวจพื้นที่ร้านรับซื้อของเก่าบริเวณอำเภอกบินทร์บุรีและนิคมอุตสาหกรรม 304 มาแล้วหลายร้าน แต่ก็ไม่พบสารตัวนี้ปรากฏขึ้นในระบบ


จนกระทั่งมาพบพี่โรงหลอมส่วนขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการอย่างไรและใครเป็นบุคคลที่นำวัตถุสี่เซี่ยมหนีออกมาจากโรงงานก็เป็นหน้าที่ของตำรวจ


นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้นำทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ของเรา เข้าไปตรวจสอบบริเวณรถตู้ที่ตรวจจับสารกัมมันตรังสีนี้โดยภายในรถจะมีอุปกรณ์ที่ตรวจจับสารกัมมันตรังสีเป็นเครื่องขนาดใหญ่และขนาดเล็กรวมไปถึงทำงานควบคู่กับ Google Maps เพื่อที่จะขับรถใช้ความเร็วระยะ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงคอยขัดสำรวจพื้นที่ทั้งหมดตั้งแต่เกิดเหตุในรัศมี 5 กิโลเมตรก็พบว่าสัญญาณเตือนที่โรงหลอมแห่งนี้พบสารกัมมันต์ตารางสี


ทั้งนี้ช่วงเย็น เจ้าหน้าที่ทำการนำผ้าใบมาปิดที่ ห้องเก็บบิ๊กแบ๊ค ที่ด้านในบรรจุฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซี่ยม จนเกิดที่วิจารณ์ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ เพราะภายในคือสารเคมี


ส่วนกรณีที่ทางจังหวัดระยองระบุว่า จะนำถุงบิ๊กแบ็คที่บรรจุ ฝุ่นเหล็กล็อตที่นำออกจากโรงหลอมที่ปราจีนบุรี เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลับมาที่โรงงานปราจีนบุรีนั้น เจ้าหน้าที่ สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ ยืนยันว่า การขนส่งไม่ได้ส่งผลกระทบ เนื่องจากถุงบิ๊กแบ็คที่ส่งไปในพื้นที่จังหวัดระยองเป็นคนละชุดกับที่ตรวจพบในจังหวัดปราจีนบุรี และไม่พบการปนเปื้อนซีเซียม-137 ซึ่งการขนส่งก็สามารถส่งมาได้ตามปกติ และเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามจะดำเนินการเก็บตามขั้นตอนต่อไป

------------

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ตรวจสอบบริเวณโรงงานที่พบวัสดุกัมมันตรังสีแล้วไม่พบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมถึงตรวจการปนเปื้อนรังสีในร่างกายของคนงานโรงงานทั้ง 70 คน ไม่พบปริมาณรังสีเช่นกัน ส่วนผลเลือดและปัสสาวะ ผลยังไม่ออก


อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี จะติดตามอาการผิดปกติและตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพคนงาน รวมทั้งญาติผู้ใกล้ชิดในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี


ทั้งนี้ จากพนักงานทั้ง 70 คน แบ่งเป็นชาวไทย จำนวน 10 คน และพนักงานชาวต่างด้าวจำนวน 60 คน

------------

นพ.โอภาส กล่าวว่า ความรุนแรงจากการได้รับรังสีซีเซียม-137 ขึ้นกับความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส โดยหากสัมผัสโดยตรงจะเกิดบาดแผลไหม้จากรังสี เช่น ผิวหนังมีตุ่มน้ำพอง เป็นแผล หรือเนื้อตายได้ เกิดอาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ส่วนผลระยะกลางและระยะยาว จะส่งผลต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเส้นผม เป็นต้น


ได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ประสานผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยจากกัมมันตรังสี จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุกและแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการ พร้อมทั้งประสานจัดสิ่งสนับสนุน เช่น เครื่องตรวจวัดรังสีเพิ่มเติม ชุดป้องกัน หน้ากากอนามัยชนิดกันอนุภาค รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพประสานคลินิกเอกชนทั่วประเทศ ร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยอาจเกิดจากการได้รับรังสีด้วย


“แม้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นปลายทาง คือ ให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ แต่ได้ให้แต่ละกรมในสังกัดใช้เหตุการณ์นี้ทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อนำมาปรับระบบดูแลสุขภาพให้รัดกุมยิ่งขึ้น และรับมือกับเหตุฉุกเฉินในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว
------------

ทั้งนี้ มีรายงานว่าจากเจ้าหน้าสาธารณสุข เปิดเผยว่า หนึ่งในพนักงานที่ทำงานในโรงหลอมวันเกิดเหตุ ไม่ทราบว่ามีการหลอมซีเซียม-137


พอมาทราบข่าวทางครอบครัวก็กังวลเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากไม่รู้วิธีป้องกันและพนักงานรายดังกล่าวก็ถอดเสื้อผ้าอาบน้ำเสื้อผ้าก็ปะปนไปกับคนอื่นๆ ในครอบครัวจึงเป็นกังวลเรื่องสุขภาพอยากให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล


สำหรับโรงงานดังกล่าวนั้นอยู่บริเวณพื้นที่ ตำบาลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี  โดยพบว่าที่หน้าโรงงานมีบ้านพักของประชาชนอาศัยอยู่หนึ่งหลัง เปิดเป็นร้านขายอาหารและเครื่องดื่มทีมข่าวได้สอบถาม ป้าสุนีย์ แย้มกลิ่น ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณนี้มานานก่อนจะมีโรงงาน ว่าตั้งแต่โรงงานนี้ยังไม่เปิด


ตนเองก็อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มานานแต่พอโรงงานนี้มาเปิดก็ไม่ได้รับผลกระทบทางด้านมลพิษ นานๆจะมีกลิ่นแต่ไม่มากหากเทียบกับโรงงานอื่น


ทั้งนี้ข่าวที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดความกังวลใจ แม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบแล้วโดยตรวจบริเวณคลองน้ำใกล้บ้านและใช้เครื่องตรวจวัดอากาศที่บริเวณในบ้านตนเองและโดยรอบก็ไม่พบความผิดปกติจึงเชื่อว่าจะไม่เกิดอันตรายแต่ในใจลึกๆก็ยังกังวลอยู่ เพราะเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ตัวเองได้นำหลานสองคนย้ายไปอยู่บ้านญาติที่อื่นแทนเพราะหากเกิดอันตรายอะไรขึ้นมาผู้ใหญ่ยังมีแรงที่จะต้านทานกับสารเคมีได้แต่เด็กจะเป็นอันตรายมากกว่า


แม้ว่าการตรวจครั้งนี้ในบ้านของป้าจะยังไม่พบสารเคมีหรือสิ่งอันตรายแต่ก็อยากขอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าสารพิษอาจจะตกค้างอยู่บริเวณจุดใดจุดหนึ่งและยังไม่แสดง จึงขอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจเป็นระยะอย่าได้ทิ้งชาวบ้าน

-----------

นายสุเมธา วิเชียรเพชร อดีตผู้เชี่ยวชาญสารเคมีและวัตถุอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีสารซีเซียม-137 ที่ถูกลักลอบนำไปหลอมว่า ทราบจากข่าวว่าตัวซีเซียม-137 ถูกหลอมไปแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าไม่มีสารกัมมันตรังสีถูกปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อม


อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าในส่วนของตะกรันเหล็กที่ถูกหลอม และตัวกรองที่ดักอยู่บนปล่องนั้นสามารถดักสารต่างๆ ได้หมดหรือไม่ เพราะเมื่อมีการเผาสารต่างๆ ก็จะลอยขึ้นสูง พอเย็นตัวลงอาจตกลงสู่สภาพแวดล้อม จึงต้องมีการติดตามสำรวจสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนในดินในรัศมี 5 กม. เพื่อยืนยันให้ประชาชนมั่นใจว่ามีการกระจายตัวของสารกัมมันตรังสีหรือไม่


นายสุเมธากล่าวว่า ทั้งนี้ คพ.ไม่ได้ดูแลในเรื่องสารกัมมันตรังสีโดยตรง แต่ดูในเรื่องการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่ง คพ.มีเครื่องมือตรวจวัดสารกัมมันตรังสีและสามารถเข้าไปช่วยตรวจได้ เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชน ถ้าไม่เกินค่าที่มีในธรรมชาติก็ถือว่าปลอดภัย


สิ่งสำคัญวันนี้คือต้องติดตามว่าตัวตะกรันเหล็กที่ได้จากการเผา และตัวกรองดักสารกัมมันตรังสีอยู่ที่ไหน ซึ่งส่วนนี้อาจจะมีการปนเปื้อนมากที่สุด จึงต้องติดตามตรวจสอบไม่ให้ออกไปสู่สภาพแวดล้อม

------------

วานนี้ (20 มี.ค.) อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยโพสต์ข้อความระบุ “หายนะแท่งซีเซี่ยมถูกหลอมในโรงงานหลอมเหล็ก มีทั้งฝุ่นที่ปล่อยออกจากปล่องควัน ฝุ่นแดงในถุงกรองอากาศขี้เถ้าหนัก รวมทั้งฝุ่นในโรงงาน คืออนุภาคซีเซี่ยมที่ปล่อยรังสีแกมมาและเบต้าออกมา คือสารก่อมะเร็ง ในอากาศ ในพืช ผัก ผลไม้ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รัศมีอย่างน้อย 5 กม.ระยะยาวอาจมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ”


นอกจากนี้ ดร.สนธิ ได้อธิบายกระบวนการและผลกระทบ ระบุ ถ้าแท่งโลหะที่บรรจุ Cs137 ถูกหลอมรวมกับเศษเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กแล้วผลกระทบที่ตามมาคือ


1.ฝุ่นขนาดเล็กของ Cs137 ที่ปล่อยออกมาจากปลายปล่อง จะกระจายสู่บรรยากาศและตกลงสู่แหล่งน้ำ ดินที่อยู่รอบ ๆโรงงานและเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหาร ได้แก่ ผัก ผลไม้ อาหาร จากแหล่งน้ำใกล้เคียง และอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้น


รวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย บางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ และบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซม คือเป็นมะเร็งนั่นเอง


2.หากโรงงานหลอมเหล็กมีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษทางอากาศ เช่น Baghouse Filter โดยจะทำการกรองฝุ่นเหล็กขนาดเล็กที่ปนเปื้อนสาร Cs137 หรือที่เรียกว่าฝุ่นแดงไว้ในถุงกรองในปริมาณมาก ซึ่งโรงงานหลอมเหล็กจะขายฝุ่นแดงดังกล่าวให้กับโรงงานประเภท 106 นำไป Recycle เพื่อสกัดเอาธาตุสังกะสีไปใช้ ซึ่งจะทำให้สาร Cs137 แพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น และเกิดอันตรายต่อประชาชนและระบบนิเวศ


3.เมื่อเข้าเตาหลอมแล้วส่วนหนึ่งจะกลายเป็นขี้เถ้าหนัก (Bottom ash) โดยจะมีอนุภาคของสาร Cs137 ปนเปื้อนในเถ้าหนักด้วย หากโรงงานนำไปฝังกลบใต้ดินก็อาจปนเปื้อนน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำต่อไป


4.เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย (PPE) เพื่อป้องกันการได้รับรังสีและทำการตรวจการปนเปื้อนของสาร Cs137 ภายในโรงงานทุกบริเวณ เช่น เถ้าหนัก ฝุ่นแดง กองเหล็ก เตาหลอม ดินและแหล่งน้ำและฝุ่นละอองในโรงงาน เป็นต้น รวมทั้งต้องตรวจหารังสีปนเปื้อนที่ตัวพนักงานทุกคนด้วย


อาจารย์สนธิ เปิดเผยกับทีมข่าวเพิ่มเติมว่า ซีเซียม 137 เป็นวัตถุกมันตภาพรังสีที่อันตราย มีอายุ 30 ปี กว่าจะสลายหมดไปเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว สำหรับซีเซียม 137 อยู่ในแท่งเหล็กมีตะกั่วหุ้มถ้าไม่นำออกมาก็ไม่เป็นอะไร พอถูกหลอมซึ่งมีการนำไปรวมกับเศษเหล็กทั้งหลาย ก่อนนำเข้าเตาหลอมขนาดใหญ่ อุณหภูมิ 1200 องศาเซลเซียส เพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำเหล็ก  


ขณะทำการหลอมฝุ่นเบาจะลอยขึ้นไปในอากาศ ปล่อยออกจากปลายปล่อง  ถึงแม้ไม่เกินมาตรฐานของกรมโรงงาน แต่มีอนุภาพของซีเซียมปะปนกับฝุ่นขนาดเล็กคล้าย ๆ pm 2.5 ลอยไปด้วย ถ้าฝนตกลงมาก็ชะลงดิน น้ำใต้ดิน ถ้าลมพัดก็ลอยไปไกล ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมแน่นอน ตอนหลอมฝุ่นมันกระจายออกไปหมดแล้ว


กระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จะต้องตรวจสอบประชาชนที่อยู่รอบ ๆ รัศมี 5 กม.ว่าใครมีอาการเจ็บป่วยอย่างไร ต้องนำเครื่องวัดกัมมันภาพรังสีไปตรวจ เก็บน้ำไปตรวจอย่างน้อย 5 ปี ในรัศมี 5 กม. ตรวจวันนี้บอกว่าไม่มีมันไม่ใช่ คนที่อันตรายที่สุดคือพนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงหลอม ตอนอัดเป็นก้อนก็ได้รับสารอันตรายแล้ว จะมาควบคุมตอนนี้มันไม่ทันกระออกสู่สิ่งแวดล้อมไปแล้ว มันไม่ใช่  pm 2.5 มันคือกัมมันตภาพรังสี พอเข้าร่างกายมันปล่อยรังสีออกมาทำให้เปลี่ยนพันธุกรรม


“เขาคิดว่ามันอยู่ในระบบปิด จะปิดได้ยังไงมันออกไปอยู่แล้ว มันออกทางปลายปล่อง ฝั่งอยู่รอบ ๆ โรงงาน ต้องเอาความจริงมาพูด ถ้าไม่ให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนเขาก็จะประมาท บอกไม่มีปัญหา รู้ได้ยังไงไม่มีปัญหา ทางวิชาการมันมีปัญหาเยอะกังวลกัน ถ้าไม่มีปัญหาแล้วคุณจะหาทำไม ไม่อันตรายจะมาควานหาทำไม อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปหา หากันมากี่วันแล้ว แสดงว่ามันมีผลกระทบเยอะ ในเชิงวิชาการเขารู้กัน ฉะนั้น ต้องให้ความจริงแก่ประชาชน ต้องให้ความรู้กับประชาชน รูปใบพัด 3 ใบ คือกัมมันตภาพรังสี การนำรังสีไปใช้ในโรงงานสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ต้องบอกวิธีการปฏิบัติ ดูเรื่องความปลอดภัยให้มากกว่านี้”


ในการแถลงบอกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบนั้น อาจารย์สนธิ ระบุว่า “เพราะตอนนี้ก็ยังไม่เจอไง มันใช้ระยะเวลา มันมีผลแน่นอน  บอกประชาชนอย่าตื่นตระหนกแต่ราชการต้องตื่นตะหนก เป็นเรื่องหน่วยราชการต้องดูแลประชาชน การแถลงข่าวเหมือนจะปิดบังประชาชน ยิ่งพูดยิ่งทำให้เกิดความน่าสงสัย เขาน่าจะรู้ตั้งนานว่าถูกหลอมแล้วแต่ไม่ยอมพูด ไม่ยอมบอกหรือไม่”


อาจารย์สนธิ ยังกล่าวอีกว่า ซีเซียม-137 ที่สูญหายไปเป็นความเป็นโรงงานแน่นอนเพราะไม่ปฏิบัติตามใบอนุญาตที่ต้องดูแลรักษาให้ดี ใครเจ็บป่วยฟ้องโรงงานได้ หน่วยงานราชการต้องมาตรวจสอบทุกปี ปล่อยจนสนิมขึ้นขนาดนั้นมันพร้อมที่จะแตกตลอดเวลาทำไมไม่เปลี่ยน หน่วยราชการที่มาตรวจสอบทำไมไม่บอก เข้าใจว่าเอกชนคงไม่อยากเสียตังค์ใช้ไปเรื่อย ๆ จนหมดอายุ แสดงว่าหน่วยราชการไม่มาตรวจสอบเลยหรือไม่


ทั้งนี้คนที่นำแท่งเหล็กซีเซียม 137 ออกไป รวมถึงโรงหลอมถือว่าครอบครองวัถถุอันตรายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ขณะเดียวกันประชาชนสามารถฟ้องหน่วยราชการได้ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเป็นหน่วยงานอนุญาตแต่ไม่มาตรวจสอบ ใครเจ็บป่วยฟ้องสำนักงานปรามณูเพื่อสันติ ได้

------------

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/1MAZAI9nuKA


แท็กที่เกี่ยวข้อง  ซีเซียม-137 ,อ.ศรีมหาโพธิ ,คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ,วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ,พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ,กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ,นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ,กรมควบคุมมลพิษ ,สารกัมมันตรังสีรั่ว ,ปราจีนบุรี ,สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ,ฝุ่นแดง ,สุเมธา วิเชียรเพชร ,สนธิ คชวัฒน์

คุณอาจสนใจ

Related News