สังคม

'บิ๊กป้อม' สั่งตรง ก.สิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาฝุ่นเร่งด่วน - 'หมอนิธิพัฒน์' เสนอควรมี 'ห้องปลอดฝุ่นชุมชน'

โดย nattachat_c

10 มี.ค. 2566

40 views

วันที่ 7 มี.ค. 2566 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้พิจารณาประกาศปิด ควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากไฟป่า จำนวน 88 แห่ง


โดยเป็นอุทยานแห่งชาติ มากที่สุด 43 แห่ง รองลงมาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 22 แห่ง ถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้ หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย


นอกจากนี้ บทลงโทษสำหรับการลักลอบเผาป่าเขตอุทยานฯ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ มีแนวทางลงโทษตั้งแต่สถานเบาไปจนถึงสถานหนัก เริ่มตั้งแต่การตักเตือนจนถึงขั้นดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยบทลงโทษของบุคคลใดที่เผาป่าในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 - 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

-------------

วานนี้ (9 มี.ค. 66) พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พื้นที่ชุมชนเมือง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประสานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจ ด้วยการสื่อสารเชิงรุก รวมทั้งยกระดับปฏิบัติการ และสร้างการมีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหาเร่งด่วนใน 3 พื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร ใน 7 มาตรการ โดย


1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่วนหน้าภาคเหนือ

2. สร้างเครือข่ายชุมชนปลอดคนเผาในพื้นที่เสี่ยง

3. กำหนดมาตรการนำรถเก่าออกจากระบบ ทดแทนด้วยรถใหม่มลพิษต่ำ

4. ย้ำสั่งการเข้มและขอความร่วมมือ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กำชับ จังหวัดออกประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่

5. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือ โรงงานลดกำลังการผลิตในภาวะเสี่ยงและงดรับพืชเกษตรที่มาจากการเผา

6. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอให้พิจารณาปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อมีโอกาส

7. ให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแลให้คำแนะนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ

-------------

วานนี้ (9 มี.ค .66) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า


ตั้งแต่ช่วงต้นปี มีผู้ป่วยที่เข้ามารับการตรวจรักษาโรคระบบหายใจ เฉลี่ยวันละ 40-50 ราย ซึ่งทุกรายมี ปัญหาสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วย ซึ่งมีโรคประจำตัวเดิม เช่น โรคปอด / โรคหัวใจ / โรคสมอง / โรคถุงลมโป่งพอง เข้ามาตรวจรักษาเนื่องจากอาการโรคกำเริบ มีทั้งหอบเหนื่อย ไอเป็นเลือด


อีกครึ่งเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป ที่มีอาการป่วย เช่น ระคายเคืองตา / อาการแสบคอ / มีเสมหะ อาการคล้ายหวัด / มีผื่นผิวหนัง

กลุ่มที่จะต้องกังวล หากได้รับผลกระทบจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 คือ มี 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว

เนื่องจาก ในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ฝุ่นมันเป็นปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้อาการโรคกำเริบ และมีอาการรุนแรง


2. กลุ่มเด็กเล็ก

ร่างกายยังเจริญเติบโตเต็มที่ มีอัตราการหายใจที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ กลไกการป้องกันตนเองยังต่ำ จึงมีโอกาสที่จะได้รับฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย อาจมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจในระยะยาว 10 ปี จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของปอดที่ อาจทำงานได้ไม่เต็ม 100 เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ อาจทำให้เกิดการเหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนแอกว่าที่ควรจะเป็น


ส่วนข้อกังวลด้านสุขภาพในระยะยาวสำหรับประชาชนทั่วไป โดยในขณะนี้ประเทศไทยในกลุ่มนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล สถานการณ์ฝุ่นกับผลกระทบสุขภาพมาได้กว่า 5 ปีแล้ว


เบื้องต้นพบว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ซึ่งยังต้องมีการศึกษาเก็บข้อมูลอีกระยะหนึ่งเพื่อความชัดเจน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ของฝุ่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และสถานการณ์ของฝุ่นในปัจจุบัน มีระยะเวลานานเฉลี่ย 4-6 เดือน ต่อปี ขณะที่ฝุ่นสะสมก็มีค่าสูงเกินมาตรฐาน ปริมาณที่เกิดปัญหามากขึ้น


ด้านมาตรการของหน่วยงานรัฐในแต่ละพื้นที่ เสนอให้มีห้องปลอดฝุ่นชุมชนเพื่อให้กลุ่มเสี่ยงเช่น ผู้มีโรคประจำตัวผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ใช้เป็นที่หลบในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นมีค่าสูง เนื่องจาก การจัดหาเครื่องกรองฝุ่นเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือน ในลักษณะรัฐสวัสดิการ ควบคู่ไปกับมาตรการด้านการควบคุม และลดต้นต่อการเกิดฝุ่นที่ต้นเหตุ
-------------

รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/kHNBwMuVtR0



คุณอาจสนใจ

Related News