สังคม

กอนช.ยืนยัน ไม่ได้บริหารน้ำผิดพลาด เผย มีแผนรองรับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว

โดย kanyapak_w

25 ต.ค. 2565

161 views

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กอนช. แถลงข่าวสถานการณ์น้ำและแผนจัดการมวลน้ำ เปิดเผยว่า ในปี 2565 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ จำนวน 3 ลูก ได้แก่ พายุมู่หลาน หมาอ๊อน และโนรู รวมถึงได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำบริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงหนือ กลางและตะวันออก ส่งผลให้ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศในช่วง 1 ม.ค. – 22 ต.ค. 65 มีปริมาณถึง 1,775 มิลลิเมตร (มม.) ซึ่งมากกว่าค่าปกติ 21% แต่ น้อยกว่าเมื่อปี 2554 อยู่เพียง 3 มม. หรือคิดเป็น 0.2% เท่านั้น




โดยสำหรับปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ณ สถานี C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำสูงสุด 3,105 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที น้อยกว่าเมื่อปี 2554 จำนวน 1,584 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่ง กอนช. ได้บริหารจัดการตามเกณฑ์ความปลอดภัยของเขื่อนเจ้าพระยาและหลักเกณฑ์การบริหารน้ำเพื่อความปลอดภัยเขื่อนและให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ + 17.50 ถึง + 17.70 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เพื่อลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันออก และลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ก่อนลงสมทบแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งลดการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตก เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ในทุ่ง หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ก่อนออกอ่าวไทย ควบคุมปริมาณน้ำ สถานี C.29A (บางไทร) ประมาณ 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาทีเพื่อบริหารความเสี่ยง ปริมาณน้ำ ไม่เกิน 3,500 ลบ.ม. ต่อวินาที




ทั้งนี้ สาเหตุที่ระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้น้อยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเกิดจากปัญหาต้นคลองใหญ่ในขณะที่ปลายคลองมีขนาดเล็ก โดยสำหรับคลองชัยนาท – ป่าสัก มีความจุต้นคลอง 210 ลบ.ม. ต่อวินาที และปลายคลอง 120 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งบริเวณปลายคลองมีน้ำท่วมอยู่แล้วจากปริมาณฝนตกในพื้นที่ รวมทั้งมีปริมาณน้ำท่า (Side Flow) มาเติม 
จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำลงด้านท้ายของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ทำให้เกินศักยภาพของคันกั้นน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้บางจุดเกิดน้ำล้นคลองและคันคลองขาด ไม่สามารถใช้ในควบคุมน้ำได้ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาในบางจุดที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยินยอมให้มีการเสริมคันกั้นน้ำ ซึ่งส่งผลให้น้ำหลากแผ่กว้างในหลายพื้นที่มากขึ้นด้วย




“สำหรับสถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำปิงและน่าน รวมถึงปริมาณฝนในพื้นที่ลดลง โดยคาดว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเข้าสู่สภาวะปกติช่วงกลางเดือน พ.ย. 65 เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี - มูล จะเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเดียวกัน โดยคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ กอนช. ได้เตรียมพร้อมการดำเนินการภายหลังน้ำลด โดยมีการประเมินและชี้เป้าพื้นที่ที่ระดับน้ำลดลงและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ พร้อมทั้งอำนวยการ และประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันควบคุมป้องกัน แก้ไข ระงับหรือบรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ” ดร.สุรสีห์ กล่าว




ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นในเรื่องการผันน้ำไปยังกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันตก จะมีการรับน้ำผ่านคลองทวีวัฒนา เพื่อรับน้ำจากทุ่งผักไห่ เจ้าเจ็ด ระบายผ่านโครงการพระยาบันลือ และพระพิมล ในขณะที่ฝั่งตะวันออก
มีการรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำ รอยต่อระหว่างพื้นที่ชลประทานและ กทม. ซึ่งมีเกณฑ์การรับน้ำเข้า กทม. และในส่วนข้อกังวลว่าในปีนี้ พื้นที่ กทม. และปริมณฑล จะเสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่นั้น ปัจจุบันทั้งปริมาณน้ำเหนือและน้ำฝนลดลงแล้ว ส่งผลให้มีการลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และควบคุมปริมาณน้ำ ณ สถานี C.29A (บางไทร) ให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาที อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหนุนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือน ต.ค. – ต้นเดือน พ.ย. 65 ด้วย ซึ่ง กอนช. จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าสถานการณ์ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะคลี่คลายในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้



พร้อมกันนี้ ได้เตรียมแผนการฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยหลังน้ำลดในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ ช่วงวันที่ 25 ต.ค  – 15 พ.ย. 65 จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี ช่วงวันที่ 1 พ.ย. 65 – 30 พ.ย. 65 จ.อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี และช่วงวันที่ 15 พ.ย.  –  30 ธ.ค. 65 จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม โดยจะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูให้ทุกพื้นที่กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วที่สุด




สรุป สถานการณ์น้ำในปี 2565 หากเทียบแล้วมีปริมาณฝนเกือบใกล้เคียงกับปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่แต่จากแผนและการเตรียมความพร้อมทำให้ในปีนี้สามารถลดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมลงเมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 16 ล้าน ไร่ขณะที่ในปี 2565 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบเพียง 5.3 ล้านไร



ทางดร.สุรสีห์ ยืนยันที่ผ่านมาการบริหารจัดน้ำดำเนินการภายใต้แผนและมาตรการที่ได้หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบนพื้นฐานข้อมูล ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไม่ใช่การบริหารที่ผิดพลาดตามที่หลายฝ่ายกล่าว แต่อาจมีบางจุดที่เกิดจากความผิดพลาดที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกรณีการเกิดคั้นกันแตก ซึ่งก็ได้เร่งเข้าไปซ่อมแซมแก้ไข




ส่วน ประเด็นที่ถูกมองว่ามีการกั้นน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่กรุงเทพมหานครทำให้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทองกลายเป็นจุดรับน้ำ




เรื่องนี้ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ตามข้อมูล พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เป็นจุดที่เกิดน้ำท่วมอยู่เดิม เมื่อมีปริมาณฝนตกเยอะ พื้นที่ลุ่มก็เกิดน้ำท่วมขังซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายได้เร่งการระบายน้ำจากพื้นที่ โดยการผันน้ำออกทั้งซ้าย ขวา แบ่งระบายไปฝั่คลองพระยาพิมล คลองเจ้าเจ็ด รวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้เองการระบายของน้ำก็เป็นตามกลไกธรรมชาติและเพิ่มกำลังเครื่องสูบน้ำเข้าไปหลายจุด




ส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครเองนั้นยังต้องมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงปลายเดือนตุลาคมแต่ความกังวลเรื่องน้ำท่วมขังจากฝนน่าจะลดลง เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว



อย่างไรก็ตามแผนในช่วง 1-2 ปีนี้จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทำแก้มลิงรับน้ำ เหนือเขื่อนเจ้าพระยา คลอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เช่น จังหวัดสุโขทัย/พิษณุโลก/กำแพงเพชร/นครสวรรค์อุทัยธานี เป็นต้น ตั้งเป้าเป็นพื้นที่รองรับน้ำได้มากถึง 1,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร




และฝั่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในลุ่มน้ำมูลลุ่มน้ำชี ด้วย คาดหากสามารถดำเนินการได้จะลดความเสียหายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้



คุณอาจสนใจ

Related News