สังคม

เตือนภัย "โรคไข้ดิน" ระบาด อ.เทพา พบ 6 เดือนที่ผ่านมา ป่วย 7 ราย ดับ 5 ราย

โดย kanyapak_w

17 ต.ค. 2565

9.6K views

พบผู้ป่วยโรคไข้ดินในพื้นที่ 6 ตำบล ของ อ.เทพา จ.สงขลา จำนวน 7 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย ทางเครือข่ายสาธารณสุขอำเภอเทพา เร่งลงพื้นที่รณรงค์ป้องกันทันที เพื่อยับยั้งการระบาด และเก็บตัวอย่างดินและน้ำไปตรวจวิเคราะห์




วันที่ 17 ต.ค. 65 ที่ อ.เทพา จ.สงขลา ทางเครือข่ายสุขภาพอำเภอเทพา จ.สงขลา นำโดย นายวีรศักดิ์ เบญอะหลี สาธารณสุขอำเภอเทพา นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ออกรณรงค์ป้องกัน "โรคเมลิออยด์โดสิส" หรือ "โรคไข้ดิน" หลังจากที่พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้ในอำเภอเทพาตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนตุลาคม ปีนี้ จำนวน 7 ราย และในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย




ประกอบด้วย พื้นที่ ต.เกาะสะบ้า 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย , ต.ท่าม่วง 1 ราย เสียชีวิต , ต.เทพา 1 ราย เสียชีวิต , ต.ลำไพล 1 ราย เสียชีวิต , ต.ปากบาง 1 ราย เสียชีวิต และ ต.วังใหญ่ 1 ราย




และในวันนี้ทางเครือข่ายสุขภาพอำเภอเทพา ได้ปูพรมออกรณรงค์ครั้งใหญ่ เพื่อให้ประชาชนตื่นตัว และรู้วิธีการป้องกันจากการป่วยด้วยโรคไข้ดินโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 6 ตำบล ที่พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้ เพื่อยับยั้งการระบาดโดยเร็วที่สุด




โดยลงพื้นที่พบกับประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งที่ทำไร่ ทำนา ทำสวน และประชาชนที่อยู่ตามหมู่บ้าน เพื่อให้ความรู้ และวิธีการป้องกันโรคนี้




นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างดินและน้ำในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า มีเชื้อของโรคเมลิออยด์โดสิส หรือ โรคไข้ดิน ปนเปื้อนหรือไม่




นายวีรศักดิ์ เบญอะหลี สาธารณสุขอำเภอเทพา เผยว่า สำหรับโรคเมลิออยด์โดสิสเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบาดในประเทศไทย ไม่มีอาการแสดงที่จำเพาะ ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้สูงเพียงอย่างเดียว หรือมีไข้สูงและช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยไม่มีอาการจำเพาะที่อวัยวะใดๆ และเสียชีวิตในเวลอันรวดเร็ว โดยมีระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ 2 วัน ถึงนานหลายปี



ส่วนสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei (เบอร์คโฮลแดเรียซูโดแมลีอาย) ที่พบได้ทั่วไปในดินและน้ำในแหล่งระบาด และพบได้บ่อยที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเชื้อแบคทีเรียจะมีวิธีการติดต่อเข้าสู่ร่างกายคนโดยผ่านทางผิวหนัง โดยไม่จำเป็นต้องมีรอยขีดข่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานานๆ หรือการดื่มน้ำที่ไม่ได้ผ่านการต้มสุก รวมทั้งผ่านทางการหายใจ โดยการหายใจฝุ่นดินที่มีเชื้อเข้าไปในปอด



สำหรับวิธีการป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากต้องสัมผัสดินหรือน้ำ เช่น ทางการเกษตร จับปลา ลุยน้ำ หรือลุยโคลน ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว สวมหน้ากากอนามัย หรือชุดลุยน้ำ รวมทั้งหลังเสร็จจากการลุยน้ำ ก็ให้ทำความสะอาดร่างกาย และฟอกสบู่ทันที ส่วนกรณีหากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรรีบทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ ไม่ใส่ดินหรือสมุนไพรใดๆ ลงบนแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะหายสนิท และควรดื่มน้ำต้มสุก






คุณอาจสนใจ

Related News