สังคม

กอนช.เตือน 4 จังหวัดระวังระดับน้ำ แม่น้ำป่าสัก-เจ้าพระยา เพิ่มสูง

โดย kanyapak_w

4 ต.ค. 2565

1.3K views

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยแพร่ประกาศ ฉบับที่ 47/2565 เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุว่า




จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม 2565 อิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล




กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ในช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม 2565 ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยจะทยอยปรับเพิ่มจากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับการปรับเพิ่มในอัตราดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร และบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.60 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.50 เมตร ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และส่งผลให้เกิดน้ำอัดเท้อไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อยทำให้ระดับแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งได้หน่วงน้ำโดยการผันน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำเต็มความจุแล้ว และมีน้ำหลากจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจากจังหวัดชัยนาทถึงสมุทรปราการ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อำเภอเมืองชัยนาท และมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร




ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

๑. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ

๒. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

๓. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิง หน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทานในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานีให้เตรียมป้องกันน้ำระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่

๔. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า



รายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เวลา 08.00 น.


 พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังในระยะสั้น

>> ภาคเหนือ จ.อุทัยธานี (อ.เมืองฯ ทัพทัน บ้านไร่ ห้วยคต หนองฉาง ลานสัก หนองขาหย่าง)

>> ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี (อ.เมืองฯ ทองผาภูมิ ไทรโยค บ่อพลอย เลาขวัญ หนองปรือ) ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง บ้านคา ปากท่อ) ชัยนาท (อ.เมืองฯ หันคา วัดสิงห์) สุพรรณบุรี (อ.ด่านช้าง) ชลบุรี (อ.สัตหีบ) ระยอง (อ.เมืองฯ บ้านค่าย) ตราด (อ.คลองใหญ่) ปทุมธานี (อ.ธัญบุรี คลองหลวง ลำลูกกา) นนทบุรี (อ.เมืองฯ ปากเกร็ด) สมุทรปราการ (อ.เมืองฯ บางพลี บางเสาธง พระประแดง) เพชรบุรี (อ.ท่ายาง ชะอำ บ้านลาด) ประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน) และกรุงเทพมหานคร



พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

>> ภาคเหนือ จ. เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ) ลำพูน (อ.เมืองฯ ลี้ แม่ทา บ้านโฮ่ง ป่าซาง) อุตรดิตถ์ (อ.เมืองฯ ท่าปลา พิชัย ทองแสนขัน) แพร่ (อ.เมืองฯ เด่นชัย วังชิ้น สูงเม่น) น่าน (อ.บ้านหลวง นาน้อย) สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสัชนาลัย ศรีสำโรง) พิษณุโลก �(อ.บางระกำ) พิจิตร (อ.สามง่าม วชิรบารมี ดงเจริญ ทับคล้อ บึงนาราง บางมูลนาก) เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ วิเชียรบุรี ศรีเทพ หล่มสัก บึงสามพัน หนองไผ่) ตาก (อ.เมืองฯ สามเงา บ้านตาก แม่ระมาด) และนครสวรรค์ (อ.เมืองฯ หนองบัว พยุหะคีรี ท่าตะโก ไพศาลี โกรกพระ ตาคลี ลาดยาว ชุมแสง)



>> ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย (อ.เมืองฯ) ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ คอนสวรรค์ เนินสง่า จัตุรัส เกษตรสมบูรณ์ บ้านเขว้า ภูเขียว หนองบัวแดง บ้านแท่น  บำเหน็จณรงค์ หนองบัวระเหว) ขอนแก่น (อ.เมืองฯ ชนบท ชุมแพ น้ำพอง มัญจาคีรี) มหาสารคาม (อ.เมืองฯ โกสุมพิสัย) ร้อยเอ็ด (อ.จังหาร เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง เสลภูมิ) ยโสธร (อ.มหาชนะชัย) นครราชสีมา (อ.เมืองฯ จักราช พิมาย ลำทะเมนชัย สูงเนิน) บุรีรัมย์ (อ.คูเมือง  บ้านด่าน พุทไธสง สตึก เฉลิมพระเกียรติ นางรอง ปะคำ บ้านกรวด กะสัง ชำนิ ลำปลายมาศ) สุรินทร์ (อ.จอมพระ ท่าตูม) ศรีสะเกษ (อ.เมืองฯ ห้วยทับทัน ราษีไศล อุทุมพรพิสัย กันทรารมย์ ยางชุมน้อย วังหิน ภูสิงห์ น้ำเกลี้ยง) และอุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ เขื่องใน สว่างวีระวงศ์ เดชอุดม ดอนมดแดง สำโรง พิบูลมังสาหาร ตระการพืชผล)



>> ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี (อ.เมืองฯ ทองผาภูมิ สังขละบุรี ท่าม่วง ท่ามะกา ไทรโยค) ชัยนาท (อ.เมืองฯ วัดสิงห์ มโนรมย์ หันคา สรรพยา) สิงห์บุรี (อ.อินทร์บุรี เมืองฯ พรหมบุรี) ลพบุรี (อ.ชัยบาดาล) อ่างทอง (อ.เมืองฯ ป่าโมก วิเศษชัยชาญ ไชโย) พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา ผักไห่ บางบาล บางไทร บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ท่าเรือ) ปทุมธานี (อ.เมืองฯ สามโคก) ปราจีนบุรี (อ.เมืองฯ กบินทร์บุรี ศรีมหาโพธิ ประจันตคาม) และสระแก้ว (อ.เมืองฯ)



พื้นที่เฝ้าระวังดินถล่ม

>> ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี)

???? ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะบริเวณที่น้ำท่วมสายไฟฟ้า เสาไฟฟ้า หรือวัตถุสื่อนำกระแสไฟฟ้า และระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทาง รวมถึงควรงดการท่องเที่ยวในพื้นที่ถ้ำที่มีน้ำท่วมขัง และน้ำตกที่น้ำไหลเชี่ยว

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังดินถล่ม ควรหลีกเลี่ยงการอยู่อาศัยและทำกิจกรรมบริเวณที่ลาดเชิงเขา สายด่วน 1784







คุณอาจสนใจ

Related News