สังคม

ลำบากเหลือเกิน! ชาวอยุธยาทนทุกข์ น้ำท่วมบ้านนาน 2 เดือน วอนกรมชลฯ ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง บรรเทาความเดือดร้อน

โดย petchpawee_k

4 ต.ค. 2565

157 views

ชาวเสนาอยุธยา ขอกรมชลฯ ปล่อยน้ำเข้าทุ่งบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ลั่น “ลำบากเหลือเกินระบายไปที่อื่นบ้าง” เคยรวมตัวประทวงรับปากจะปล่อยน้ำแต่ก็ไม่ปล่อย ทนทุกข์บ้านถูกน้ำท่วม 2 เดือนกว่าสูงเท่าปี 64 “อยากรู้ทำไมกรมชลฯ ไม่ยอมปล่อยน้ำ”

วานนี้ (3 ต.ค.) สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรียุธยา ยังหนักระดับน้ำเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบกับประชาชนวงกว้างใช้ชีวิตลำบาก ทีมข่าวลงพื้นที่บ้านกระทุ่ม หมู่  2 ตำบลบ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมทั้งหมด ชาวบ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าน้ำมาเร็วมาก ระดับน้ำสูงเกือบ 2-3 เมตร เก็บของไม่ทัน จึงได้รับความเสียหายมากกว่าเมื่อปี 2564 บางบ้านเกือบมิดหลังคา


บางบ้านยกของไว้ที่สูงไม่ทัน บางบ้านยังไม่ทันได้เตรียมยาเรือ หรือจัดหาเรือไว้ใช้ช่วงน้ำท่วม ทำให้ต้องต่อแพกระดานไว้ใช้งาน บางบ้านมีเรือเป็นของตังเองก็ใช้พายเข้าออกบ้าน บางคนต้องนอนเต็นท์ริมทาง ขนข้าวของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ไปจอดบนถนนเนื่องจากน้ำท่วมนานจะ 3 เดือนแล้ว


ชาวตำบลบ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา รายหนึ่งพายเรือออกจากบ้าน มาขนน้ำดื่มเป็นแพ็คซึ่งฝากเพื่อนบ้านซื้อตุนไว้อุปโภคบริโภค กล่าวว่า “ทำไมไม่ระบายน้ำไปที่อื่นบ้าง อยู่ตั้งแต่เล็กจนโตไม่เคยเจอน้ำเยอะขนาดนี้ ระดับน้ำสูงเท่าปี 64 อยากให้ปล่อยน้ำเข้าทุ่งบ้าง ไม่ปล่อยให้ที่อื่นรับน้ำบ้าง ตนเข้าใจว่าอำเภอเสนา เป็นพื้นที่รับน้ำ แต่น้ำมันเยอะเกินไป ถ้ากรมชลประทานปล่อยน้ำเข้าทุ่ง น้ำก็จะยุบ เปิดประตูระบายน้ำ 15-20 เซ็นฯ มันระบายไม่เต็มที่ ขอให้น้ำลดลงบ้างไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย”


ชาวบ้านอีกราย บอกว่า ลำบากเหลือเกิน อยากให้ช่วยปล่อยน้ำไปที่อื่น สิ่งของอะไรไม่อยากได้หรอก ทุกวันนี้ลูกไปทำงานก็ลำบาก ได้ข่าวว่าทางการจะปล่อยน้ำเข้าทุ่งแต่ก็ไม่เป็นปล่อยสักที จนชาวบ้านทนไม่ไหวเคยรวมตัวประท้วงกรมประทาน บางทุ่งแทบไม่มีน้ำ แต่ชุมชนของตนรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ของอยุธยาเต็มไปด้วยมวลน้ำ บ้านเรือนถูกน้ำท่วมเสียหาย ทุกวันนี้ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านท่ามกลางน้ำท่วม ไม่รู้จะไปอยู่ไหนไม่อยากทิ้งบ้าน


ชาวบ้านชุมชนช่างเหล็ก ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเสนา กล่าวว่า เห็นบอกจะเป็นประตูระบายก็ไม่เป็นเปิด ชาวบ้านสอบถามไปยังชลประทานได้คำตอบว่าต้องประชุมลงมติกันก่อน ถ้าไม่ระบายน้ำลงทุ่ง ชาวบ้านก็ต้องทนอยู่อย่างนี้เพราะน้ำไม่ลดเลย ท่วมถึงชั้นสอง ไม่มีไม้มาหนุนแล้ว อยากให้ปล่อยน้ำโดยเร็วเพราะชาวบ้านลำบาก บ้านเรือนจมน้ำ อยากจะรู้เหมือนกันทำไมกรมชลประทานไม่ยอมปล่อยน้ำ


นอกจากนี้ ทีมข่าวได้เข้าไปดูความเป็นของชาวบ้านอำเภอเสนา รายหนึ่ง เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง น้ำท่วมถึงชั้นสองครึ่งหน้าขา เจ้าของบ้านนำไม้มาหนุนพื้นให้สูง เพื่อยกข้าวของให้พ้นน้ำใช้เป็นที่หลับนอน เจ้าของบ้านขอร้องชลประทานช่วยระบายน้ำตอนนี้ลำบากมาก จะออกไปหาซื้ออะไรกินก็ลำบาก ที่บ้านมีเด็กกลัวตกน้ำ น้ำท่วม 2 เดือนกว่าแล้ว ชุมชนอยู่ติดแม่น้ำจะถูกน้ำท่วมก่อน กว่าน้ำจะแห้งก็ 3-4 เดือน มันไม่ไหว อยากให้เห็นใจชาวบ้านบ้าง

---------------------------------------------------------

ผู้ว่าฯ อยุธยา ทำหนังสือถึงกรมชลฯ ขอผันน้ำเข้าทุ่งทั้ง 7 ลดความเดือดร้อนของชาวบ้าน ด้านอธิบดีกรมชลฯ เผย เตรียมปล่อยน้ำเข้าทุ่ง 5 ต.ค.ในปริมาณที่เหมาะสม สทนช.แจ้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดพื้นที่ลุ่มต่ำประกาศเตือน ปชช. ยัน ระบายน้ำเข้าทุ่งน้อยไม่เกี่ยวโดนฟ้อง


วานนี้ (3 ต.ค) นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงอธิบดีกรมชลประทาน เรื่องพิจารณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ รายละเอียดระบุว่า ประชาชนอำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล ร้องเรียนต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำ ในพื้นที่อำเภอผักไห่ อ.บางบาล และ อ.เสนา โดยการระบายน้ำเข้าทุ่งทั้ง 7 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งบ้านแพน บางบาล ผักไห่ เจ้าเจ็ด บางกุ้ง บางกุ่ม และทุ่งเขตติดต่อป่าโมก

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้กรมชลประทานทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่รับน้ำ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่  


ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วานนี้ (3 ต.ค.) รับตำแหน่งวันแรก เปิดเผยว่า ฝนที่ตกลงมาและน้ำเหนือมีปริมาณมาก ส่งผลให้อยุธยาหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม ตนสั่งการให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทำคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น ส่วนการปล่อยน้ำลงทุ่งประชาชนถามกันมาเยอะ โดยทางจังหวัดได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทาน ขอความกรุณาเร่งรัดให้ปล่อยน้ำเข้าทุ่งให้เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนบริเวณทุ่งรับน้ำ แต่ละทุ่งจะปล่อยปริมาณเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับกรมชลประทาน กำหนด


อย่างไรก็ตามจะต้องเร่งระบายน้ำ เพราะชาวอยุธยาได้รับความเดือดร้อนมาก ถ้าสามารถระบายน้ำลงทั้งทุ่ง ทั้ง 7 ทุ่งได้ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ระดับน้ำเพิ่มขึ้นทุกวัน/ ทั้งนี้มีการระบายน้ำลงทุ่งบางส่วนแล้ว


เมื่อถามว่าปีนี้ระบายน้ำเข้าทุ่งน้อย เป็นเพราะปี 64 น้ำทุ่ง น้ำท่าเต็มทุ่ง กรมชลประทานถูกฟ้อง ปีนี้ก็เลยต้องระบายออกลำน้ำให้มากที่สุดหรือไม่ ผู้ว่าฯ อยุธยา ระบุว่า “ก็มีส่วน” แต่การปล่อยน้ำกรมชลประทานมีขั้นตอน จะปล่อยลงทุ่งไหนได้บ้าง ปริมาณเท่าไหร่


ทีมข่าวสอบถามไปยังนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบนและตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่เเม่น้ำสายหลัก (แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน) เพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะเเกกรัง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้น ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าระยะนี้จะยังคงมีฝนตกชุกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง


กรมชลประทาน จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน-น้ำท่า จึงได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและตะวันออก รวม 335 ลบ.ม./วินาที และควบคุมให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกินอัตรา 2,700 ลบ.ม./วินาที ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 45/2565 ทั้งนี้จะใช้ระบบชลประทานทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล และฝั่งตะวันออกระบายลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง และคลองชายทะล ระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด


 เมื่อถามอย่างอยุธยามีการปล่อยน้ำเข้าทุ่งบ้างหรือยัง ?  อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า พร้อมจะปล่อยน้ำเข้าทุ่งในวันที่ 5 ต.ค. นี้ ซึ่งทาง สทนช.ได้แจ้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้องให้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ ว่าจะมีการระบายน้ำเข้าทุ่งในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนในทุ่ง/ กรณีที่ผู้ว่าฯ ส่งหนังสือถึงตนให้เปิดประตูระบายน้ำนั้น ตนยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว อย่างไรก็ตามชลประทานได้มีการเตรียมความพร้อมเอาน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานและเข้าทุ่งตามความเหมาะสม


นักข่าวถามว่ากรมชลประทาน ไม่เปิดประตูระบายน้ำ ไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง เป็นเพราะเคยปล่อยน้ำเข้าทุ่งทำให้กรมชลประทานถูกฟ้องหรือไม่? อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานปฏิบัติตามภายใต้มติของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ดังนั้นกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องการระบายน้ำ จะต้องมีการขออนุญาต เรามีหลักเกณฑ์ ไม่ใช่ว่าคิดอยากจะทำอะไรก็ทำได้ สิ่งทำคัญที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินการคือสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่


นักข่าวถามย้ำว่าไม่เกี่ยวกับการฟ้องร้องใช่มั้ย?  อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า “เราปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขและมติ” / เมื่อถามว่าจริงหรือไม่ที่มีการการฟ้องกรมชลฯ  อธิบดีกรมชลประทาน อ้ำอึ้งตอบว่า “มันก็มีบ้าง” / ถามต่อว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร? อธิบดีกรมชลประทาน ตอบว่า “หลายเรื่องเช่นบริหารจัดการน้ำผิดพลาด” ไม่เกี่ยวเรื่องปล่อยน้ำเข้าทุ่ง และที่บอกว่าไม่กล้าปล่อยน้ำเข้าทุ่งเพราะบางส่วนเป็นบ่อทรายของเอกชนยิ่งไม่ใช่ ไม่มีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวเด็ดขาด

รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/oKksz0i3j4s

คุณอาจสนใจ

Related News