สังคม

เจ้าของเงินถูกดูดหายไป 1.4 ล้านเตรียมฟ้องแบงก์เรียกเงินคืน

โดย onjira_n

19 ก.ย. 2565

5.2K views

จากกรณีที่ นางนิส  อายุ 63 ปี ชาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง พร้อมด้วย น.ส.นิดา  อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นลูกสาว และ นางสาวศิริวรรณ  อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นลูกสะใภ้ ร้องเรียนผู้สื่อข่าวว่า ถูกมิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรแจ้งเรื่องค้างภาษี พร้อมแชตไลน์ส่งลิ้งค์อ้างเป็นลิงก์เว็บกรมสรรพากรเข้ามา ให้ น.ส.นิดา กดลิงก์เข้าไปตรวจสอบว่า มีการค้างภาษีหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงที่จะต้องยื่นจ่ายภาษี แต่เมื่อกดเข้าไปแล้วโทรศัพท์ค้างขึ้นหน้าจอเป็นสีฟ้า มีโลโก้กรมสรรพากร พร้อมข้อความว่า “668325 อยู่ระหว่างการทำการตรวจสอบชื่อนาม-สกุล ห้ามใช้งานโทรศัพท์” และโทรศัพท์ไม่สามารถทำอะไรได้อีก

จากนั้นปรากฎว่า ในเวลาและนาทีเดียวกันกับที่โทรศัพท์ค้าง ทำธุรกรรมใดๆ ไม่ได้อีกเลย ก็ปรากฎข้อความเงินถูกโอนออกจากบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 1,458,000 บาท และธนาคารกรุงไทย จำนวน 10,000 บาท รีบประสานติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร และเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ห้วยยอด ทราบเบื้องต้นว่าเงินถูกโอนเข้าบัญชีชื่อ น.ส.สุภาพร กุลอามาตย์ และทางธนาคารได้ทำการอายัดบัญชีแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ทันการณ์ เงินถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นๆ อย่างรวดเร็ว เมื่อผู้เสียหายเดินทางเข้าพบผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาห้วยยอด แต่ผู้จัดการธนาคารหลบหน้า ไม่ยอมออกมาพบ หรือแสดงความรับผิดชอบนั้น

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางครอบครัวผู้เสียหายทั้ง 3 คนนั้น ประกอบด้วย นางนิส  พร้อมด้วย น.ส.นิดา  ลูกสาว และนางสาวศิริวรรณ  ลูกสะใภ้ ได้นัดพบกับ นายไกรสร  ทนายความ และ นายยุทธนา  เจ้าหน้าที่ ปปช.ตรัง เพื่อให้ช่วยเหลือในการติดตามเงินกลับคืนมา โดยบอกว่าล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากธนาคาร และยังไม่มีความหวังว่าจะได้เงินคืน จึงปรึกษากับทนายความ ทั้งนี้ หลังเกิดเรื่องและเป็นข่าวออกไป ทางตำรวจก็ได้เรียกตัวไปสอบปากคำแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสิ้น และมีตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดตรัง เข้าไปสอบถามข้อมูลด้วย

นอกจากนั้น เมื่อเดินทางไปที่ธนาคาร สาขาห้วยยอด เพื่อขอพบกับผู้จัดการธนาคาร ไปครั้งแรกเจ้าหน้าที่บอกว่าผู้จัดการพักเที่ยง จึงไม่ได้พบ พอตอนบ่าย 2 ทางพนักงานโทรศัพท์มาแจ้งว่า ผู้จัดการมาแล้วให้เข้ามาได้ แต่พอเข้าไปปรากฏว่า ไม่ได้พบผู้จัดการอีก ทำให้ไปเสียเวลาเปล่า ทางเจ้าหน้าที่จึงให้โทรศัพท์ไปที่สายด่วนของธนาคารเพื่อแจ้งปัญหา แต่ไม่คืบหน้า ซึ่งพวกตนมองว่าทางธนาคารไม่คิดจะช่วยเหลือ หรือเป็นทุกข์ร้อนแทนลูกค้าเลย ทั้งๆ ที่ทางตนเองไม่ได้โอนเงินให้บุคคลอื่นไป แต่ทางธนาคารไม่มีระบบรักษาความเปลอดภัยที่ดี ทางธนาคารควรจะรับผิดชอบ

นางนิส  ผู้เป็นแม่บอกว่า เงินทั้งหมด 1.4 ล้านบาทเศษนั้น เป็นเงินที่ตนเองจะต้องนำไปหมุนเวียนซื้อหมูมาจำหน่าย ประมาณ 2 แสนบาท ส่วนที่เหลือเป็นของลูกสาวที่เก็บเงินไว้หวังจะเปิดร้านกิ๊ฟช๊อปอยู่กับบ้าน และบ้านก็ทำเสร็จแล้ว ซื้อชั้นวางของมาเตรียมไว้แล้ว แต่จากนี้ไปเงินหมุนเวียนซื้อหมูก็ไม่มี ต้องเอาหมูมาก่อน จ่ายให้ทีหลัง และไม่มีเงินลงทุนซื้อของใส่ร้านใหม่ ดังนั้น ทางธนาคารควรจะรับผิดชอบเงินทั้งหมด เพราะไม่ได้ทำธุรกรรมใดๆ ผ่านแอพธนาคาร เพราะขณะนี้ครอบครัวเดือดร้อนหนัก

ด้าน นายไกรสร ชูเพชร ทนายความ บอกว่า หลังจากรับฟังปัญหาแล้ว คิดว่าเงินจำนวนดังกล่าวที่ถูกดูดออกไปจากบัญชีของ นางนิส  นั้น ไม่ใช่เงินของลูกค้า แต่เป็นของธนาคาร เพราะทางลูกค้าไม่ได้เบิกถอนเงินเอง และยังไม่ได้ทำธุรกรรมใดๆ ผ่านลิงก์ที่ถูกส่งมา โดยหลักฐาน คือ หน้าจอมือถือค้าง ทำธุรกรรมใดๆ ไม่ได้ ในช่วงเวลาที่เงินถูกดูดผ่านแอปธนาคารที่ลูกค้าผูกไว้ ถือเป็นการโจรกรรมเงินผ่านลิงก์ปลอมที่อ้างว่าเป็นของกรมสรรพากร ซึ่งหากธนาคารมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ใครก็ไม่สามารถจะเจาะข้อมูลของธนาคารและดูดเงินไปได้ โดยหลังจากนี้ หากคุยกับธนาคารแล้วธนาคารไม่รับผิดชอบ ตนเองจะแจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งกับธนาคาร เพราะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 672 ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้าเราไม่ได้ทำนิติกรรมเบิกถอนเงินจากแบงค์ เท่ากับแบงค์นำเงินไปใช้ แบงค์ต้องรับผิดชอบ และแบงค์ก็ต้องไปดำเนินการกับคนที่ถอนไป และดำเนินคดีอาญาเอาเอง

ส่วน นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าหน้าที่ ปปช.ตรัง กล่าวเรียกร้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ลงมาดูแลเรื่องนี้ให้ชาวบ้าน เพราะข้อเท็จจริงที่พบคือ ประชาชนไม่ได้ทำนิติกรรมในการโอน ถอน หรือเอาเงินออกเอง ดังนั้น ธนาคารเอง ในเมื่อประชาชนไม่ได้เป็นคนโอน ถอน ก็ถือว่าธนาคารไม่มีสิทธิมาหักเงินของลูกค้า อยากให้ทางธนาคารรับผิดชอบในทันที อย่าให้ประชาชนต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับธนาคาร เพราะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ส่วนชาวบ้านเองก็ต้องกินต้องใช้ และมีหนี้สินภาระต้องรับผิดชอบ อยากให้ ผบ.ตร.ลงมาดูแลใกล้ชิด เพราะยุคปัจจุบันมีประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก และธนาคารเป็นผู้เสนอช่องทางแอพพลิเคชั่นให้ประชาชนใช้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร หรือไม่ต้องใช้บัตรประชาชน แต่ระบบรักษาความปลอดภัยเงินไม่มี ธนาคารจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะที่ นายชัยพร ชูเสน ทนายความชาว จ.ตรัง ให้ความเห็นกรณีที่ตนเองเป็นเพื่อนบ้านของครอบครัวผู้เสียหายดังกล่าวว่า เรื่องนี้ทางธนาคารทั้ง 2  จะต้องรับผิดชอบเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมด ไม่ใช้ผลักปัญหาไปให้กับลูกค้าเจ้าของเงิน เพราะเงินอยู่ในธนาคาร ซึ่งรับฝากเงินของลูกค้า มีหน้าที่ต้องดูแลเงินของลูกค้าให้มีความปลอดภัย เมื่อเกิดความเสียหายกับลูกค้า ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เปรียบเสมือนคนไปห้างสรรพสินค้า เมื่อรถหาย ทางห้างสรรพสินค้าก็ต้องรับผิดชอบ



คุณอาจสนใจ