สังคม

นิด้าเผยผลสำรวจคน 3 จังหวัดใต้ เชื่อมีบัญชีผีรับราชการในพื้นที่จริง

โดย taweelap_b

4 ก.ย. 2565

130 views

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 65 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “บัญชีผี หน่วยงานภาครัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 ส.ค. - 1 ก.ย. 65 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,102 หน่วยตัวอย่าง




จากการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชน ต่อข่าวเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งมีชื่อปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่มีตัวตนเข้ามาทำหน้าที่จริงในหน่วยงานนั้น ๆ (บัญชีผีหน่วยงานภาครัฐ) พบว่าตัวอย่าง


- ร้อยละ 40.29 ระบุว่า เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง


- รองลงมา ร้อยละ 25.95 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง


- ร้อยละ 19.33 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย


- ร้อยละ 14.07 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง


- ร้อยละ 0.36 ระบุว่า ไม่ทราบ / ไม่ตอบ / ไม่สนใจ


ด้านความรู้สึกของประชาชน ต่อข่าวเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งมีชื่อปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่มีตัวตนเข้ามาทำหน้าที่จริงในหน่วยงานนั้น ๆ (บัญชีผีหน่วยงานภาครัฐ) เฉพาะตัวอย่างที่ระบุว่า เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ค่อนข้างเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง และไม่ทราบ / ไม่ตอบ / ไม่สนใจ (จำนวน 734 หน่วยตัวอย่าง) พบว่า ตัวอย่าง


- ร้อยละ 43.32 ระบุว่า อาจจะมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่


- รองลงมา ร้อยละ 41.55 ระบุว่า ไม่เป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่ปฏิบัติงานจริงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


- ร้อยละ 30.65 ระบุว่า เป็นการย้ายแค่ชื่อเข้ามาเอาตำแหน่งเพื่อการเติบโตทางราชการในวันหน้า


- ร้อยละ 30.38 ระบุว่า เป็นการใช้เส้นสายทางราชการ / การเมือง


- ร้อยละ 27.38 ระบุว่า เป็นเรื่องปกติในระบบราชการไทย


- ร้อยละ 17.57 ระบุว่า ผู้บริหารในส่วนกลางไม่ใส่ใจดูแลแก้ปัญหาบัญชีผีหน่วยงานภาครัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


- ร้อยละ 14.85 ระบุว่า เป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎ ระเบียบในระบบราชการ


- ร้อยละ 1.91 ระบุว่า ไม่ทราบ / ไม่ตอบ / ไม่สนใจ


ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน ต่อการแก้ไขปัญหาบัญชีผีหน่วยงานภาครัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะตัวอย่างที่ระบุว่า เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ค่อนข้างเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง และไม่ทราบ / ไม่ตอบ / ไม่สนใจ (จำนวน 734 หน่วยตัวอย่าง) พบว่าตัวอย่าง


- ร้อยละ 57.08 ระบุว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้มงวดในการตรวจสอบอย่างจริงจัง และมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับคนที่กระทำผิดก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้


- ร้อยละ 40.74 ระบุว่า ไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน จนกลายเป็นเรื่องปกติ มีเรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์และเส้นสายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก


- ร้อยละ 2.18 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

คุณอาจสนใจ

Related News