สังคม

มท.1 ยันรัฐบาลแก้จนพุ่งเป้า ลั่นไม่ทอดทิ้งปชช.

โดย onjira_n

3 ก.ย. 2565

450 views

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในรายการ "คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี" ถึงการขจัดความยากจนแบบและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 92.5 MHz

ว่า การขจัดความยากจนแบบพุ่งเป้า เป็นแนวทางที่รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้เข้าถึงประชาชน ตามแนวทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และที่ผ่านมารัฐบาลดูแลในแต่ละเรื่อง โดยมีหน่วยงานรัฐ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เข้าไปดำเนินการเป็นเรื่องๆไป เรื่องสุขภาพ จะมีกระทรวงสาธารณสุข ดูแล เรื่องการศึกษามีกระทรวงศึกษาธิการ ดูแล การประกอบอาชีพ ทำมาหากิน มีหลายกระทรวงเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องการเกษตร ทำนา ทำสวน ประมง เลี้ยงสัตว์ ขณะที่การบริหารสาธารณะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ช่วยดูแล ทุกชีวิตในแผ่นดินนี้มีหน่วยงานเข้าไปดูแล ทำแผนงานโครงการช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตตามปกติ ซึ่งบางคนมีชีวิตดี ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาประกอบอาชีพ เรื่องรายได้ ก็จะทำให้ปัญหาอื่นตามมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่าเป้าที่ต้องไปแก้ไข เนื่องจากรัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ให้ประชาชน



พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาล ไม่ได้ดูแค่รายได้อย่างเดียว แต่จะดู 5 มิติ คือ สุขภาพ,ชีวิตความเป็นอยู่,เรื่องการศึกษา,เรื่องรายได้ การประกอบอาชีพ,และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งการบริหารราชการของรัฐบาล ได้กำหนดประชาชน ที่มีปัญหาดังกล่าวเป็นเป้า เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าที่รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ โดยใช้คำว่าพุ่งเป้าเป็นรายบุคคล รายครัวเรือน ผ่านกลไกที่จะเข้าไปแก้ปัญหา คือ บุคลากร เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ของแต่หน่วยงาน ผ่านการขับเคลื่อนศูนย์ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ที่จะมีกลไลทำงานในแต่ละระดับตั้งแต่ระดับนโยบาย ลงไปที่คณะกรรมการระดับพื้นที่จังหวัด และกทม.และระดับพื้นที่ แต่ละอำเภอ เมืองพัทยา และสำนักงานเขต และที่สำคัญคือ

ระดับปฎิบัติการ ได้แก่ ตำบล ที่จะเก็บข้อมูลปัญหาของประชาชน นำเรื่องไปสู่ระดับอำเภอเพื่อให้แก้ปัญหาให้จบที่จุดนี้ โดยจะมีทีมพี่เลี้ยงหลายหมื่นทีมในขณะนี้ ที่จะอยู่ติดกับประชาชน ลงไปพูดคุยและเก็บข้อมูลใส่ในทีพีแมป หรือระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลปัญหา เพื่อวิเคราะห์ จะได้รับทราบว่า ได้ทราบว่าจะไปแก้ปัญหาอย่างไร จะดำเนินการกับกลุ่มใด มีการติดตามและประสานงานกับหน่วยเกี่ยวข้อง เข้าไปแก้ไข โดยทีมพี่เลี้ยงแต่ละทีมจะรับผิดชอบ 10-15 ครัวเรือน



ทั้งนี้ทีพีแมป จะเก็บข้อมูลของผู้เดือดร้อน คนจน ปัญหาดำรงชีวิต ที่รวบรวมจากหลายฐานทั้งฝ่ายปกครอง ข้อมูลเศรษฐกิจ จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกระจายข้อมูลลงไปในพื้นที่ที่จะแก้ปัญหา แพลตฟอร์มจะตอบว่าใครอยู่ที่ไหน มีปัญหาเรื่องอะไร จะเก็บเป็นข้อมูลไว้ และจะแก้อย่างไร เพื่อวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลใช้เงินภาษีลงไปแก้ปัญหาแล้วแต่ทำไมยังมีปัญหา จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงการหรือไม่ หรือต้องเข้าไปปรับแก้อย่างไร โดยนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ได้เริ่มดำเนินการเก็บฐานข้อมูลว่าใครคือเป้า ยกตัวอย่าง เหมือนการสอนหรือเรียนหนังสือ จะมีทั้งคนที่สอบผ่าน แต่บางส่วนอาจยังไม่เข้าใจครูก็ต้องไปดูว่าไม่เข้าใจเรื่องใด และแนะนำแนวทางให้เด็กมีความรู้และสอบผ่าน และจากการเก็บข้อมูล มีฐานข้อมูลของประชาชน ที่ลำบาก กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1ล้านคน โดยส่วนใหญ่กว่า 6 แสนครอบครัว อยู่ตามชนบท มีทั้งคนแก่ ผู้ป่วยติดเตียง มีภาระไร้คนดูแล เป็นต้น ซึ่งขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งเวลานี้ทีมพี่เลี้ยงได้เข้าไปดูแล 3 แสนครัวเรือนจาก6 แสน และจะดำเนินการต่อเนื่อง



พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางดำเนินการตามกรอบ จะมีขั้นตอนดูแลให้สามารถอยู่รอด เช่น การทำมาหากิน ทำเกษตร แล้วเป็นหนี้ ไม่คุ้ม ขาดทุน ผลผลิตราคาตก ขั้นต้นเริ่มต้นต้องทำให้เกษตรกรรู้ว่าทำอย่างไรให้สอบผ่านก่อนในขั้นต้น ให้อยู่รอด เมื่อรอดต่อไปคืออยู่ได้แบบพอเพียง ขั้นต่อไปยืนด้วยตัวเองก็จะยั่งยืน ซึ่งคนสำคัญคือทีมพี่เลี้ยง จะถือข้อมูลจากทีพีแมป ลงไปในพื้นที่ ไปคุยกับประชาชนแต่ละคนที่มีปัญหา โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้หลัก4 ท.ไปพูดคุย ดูทัศนคติ ที่จำเป็นมากเพราะการแก้ปัญหาถ้าประชาชนยังไม่มีทัศนคติ ที่จะมีส่วนร่วมก็จะยาก เหมือนแม่นกสอนลูกได้ แต่คนบินคือลูกนก นอกจากนั้นจะมีแบบสอบถามลงไปตรวจสอบจากข้อมูลที่มี เช่น คนเจ็บป่วยเจ็บจริงหรือไม่ จากนั้นจะดูทักษะ ที่ประกอบอาชีพ และดูเรื่องทรัพยากร มีที่ดิน สิ่งอำนวยความสะดวกหรือไม่ เพื่อช่วยหาทางออกและแก้ไข เมื่อทีมพี่เลี้ยงซึ่งเป็นกลไลระดับพื้นที่ได้ข้อมูลแล้ว จะนำข้อมูลกลับไปทีมตำบล ให้กลั่นกรอง แยกแยะปัญหาเพื่อดูว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบ เช่น มีปัญหาเรื่องเงินทุน ที่มีหลายหน่วยงาน สนับสนุนใด จากนั้นจะส่งต่อให้หน่วยงานระดับอำเภอ โดยเป็นเวทีที่จะจบปัญหาโดยไม่ยกมาที่กระทรวง จะแก้ที่อำเภอ โดยกระทรวงมหาดไทยจะขับเคลื่อน โดยที่หน่วยงานที่จะเป็นคนแก้จะเป็นเจ้าของเรื่องนั้น เช่น เรื่องสุขภาพ คือ กระทรวงสาธารณสุข ทีมระดับอำเภอต้องแก้ให้อยู่รอดก่อน และตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมา ทุกหน่วยงาน เข้าไปแก้ไขและเข้าถึงตัวประชาชนแล้ว โดยดูเรื่องมิติสุขภาพ กว่า1.5 แสนคน ประมาณ 99.57 % ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัยดำเนินการ 99.52 % ด้านการศึกษา กว่า1.5ครัวเรือน ได้ทำไปแล้ว 99.53 %ขณะที่เรื่องรายได้ กว่า6 แสนครอบครัว เราเข้าไปแล้วเกือบ100% การเข้าถึงบริการภาครัฐ ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว 2,263 ครัวเรือน จากทั้งหมด 2,287 ครัวเรือน เช่น เรื่องบัตรประชาชน สามารถแก้ไขได้ทันที และจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อไปโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ส่วนการเกษตร จะเข้าไปหาตลาด แนะนำปลูกเพิ่มเสริม สร้างรายได้ เวลานี้มีอุทกภัย 25 จ.และใกล้จะเก็บเกี่ยวแล้ว และหากเกิดอุทกภัยก็จะไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ เราไม่ทอดทิ้ง แต่ถ้าผ่านปีนี้ เราเข้าไปแนะนำการปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่ม



พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวตอบคำถามในช่วงท้าย ว่า ประชาชนชนทุกคนที่เดือดร้อน และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการดูอล โดยให้ไปแจ้งที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท.ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อช่วยแก้ปัญหา ส่วนจะแก้จนได้จริงหรือไม่ นั้น เราจะต้องทำให้ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเป็นเป็นเศรษฐีในทันที แต่ต้องทำให้ประชาชนดีขึ้นๆ ทั้งนี้คจพ.ได้รับให้ดูและเรื่องหนี้สิน ที่จะมีกลไกดูแลให้ปัญหาทุเลาลง คลายทุกข์จากหนี้ ทั้งบัตรเครดิต กยศ.เช่าซื้อ ทวงหนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย การไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อมีโอกาสจะตั้งหลัก และเรื่องนี้จะทำต่อแน่ เพราะต้องดูแล



พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ส่วนคำถามที่เป็นข้อเสนอ อยากให้เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000บาท ก็ตรงกับใจผู้ที่อยู่หน้างาน เพราะบางคนลูกไปอยู่พื้นที่อื่น คนแก่อาจมีลูกพิการ ต้องได้รับการดูแล เราก็คิดเช่นกันและจะนำไปให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อดูแลต่อไป



อย่างไรทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทรวงมหาดไทย จะช่วยขับเคลื่อน แต่คนที่จะแก้คือกระทรวง ทบวง กรม ที่รับผิดชอบโดยนายกฯเร่งให้ดำเนินการในปีนี้โดยปรับแผนงาน และงบประมาณ ให้นำไปแก้ปัญหาให้ประชาชนก่อน โดยไม่ต้องรอเวลาเพราะประชาชนจะยากลำบากต่อไป และปีต่อไปให้ตั้งงบประมาณเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนตรงนี้

คุณอาจสนใจ