สังคม

สวทช.- หนุน สร้างองค์ความรู้บน ‘นวนุรักษ์’ แพลตฟอร์ม ชูจุดเด่น ด้านความหลากหลายทางชีวภาพฯของ ‘อุทยานธรณีโลกสตูล’

โดย thichaphat_d

22 ส.ค. 2565

57 views

สวทช.- หนุน สร้างองค์ความรู้ บน ‘นวนุรักษ์’ แพลตฟอร์ม ชูจุดเด่น ด้านความหลากหลายทางชีวภาพฯ ของ ‘อุทยานธรณีโลกสตูล’ ช่วยชุมชนสร้างอาชีพ-รายได้เสริมจากการท่องเที่ยว ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เนคเทค สวทช. นำคณะสื่อมวลชนพร้อมด้วย คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ ดารานักแสดง ลงพื้นที่ จ.สตูล


โดย สวทช. หนุน ‘นวนุรักษ์ แพลตฟอร์ม’ ให้นักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ ม.ราชภัฏสงขลา และวิทยาลัยชุมชนสตูล ใช้เป็นเครื่องมือ จัดเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม ในพื้นที่ ‘อุทยานธรณีโลกสตูล’ เพื่อศึกษา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลาย ในรูปแบบเรื่องเล่าสื่อความหมาย และสื่อประชาสัมพันธ์ ช่วยชุมชนให้เกิดความเข้าใจในระบบนิเวศเขาหินปูน ระบบนิเวศสัตว์ในถ้ำ และระบบนิเวศสัตว์ชายฝั่งทะเลที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล



ทั้งนี้ สวทช. โดยโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ ได้สนับสนุนงานวิจัยแก่อาจารย์มหาวิทยาลัย มอ. จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย  1. การนำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำอุทยานธรณีโลกสตูลเข้าในแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำแพลตฟอร์มดิจิทัล “นวนุรักษ์” ของศูนย์เนคเทค สวทช. มาใช้ต่อยอดการบริหารจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบริหารจัดการ ภาพถ่าย ไฟล์วีดีโอ คลิปเสียง และเรื่องราวนำชม (story telling) ไม่น้อยกว่า 3,000 รายการ



2. คือ การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำ ในอุทยานธรณีโลกสตูลเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์และจุลินทรีย์ในถ้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำทะลุ ป่าหลุมยุบดึกดำบรรพ์



และ 3. โครงการการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลในอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน มุ่งเน้นการรวบรวมสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเล วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ซึ่งโครงการนี้มีพื้นที่ หอสี่หลัง ซึ่งเป็นนิเวศชายฝั่งที่ทีมวิจัย ม.สงขลานครินทร์ ได้ทุนวิจัยจาก สวทช. ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ หาดหิน แนวหญ้าทะเล แนวปะการังน้ำตื้น ป่าชายเลน 566 ชนิด พบพืชมีสถานภาพเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ 1 ชนิด คือ หญ้าใบพาย ซึ่งควรรักษาไว้



ด้าน อเล็กซ์ เรนเดลล์ ดารานักแสดง ซึ่งลงพื้นที่ในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ฝากถึงนักท่องเที่ยว ด้วยว่า ใครที่ชอบธรรมชาติ จังหวัดสตูล เป็นอีกสถานที่ที่น่ามาเรียนรู้ที่ไม่เหมือนที่อื่นๆ โดยเฉพาะระบบนิเวศชายฝั่ง ที่หอสี่หลัง มีข้อมูลงานวิชาการรองรับ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างแท้จริงบนฐานทรัพยากรชีวภาพที่ยั่งยืนและดูแลโดยคนในพื้นที่



สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘นวนุรักษ์’ พัฒนาขึ้นโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. มีจุดเด่น คือ ผู้ใช้งานสามารถบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงาน หรือชุมชน ที่ต้องการจัดเก็บข้อมูล และเป็นเจ้าของข้อมูล เข้ามาเพิ่มหรือ update ข้อมูลได้ด้วยตนเอง ในลักษณะการเก็บรักษา สถานที่ ข้อมูลกายภาพ ข้อมูลทางชีวภาพ บทบรรยายสำหรับนำชม เป็นต้น โดยสามารถเลือกได้ว่าต้องการเผยแพร่ข้อมูลหรือไม่ และ upload media ต่างๆ เช่น ภาพ เสียง วิดีโอ ภาพ 360 องศาได้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ เก็บข้อมูลได้ระยะยาว



ทั้งนี้ประชาชนที่สนใจข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน และวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล สามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์ https://www.navanurak.in.th/satungeopark



คุณอาจสนใจ

Related News