สังคม

พ่อจำใจยอมรับ แก๊งคอลเซนเตอร์ไม่ได้หลอก ลูกชาย 10 ขวบกดเติมเกม สูญ 1.2 ล้าน

โดย nattachat_c

2 ส.ค. 2565

3.3K views

โอละพ่อ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้หลอก ตำรวจไซเบอร์ แจง คดีพ่อค้าปุ๋ย ชาวนครศรีธรรมราช อ้างลูกชาย 10 ขวบโดนแก็งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาข้อมูลบัตร โอนเงิน 65 ครั้ง สูญ 1.2 ล้าน ระหว่างเรียนออนไลน์ แท้จริงแล้ว ลูกชายซื้อไอเท็มเกมออนไลน์ ผ่าน E-wallet และ Mobile banking ซึ่งผูกบัญชีไว้ด้วยกัน ด้านพ่อจำใจยอมรับลูกชายรู้เท่าไม่ถึงการณ์


จากกรณีที่นายณรงค์ฤทธิ์ อายุ 49 ปี ชาวอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพค้าขายปุ๋ยเคมีการเกษตร เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ตรวจสอบ อ้างโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มาล้วงเอาข้อมูลบัตรประชาชนจากลูกชาย หลอกให้เด็กสมัครเล่นเกมออนไลน์ เพื่อจะได้คะแนนสูง สุดท้ายโอนเงินไปจำนวน 65 ครั้ง สูญเงินไปกว่า 1.2 ล้านบาท


โดยพล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) และ พล.ต.ต.ชรินทร์  โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ฐาปกรณ์ หนุมาศ ผกก.3 บก.สอท.5  เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง


พล.ต.ต.ชรินทร์  เปิดเผยว่า กรณีปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.สอท.5 ตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชียรใหญ่ ร่วมกันตรวจสอบตามข่าวดังกล่าว โดยได้ทำการเชิญนายณรงค์ฤทธิ์ และเด็กชายวรพล (บุตรชาย) อายุ 10 ปี มาเพื่อสอบถามรายละเอียด และตรวจสอบการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง


โดยก่อนเกิดเหตุ นายณรงค์ฤทธิ์ ได้นำโทรศัพท์มือถือไปให้บุตรชายใช้เรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งในการใช้งานแต่ละครั้ง นายณรงค์ฤทธิ์ ไม่ได้เฝ้าระวัง หรือตรวจสอบการใช้งานของบุตรชายโดยใกล้ชิด บุตรชายของผู้เสียหายได้นำโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเล่นเกมออนไลน์ และซื้อไอเท็มเกม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยการซื้อ Item เกมดังกล่าวเป็นการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet)


พล.ต.ต.ชรินทร์ เปิดเผยอีกว่า จากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า การทำธุรกรรมดังกล่าว เป็นการทำธุรกรรมโดยเจ้าของบัญชีเอง ซึ่งบุตรชายอาจเป็นผู้ดำเนินการเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และนายฤรงค์ฤทธิ์ ไม่ทราบถึงรายละเอียดขั้นตอนดังกล่าวแต่อย่างใด โดยขั้นตอนจะต้องมีการยืนยันตัวตนโดยการถ่ายภาพใบหน้าของนายฤรงค์ฤทธิ์ เพื่อยืนยันข้อมูลในการสมัครเข้าใช้งาน


ซึ่งในการชำระค่าสินค้าเกี่ยวกับเกมออนไลน์ที่ตรวจพบ แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ

1.เป็นการทำธุรกรรมทางด้านการเติมเงินเพื่อใช้ซื้อไอเท็มเกม

2.เป็นการทำธุรกรรมทางด้านการสนับสนุนผู้ทำ Content ผ่านช่องทาง YouTube


โดยการทำธุรกรรมแต่ละครั้งเป็นการกระทำผ่านอุปกรณ์ 2 เครื่องด้วยกัน คือ

1.อุปกรณ์ Tablet ยี่ห้อ Lenovo รุ่น Tab MB  

2.โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ OPPO รุ่น A74 5G


ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของนายฤรงค์ฤทธิ์ ที่ได้มอบให้บุตรชายไว้ใช้งาน และจากการตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์มือถือเครื่องดังกล่าว พบว่ามีการใช้งานกับกระเป๋า E-wallet และแอปพลิเคชั่น Mobile banking ซึ่งผูกบัญชีไว้ด้วยกัน


พล.ต.ต.ชรินทร์ เปิดเผยอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้ตรวจสอบและอธิบายให้ทราบในรายละเอียดที่เกิดขึ้นดังกล่าว นายฤรงค์ฤทธิ์ ก็ทราบและเข้าใจดีว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบุตรชายของตนไม่ได้ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงแต่อย่างใด แต่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุตรชายตนเองในการใช้บริการอินเตอร์เน็ตและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์


คุณอาจสนใจ