สังคม
สธ.สั่งทบทวนหนังสือด่วนที่สุด หลังให้ ตร.จับผู้ขาย-แปรรูปกัญชา 4 ฐานความผิด จ่อให้ 'ช่อดอก' เป็นสมุนไพรควบคุม
โดย nattachat_c
28 ก.ค. 2565
39 views
วานนี้ (27 ก.ค. 65) ช่วงเวลาตอนเช้า กระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เรื่องการดำเนินคดีกับผู้ไม่ขออนุญาตศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า โดยระบุตอนหนึ่งว่า
เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กระทรวงสาธารณสุขจึงขอแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ .2542 ดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีกับบุคคลหรือนิติบุคคลใดที่ไม่ดำเนินการตาม มาตรา 46 ในกรณีดังต่อไปนี้
1. ไม่ขออนุญาตศึกษาวิจัยกัญชา
2. ไม่ขออนุญาตส่งออกกัญชา
3. ไม่ขออนุญาตจำหน่ายกัญชา
4. ไม่ขออนุญาตแปรรูปกัญชาเพื่อการค้า
------------
ช่วงบ่าย พลตำรวจตรี ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือด่วนที่สุด ถึง ผบ.ตร. ให้จับกุมผู้ขาย-แปรรูปกัญชา ไม่ขออนุญาต 4 ฐานความผิด ว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ไม่ขออนุญาตศึกษาวิจัย หรือส่งออก สมุนไพรควบคุมหรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า
โดยสาระสำคัญ ของหนังสือฉบับนี้กระทรวงสาธารณสุขขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีกับบุคคลหรือนิติบุคคลใดที่ไม่ดำเนินการตามมาตรา 46 แห่ง พระราชบัญญัติฉบับนี้ในกรณีดังต่อไปนี้ 1.ไม่ขออนุญาตศึกษาวิจัยในเรื่องกัญชา // 2.ไม่ขออนุญาตส่งออกกัญชา // 3.ไม่ขออนุญาตจำหน่ายกัญชา // 4.ไม่ขออนุญาตแปรรูปกัญชาเพื่อการค้า
โฆษกตร. กล่าวว่า หนังสือฉบับนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับในวานนี้ (27 ก.ค.) เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการปฏิบัติ และไม่เกิดปัญหาข้อขัดข้อง สำหรับผู้ปฏิบัติ ทางพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงได้ให้ฝ่ายกฎหมาย ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติศึกษาและหารือกับ กระทรวงสาธารณสุข ถึงสาระสำคัญและแนวทางปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควบคุมการปฏิบัติในเรื่องนี้
------------
ช่วงเย็น นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัด สธ. พร้อมด้วย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เรียกประชุมด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่กระทรวงสาธารณสุข ใช้เวลาร่วม 1 ชั่วโมง มีข้อสรุปว่า จะทบทวนหนังสือด่วนที่สุดฉบับดังกล่าว
โดยหลังการหารือ นพ.ณรงค์ พร้อมด้วย นพ.ยงยศ แถลงว่า นัยสำคัญของหนังสือด่วนที่สุดฉบับดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้ที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ทั้งนี้ จากการตรวจสอบหนังสือ และปรึกษากับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้มีสรุปให้สั่งการอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ทบทวนรายละเอียดในหนังสือฉบับดังกล่าวเพื่อนำเสนอต่อไป ทั้งนี้ จะประสานขอคืนหนังสือฉบับดังกล่าวจาก ตร.กลับมาทบทวนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสุงสุด
ด้าน นพ.ยงยศ กล่าวว่า หนังสือที่ส่งไปมีความชัดเจนว่า ทางตำรวจจะต้องไปดำเนินการเมื่อได้รับการร้องขอจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา พ.ศ.2542 ซึ่งจะเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ และผู้ทรงคุณวุฒิของกรมอีกราว 10 คน ฉะนั้น นัยการสื่อสารมีความชัดเจนว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรอการประสานจากพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ช่วยดำเนินการ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีการจำหน่ายกัญชาที่เป็นสิ่งของเฉพาะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ตัวกฎหมายจึงออกแบบมาว่า จะต้องอาศัยพนักงานเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญระบุว่า เป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจใช้ดุลยพินิจส่วนนี้ไม่ครบถ้วนทางกฎหมาย ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องได้รับการประสานร้องขอ
นพ.ยงยศ กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนด้านการควบคุมพืชกัญชาว่า วันนี้มีการประชุมอนุกรรมการด้านกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา พ.ศ.2542 ที่มีหน่วยงานของ สธ. กรมป่าไม้ ร่วมให้ความเห็น ซึ่งมีความเห็นว่า เพื่อความสมบูรณ์ในการประกาศสมุนไพรควบคุม (กัญชา) อาจต้องปรับปรุงประกาศเพิ่มเติม เพื่อให้ชัดเจน 4 เรื่อง คือ 1.ประชาชนที่ใช้กัญชาดูแลสุขภาพต้องไม่ได้รับผลกระทบ 2.ไม่มีผลทางกฎหมายกับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีประกาศฉบับดังกล่าว 3.ความชัดเจนของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่และไม่มีความผิด และ 4.กัญชาเป็นพืชที่มีความสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและคุณค่าทางการแพทย์ การเปิดโอกาสให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม ถูกด้อยค่า ไม่ควรเกิดขึ้น
ฉะนั้น ทางอนุกรรมการฯ เห็นเบื้องต้นว่า ควรปรับปรุงประกาศ สธ.เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ให้ชัดเจน โดยประเด็นหลัก เช่น ประกาศให้เฉพาะช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จากกัญชาด้วยส่วนประกอบอื่นที่ไม่ใช่ช่อดอก จะสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ทั้งนี้ ประกาศจะเป็นตามขั้นตอน คือ ส่งให้ปลัด สธ. และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ลงนาม เพื่อประกาศใช้ คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า
“การที่จะดำเนินการให้เกิดทางปฏิบัติ ความชัดเจนของ สธ.และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ต้องพูดคุยชี้แจงกับผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะ นพ.สสจ. ที่เป็นตัวแทนผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา พ.ศ.2542 ส่วนข้อกังวลว่าจะมีการบังคับใช้ จับกุม ขอยืนยันว่าน่าจะยังไม่เกิดขึ้น ยกเว้นผู้ที่วางพันลำขายข้างถนน การผลิตเพื่อให้เสพโดยการสูบ ซึ่งเราชัดเจนว่าเราพยายามขีดวงการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการให้มากที่สุด” นพ.ยงยศ กล่าว
เมื่อถามว่า การทบทวนประกาศสมุนไพรควบคุม จะเหลือเพียงการควบคุมช่อดอกกัญชา นพ.ยงยศ กล่าวว่า ใช่ เพราะหากเราประกาศทั้งต้น จะมีผู้ได้รับผลกระทบเยอะ โดยเฉพาะประชาชนที่ลงทะเบียน ‘ปลูกกัญ’ เป็นล้านคนๆ อย่างไรก็ตาม จะมีการกำหนดปริมาณช่อดอกที่เหมาะสมในการครอบครัวของแต่ละครัวเรือนเพื่อใช้ดูแลสุขภาพ เช่น ปลูกไว้ 10-20 ต้น แล้วมีช่อดอกได้ 300-500 กรัมแห้ง นี่เป็นเพียงตัวอย่าง ยังไม่ใช่ตัวเลขในการกำหนดปริมาณ แต่หากเป็นการใช้ในครัวเรือน ไม่ได้จำหน่ายก็ไม่ต้องขออนุญาต
เมื่อถามว่าระหว่างที่ประกาศปรับปรุงยังไม่ออก ประชาชนจะใช้กัญชาอย่างไร จะต้องใช้ตามประกาศเดิมหรือไม่ นพ.ยงยศ กล่าวว่า เรามุ่งเน้นการควบคุมเสพสูบกัญชา ส่วนเรื่องของการจับกุม เราจะเน้นการกวดขันการแปรรูปกัญชาเพื่อเสพ โดยการตักเตือนเฝ้าระวัง
เมื่อถามต่อว่า ประกาศปรับปรุงเป็นการควบคุมเฉพาะช่อดอก แล้วผู้ประกอบการจะนำมาจำหน่ายได้หรือไม่ นพ.ยงยศ กล่าวว่า สำหรับช่อดอกที่ปริมาณมากวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่าย ต้องขออนุญาตตามขั้นตอน โดยผู้จำหน่ายจะต้องมีคุณสมบัติที่กำหนด โดยเป็นรายละเอียดที่ต้องหารือกัน ซึ่งจะมีการออกแบบการขออนุญาตให้สะดวกกับประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ เราจะเปิดฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้ได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า
“เราได้คิดเผื่อไว้ว่าหากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ลากยาวอีกเดือน สองเดือน เราจะบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ผู้ประกอบการอย่างไร เราคิดเผื่อไว้เป็นระบบออนไลน์ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะประกาศปรับปรุงจะออกมา”
-----------
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า “เอกสารนี้ออกมาจากกระทรวงสาธารณสุขแล้วส่งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไม่รู้เป็นของจริงไหมนะครับ แต่เห็นสำนักข่าวเอาลงแล้ว) เพื่อให้บังคับใช้มาตรา 46 อย่างจริงจัง (ใครอ่านแล้วงงว่ามันใช้อย่างไร ลองอ่านสเตตัสก่อนของผม จะเข้าใจมากขึ้นครับ) ไม่รู้ที่กระทรวงออกหนังสือนี้เพราะแพทย์รามาธิบดีออกแถลงการณ์หรือไม่ แต่การออกแบบนี้จะเป็นการทำให้มีการควบคุมอย่างจริงจังมาก คือ ถ้าไม่มีใบอนุญาต (เน้นคำว่าใบนะครับไม่ใช่ขอปากเปล่า) ห้ามศึกษาวิจัย ห้ามส่งออก ****ห้ามจำหน่าย ห้ามแปรรูปเพื่อการค้า**** ซึ่งคำว่าจำหน่ายและแปรรูป ตามกฎหมายนี้กว้างมาก คือตามนี้ครับ
“จําหน่าย” หมายความว่า ขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน และให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจําหน่ายด้วย “แปรรูป” หมายความว่า การปรุงแต่งหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพหรือคุณสมบัติของสมุนไพร ดังนั้น
“ทุกคนที่ขายกัญชาหรือสารสกัดกัญชาไม่ว่าขายในรูปแบบใด ทุกคนที่ขายอาหารหรือขนมที่มีกัญชาผสม เช่น บราวนี่ อาจรวมถึงกรณีร้านสะดวกซื้อที่มีขายผลิตภัณฑ์กัญชา เช่น น้ำกัญชา ขาไก่กัญชา (จริงๆ อาจผิดตั้งแต่ทำผลิตภัณฑ์แล้ว เพราะเป็นการแปรรูป)
อีกข้อคือกรณี ***พวกปลูกเยอะๆ เป็นไร่ๆ ถึงแม้ไม่มีการขาย ก็ถือเป็นการจำหน่ายตามประมวลกฎหมายนี้ได้ เพราะมันรวมถึงการมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย*** หรืออีกข้อกรณี คนแจกต้นกัญชา ก็ถือเป็นการจำหน่ายตามประมวลกฎหมายนี้เช่นกัน โดยไม่ต้องดูเลยว่าจำหน่ายให้ใคร ถ้าไม่มีใบอนุญาต ตำรวจสามารถจับได้แน่นอนครับ ดังนั้นใครเห็นคนทำผิดลองไปแจ้งความกับตำรวจดูครับ” ตอนนี้ผมเลยมีคำถามว่า
- วิธีการขอใบอนุญาตมีกฎกระทรวงแล้ว ตามนี้ครับ https://drug.fda.moph.go.th/drug-law-regulations/relevants-regualtions/ข-กฎกระทรวง-เรื่อง-การอน/ ซึ่งดูรายละเอียดแล้วมันขอยากมาก อาจต้องมีการปลูกทดแทน ดังนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไหม ไม่งั้นจะมีแต่บริษัทใหญ่ๆ ที่ขายได้?
- ตอนนี้มีบริษัทหรือไร่กัญชาที่ไหนได้ขอใบอนุญาตหรือได้รับใบอนุญาตแล้ว? อยากให้กระทรวงมาชี้แจงให้ประชาชนและตำรวจทราบ จะได้จัดการได้ง่ายครับ
- มีการอธิบายเรื่องการขอใบอนุญาตให้คนทั่วไปที่จะขายกัญชาทราบหรือยัง?
- องค์กรของรัฐบาลที่แจกต้นกัญชาต้องขอใบอนุญาตไหม? เพราะเข้าเกณฑ์การจำหน่าย
สุดท้ายผมยังยืนยันว่าวิธีง่ายสุดในการควบคุม คือยกเลิกประกาศกระทรวงที่ทำให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดไปก่อนครับตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ https://drive.google.com/.../1lwa9nxl3GdfPUH1UySZ.../view... ซึ่งถึงยกเลิกประกาศไป กัญชาก็ยังใช้ทางการแพทย์ หรือมีในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปได้ เพราะกฎหมายในไทยอนุญาตให้ใช้ได้ก่อนที่จะมีประกาศอันนี้ของกระทรวงที่ปลดกัญชาจากยาเสพติด
สำหรับประชาชนที่ต้องการร่วมปิดสุญญากาศกัญชา เพื่อให้กัญชาถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ change.org/DelayCannabisLaw
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/eiFZgaA1ZAE