สังคม

'กรมการแพทย์' ออกแนวทางเวชปฏิบัติ รักษาโควิด-19 ฉบับใหม่ ปรับการให้ยากลุ่มเสี่ยง

โดย petchpawee_k

13 ก.ค. 2565

102 views

วันที่ 12 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการแพทย์ได้ออก แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565  โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการใน ประเทศ และต่างประเทศ


การรักษาผู้ติดโควิด-19 แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยงได้ 4 กรณี ดังนี้


1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี  ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบ ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้ายไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์


2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ  ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน


3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี  โดยหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ โดยมีลำดับการให้ยา คือ  โมลนูพิราเวียร์ ,เรมเดซิเวียร์,เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์  หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด)  หรือโมลนูพิราเวียร์



ทั้งนี้  การจัดลำดับการให้ยา พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา  ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงที่สุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราการป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วตั้งแต่วันแรกที่มีอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง



 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรง ได้แก่  อายุมากกว่า  60 ปีขึ้นไป ,โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี


4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกัยให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์ (corticosteroid)



ด้าน นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในหมอที่มักจะโพสต์ให้ความรู้และข้อแนะนำ ถึงสถานการณ์และตัวเลขโควิด-19 ทั้งไทยและต่างประเทศ เมื่อวานนี้ได้โพสต์ข้อความ ขอบคุณกรมควบคุมโรค ที่พยายามปรับรูปแบบการนำเสนอ แม้จะยังไม่ละเอียดมากนัก แต่ช่วยทำให้ประชาชนเห็นข้อมูลบางเรื่องชัดเจนขึ้น


ล่าสุดมีการปรับรายงานในเว็ปไซค์ ddc dashboard จากกรมควบคุมโรค โดยนำเสนอจำนวนคนติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) รายสัปดาห์มาไว้ด้านล่าง


ซึ่งคุณหมอธีระ บอกว่า น่าจะเป็นระบบเจอแจกจบของโรงพยาบาลภายใต้สิทธิบัตรทองจากสปสช. ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตรวจพบว่า ติดเชื้อในแต่ละวัน ทั้งนี้ จะดีขึ้น หากนำเสนอจำนวนเป็นรายวัน แทนที่จะเป็นรายสัปดาห์ และควรนำเสนอข้อมูล จากสิทธิประกันสังคม ข้าราชการและจากเอกชนซึ่งขณะนี้คนจำนวนมากไปใช้บริการ


ในช่วงท้าย คุณหมอธีระ ระบุด้วยว่า “จะเห็นว่า ATK+ หากรวมกับ RT-PCR จะสะสมกว่า 8 ล้านคนแล้วขณะนี้โดยวันนี้เป็นวันแรกที่มีการปรับเพิ่มการรายงาน จำนวนคนติดเชื้อนอกโรงพยาบาล ซึ่งนับจากผลตรวจ ATK”

รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/BebgQt96PiY

คุณอาจสนใจ

Related News