สังคม

สธ.ชี้โควิดรอบนี้ เป็นเพียงเวฟเล็กๆ ยันหมอพอ-เตียงพอ-ยาพอ 'BA.4 และ BA.5' จ่อเป็นสายพันธุ์หลัก

โดย nattachat_c

6 ก.ค. 2565

11 views

อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้โควิดรอบนี้ เป็นเพียงเวฟเล็กๆ มั่นใจระบบสาธารณสุขยังรับได้ แจงข่าวคนล้นโรงพยาบาล เพราะใช้ประกันสุขภาพ

ด้านหมอประสิทธิ์ ฟันธง อีกไม่นาน BA.4 และ BA.5 จะเป็นสายพันธุ์หลัก เชื้อไม่แรงแต่ติดง่าย แนะ ศบค. วางมาตรการ สวมหน้ากากในพื้นที่ปิด


วานนี้ (5 ก.ค. 65) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ตามแผนที่วางไว้


ซึ่งจากนี้เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) เหมือนอย่างโรคอื่นๆ ซึ่งหมายความว่า ยังสามารถพบการติดเชื้อได้แต่ความรุนแรงของโรคลดลง การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะไม่มากเกินระบบสาธารณสุขที่มีจะรองรับได้


โดยจากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีการเปิดประเทศ ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น อาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ใช่การระบาดใหญ่ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมความพร้อมรองรับตามแนวทาง 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ


นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า "ขณะนี้สถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ จึงมีการเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขไว้รองรับ โดยกำชับและแจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ระมัดระวังป้องกันตนเองในการให้บริการ เตรียมความพร้อมยา เวชภัณฑ์ สำรองเตียง ความพร้อมระบบส่งต่อ และเร่งเดินหน้าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการคงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล จะช่วยลดการติดเชื้อและหยุดระลอกเล็กๆ เหล่านี้ลงได้"


นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังคงแจ้งเตือนภัยโควิด 19 ในระดับ 2 ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน โดยในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด เน้นตามมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรค ทั้งเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก


แม้จะมีการออกประกาศให้สวมหน้ากากโดยสมัครใจ แต่แนะนำให้ยังต้องสวมในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง รวมถึงยังต้องสวมเมื่อไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก การอยู่ในสถานที่เสี่ยงหรือสถานที่แออัด


และ Universal Vaccination คือ มาตรการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ทำให้ลดการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้
------------

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ที่โรงพยาบาลศิริราช ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า การระบาดของประเทศไทยขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลก ที่พบการระบาดของเชื้อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ไปแล้วกว่า 110 ประเทศ


และการรายงานตัวเลขติดเชื้อที่แท้จริงก็ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากหลายประเทศเลิกตรวจหาเชื้อไปแล้ว บางประเทศที่ตรวจก็ไม่ได้ตรวจสายพันธุ์ เช่นเดียวกับไทยก็ไม่ต่าง เพราะมีการเปิดประเทศจึงพบ BA.4 และ BA.5 จากการนำเข้าโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เมื่อมาถึงก็ตรวจน้อยลง โอกาสแพร่กระจายเชื้อจึงมากขึ้น


ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า คาดว่าไม่นานเชื้อ BA.4 และ BA.5 จะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก แต่ข้อมูลทั่วโลกพบว่าเชื้อไม่ก่อความรุนแรง แต่สิ่งที่ต้องย้ำคือมาตรการต่างๆ ต้องกลับมากระชับมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ฉีดไม่ครบ อยากรณรงค์เร่งฉีดให้ครบ โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ที่ยังฉีดกันได้แค่ร้อยละ 42-43 จากที่ตั้งเป้าไว้ร้อยละ 50 เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ยังเสียชีวิต แต่ขณะนี้มีรายงานแม้ฉีด 4 เข็ม ก็เสียชีวิตได้ และไม่ต้องรอวัคซีนรุ่น 2 เพราะกว่าจะออกมาฉีดได้คาดว่าในช่วงปลายปี เพราะยังอยู่ในขั้นตอนทดลองในมนุษย์ นอกจากนี้ คงต้องกระชับมาตรการการสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง และล้างมือด้วย


วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน อยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศส่งสัญญาณ เพราะขณะนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม จึงเสนอให้รัฐบาลต้องกลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการออกข้อบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คงจะต้องเสนอ ศบค.พิจารณา สอดรับกับหนังสือที่ปลัด สธ.สั่งการถึงผู้ตรวจราชการ สธ.ทุกเขตเตรียมพร้อมให้หน่วยบริการสุขภาพรับมือผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น เป็นมาตรการที่ต้องรีบทำ อย่ารอจนเตียงไม่พอจะไม่ทันต่อสถานการณ์

----------

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมากขึ้น และอาจจะเกิดการแพร่ระบาดของการติดเชื้อโรคโควิดระลอกใหม่ ซึ่งตนเป็นห่วงนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19


รมว.ศธ. กล่าวว่า ทราบว่าขณะนี้มีโรงเรียนบางแห่ง เมื่อนักเรียนติดโรคโควิด-19 รักษาตัวเองหาย และกักตัวครบตามที่กำหนดแล้ว ทางโรงเรียนขอใบรับรองแพทย์จึงจะให้นักเรียนกลับเข้าเรียนได้ตามปกติ ทำให้นักเรียนต้องเสียเงินจำนวนมาก เพื่อให้ได้ใบรับรองแพทย์มา เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนนั้น


การกลับเข้ามาเรียนที่โรงเรียนสามารถนำผลจากชุดทดสอบโควิด-19 หรือ Antigen test kit ที่แสดงผลผลตรวจเป็นลบ หรือไม่ติดเชื้อแล้วมาแสดงได้ หรือถ้ามีผลการตรวจ แบบ RT-PCR ก็สามารถนำมาแสดงได้ โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ให้สามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้เลย เพื่อให้เด็กได้เรียนต่อเนื่อง ไม่เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย และให้เป็นกลุ่มเฝ้าระวัง ที่ต้องดูแลตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ


คุณอาจสนใจ

Related News