สังคม
ชาวนาบึงกาฬ หันทำนาโยน แทนนาดำและนาหว่าน ช่วยลดต้นทุนการผลิต
โดย nutda_t
18 มิ.ย. 2565
68 views
เริ่มเข้าฤดูทำนาในปีนี้ ชาวนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนา หันมาทำนาโยนแทนนาดำและนาหว่าน เพื่อลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากปัจจุบันการทำนามีต้นทุนที่สูงขึ้น
นายนที ก่องขันธ์ อายุ 61 ปี เกษตรกรในพื้นที่บ้านอาฮง ต.ไคสี อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ กล่าวว่า เมื่อก่อนเคยทำนาดำ มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีราคาแพง และค่าแรงในการถอนกล้าและปักดำ ที่นับวันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ แรงงานก็หายาก อีกทั้งน้ำมันก็แพงขึ้น ซึ่งการทำนาดำค่อนข้างใช้เวลานานกว่าจะถอนต้นกล้ามาปักดำ จึงหันมาทำนาโยนเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ในส่วนของการทำนาดำนั้น มีข้อดีคือระยะห่างของต้นข้าวนั้นจะพอดี ไม่เบียดกัน ทำให้ต้นข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้เวลานานในการปักดำต้นข้าว ส่วนนาหว่านนั้นใช้เวลาที่น้อยกว่าและได้ปริมาณต้นข้าวที่มากกว่าด้วยการหว่านเมล็ด แต่มีข้อเสียคือในขณะที่รอต้นข้าวเติบโตนั้น ก็จะเสียเมล็ดไปกับการมาจิกกินของนก และหากฝนตกในวันที่หว่านแล้วเมล็ดข้าวก็จะลอยหายไปกับน้ำ ทำให้สิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์และมีต้นทุนสูง
ข้อดีของการทำนาโยนคือ ไม่ต้องหว่านต้นกล้า เพียงเราเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวตามที่ต้องการใส่ในถาด เพียง 15 วัน ก็ได้ต้นกล้าพร้อมโยนแล้ว ถึงวันก็จ้างรถไถนามาปั่นดิน แล้วก็โยนกล้า ข้อดีไม่ต้องก้มดำนา ไม่ต้องปวดเอว นาดำกับนาโยน เวลาข้าวโตมาก็มีลักษณะคล้ายกัน ส่วนต้นทุนประหยัดกว่านาดำได้มาก ไม่ต้องเสียค่าจ้างถอนต้นกล้า ค่าจ้างปักดำ มีเพียงค่ารถไถมาปั่น ผลผลิตได้มากกว่านาหว่าน อาจจะเท่านาดำ หรืออาจจะได้ดีกว่า ขึ้นอยู่กับการดูแลของชาวนา ขังน้ำไม่ให้หญ้าขึ้น ใส่ปุ๋ย ปีที่แล้วแปลงนาเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ได้ข้าวเกือบ 100 กระสอบ
แท็กที่เกี่ยวข้อง