สังคม

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 'ครูชัยยศ' ไม่เกี่ยวแบ่งอาหารให้เด็กมัธยม แต่ผิดที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

โดย paweena_c

8 ธ.ค. 2566

62 views

กรณีครูชัยยศ ถูกปลดออกจากราชการ ปมนำอาหารกลางวันของเด็กประถมไปให้เด็กมัธยม ล่าสุด ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาชี้แจงแล้ว

กรณี นายชัยยศ สุขต้อ อายุ 57 ปี อดีตครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3) ครูสอนศิลปะ โรงเรียนบ้านยางเปา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ครูรางวัลเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โพสต์ตัดพ้อชีวิต หลังคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประจำเขตพื้นที่การศึกษาของประถมศึกษา เขตพื้นการศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 5 มีคำสั่งปลดออกจากราชการ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงทุจริตเบียดบังงบอาหารกลางวันเด็ก

โดยโรงเรียนบ้านยางเปา เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ขณะที่ภาครัฐได้จัดงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ให้เฉพาะเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาเท่านั้น ทำให้เด็กชั้น ม.ต้น ไม่ได้รับงบประมาณส่วนนี้ แต่ผู้บริหารโรงเรียนเห็นว่า เด็ก ม.ต้น ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับผู้ปกครอง และมีฐานะยากจน ไม่มีแม้กระทั่งเงินมาโรงเรียน จึงบริหารจัดการงบประมาณ ให้สามารถซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันได้มากขึ้น ครอบคลุมถึงเด็ก ม.ต้น ที่กินนอนที่โรงเรียน แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้ถูกร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. จนนำมาสู่การชี้มูลความผิดครูชัยยศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวม 4 คน

ด้าน นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รักษาการแทนผู้ตรวจราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า โรงเรียนบ้านยางเปาเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 มีการขออนุญาตให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีนักเรียน 2 ประเภท คือนักเรียนไปเช้ากลับเย็นและนักเรียนพักนอน โดยนักเรียนพักนอนได้รับการสนับสนุนค่าอาหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5

ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษาจะได้รับการสนับสนุนค่าอาหารกลางวันจากองค์การบริหารส่วนตำบล อมก๋อย โดยเมื่อปี 2561 โรงเรียนบ้านยางเปามีนักเรียนระดับประถมศึกษาและอนุบาล จำนวน 235 คน นักเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 244 คน โดยมีนักเรียนพักนอน (รวมประถมและมัธยม) จำนวน 169 คน

โดยเรื่องนี้ นายจรัส สุพรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางเปา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อและตรวจรับอาหารกลางวันนักเรียน โดยมี นางบุณยนุช ใจปินตา เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาหาร, นางจิราพรรณ จาตุนันท์ และ นายชัยยศ สุขต้อ เป็นกรรมการตรวจรับการจัดหาอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนพักนอน ปี 2561 จำนวน 15 สัปดาห์

ปรากฏว่า นางบุณยนุชไม่ได้ดำเนินการขออนุมัติจัดซื้อตามแบบรายการและเอกสารของทางราชการที่กำหนด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

นางบุณยนุชทำบันทึกขออนุมัติยืมเงินโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เงินปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และอาหารนักเรียนพักนอน เป็นรายสัปดาห์ ซึ่งนายจรัสได้อนุมัติให้ยืมเงินสำหรับโครงการอาหารกลางวันฯ โดยไม่ได้สั่งการให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของทางราชการ แต่นางบุณยนุช กลับทำการยืมเงินโครงการอาหารกลางวัน สัปดาห์ละประมาณ 60,000 บาท แล้ว นางบุณยนุชเป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารและจ้างคนครัวเพื่อประกอบอาหารเองไม่เกินสัปดาห์ละ 48,500 บาท โดยไม่มีการทำสัญญาจ้างและไม่มีหลักฐานการเข้ามาประกอบอาหารแต่อย่างใด

ในส่วนเงินที่เหลือประมาณสัปดาห์ละ 10,000 บาท จำนวน 15 สัปดาห์ เป็นเงิน 172,240 บาทนั้น พบว่าในระหว่างสัปดาห์ นางบุณยนุชมีการจัดซื้อเพิ่มเติมจาก 2 แห่ง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าแต่ละสัปดาห์ได้มีการจัดซื้อเป็นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ขอใบเสร็จรับเงินจากร้านค้า

เมื่อตรวจสอบเอกสารชดใช้เงินยืม นางบุณยนุช ได้จัดพิมพ์ใบรับรองรายการจ่ายเงินค่าอาหารเป็นเท็จ แยกเป็นรายวัน วันละ 3 ใบ รวม 15 ใบ ทั้งที่ความจริงมีการส่งอาหารสดและอาหารแห้งมายังโรงเรียนบ้านยางเปา สัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้น โดยระบุใบรับรองรายการจ่ายเงินค่าอาหารไม่เกินใบละ 10,000 บาท โดยเพิ่มราคาต่อหน่วยของวัตถุดิบ

หรืออธิบายง่ายๆว่า นางบุณยนุชทำเรื่องขอยืมสำหรับซื้ออาหารกลางวัน อาหารสด อาหารแห้งจำนวน 60,000 บาท แต่ไปซื้อจริงเป็นเงิน 48,000 บาท และไม่ได้ขอใบเสร็จ จากนั้นก็ทำใบเสร็จขึ้นมาโดย มีนางจิราพรรณและนายชัยยศเป็นคนเซ็นรับรอง

ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า นางจิราพรรณและนายชัยยศ เป็นกรรมการตรวจรับได้ลงลายมือชื่อรับรอง และนางบุณยนุชจึงได้นำใบรับรองดังกล่าวมาเป็นหลักฐานการใช้จ่ายเงินแทนใบเสร็จรับเงิน นางจิราพรรณและนายชัยยศ ไม่ได้มีความผิดฐานทุจริต แต่มีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนอกจากนี้ยังเคยมีคนร้องเรียนมาด้วยว่า วัตถุดิบที่ทางโรงเรียนสั่งซื้อ ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเช่นไข่ไก่ที่สั่งซื้อมาเป็นคอนโด พอตรวจสอบมีคนถ่ายรูปส่งให้ ป.ป.ช. พบว่าตรงกลางโบ๋ ไม่มีแผงไข่

ส่วนกระแสข่าวที่ออกมาระบุว่านายชัยยศ ถูกปลดออกจากราชการเนื่องจากเป็นการแบ่งอาหารให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยม ไม่ได้เป็นการนำอาหารกลับไปรับประทานเอง ซึ่งในมุมของ ป.ป.ช. มองว่าตรงนี้ไม่มีความผิดและเป็นเรื่องที่ดีน่าสนับสนุน แต่ที่ผิด คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

ล่าสุด อดีตครูในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ออกมาแย้งคำชี้แจงของ ป.ป.ช. ที่บอกว่า เงินหายไปสัปดาห์ละ 10,000 บาท โดยที่โรงเรียนใบเสร็จในส่วนนี้ แต่เท่าที่ทราบ โรงเรียนมีเอกสารชี้แจง เป็นใบสำคัญรับเงินแทนใบเสร็จ แต่ ป.ป.ช.ไม่ยอมรับ ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายตรวจสอบภายในของเขตพื้นที่การศึกษาฯ มาตรวจสอบทุกปี และบอกว่า ใบสำคัญรับเงิน นั้นถูกต้อง โรงเรียนก็ปฏิบัติเรื่อยมาเป็นปกติ

ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ การจัดซื้อจัดจ้างบางอย่าง ไม่สามารถเรียกใบเสร็จจากผู้ขายได้ ให้ใช้ใบสำคัญรับเงินแทน เช่น การซื้อผัก ซื้อปลา หรือซื้อสิ่งที่จะนำมาประกอบอาหารจากชาวบ้าน จากแม่ค้าตามตลาดสด แม่ค้าไม่มีใบเสร็จ มีแต่ใบสำคัญรับเงิน ดังนั้น เงินที่หายไปสัปดาห์ละ 10,000 บาท ที่จริงไม่ได้หายไปไหน ชี้แจงได้จากใบสำคัญรับเงิน แต่ ป.ป.ช.ไม่ยอม โดยชี้ว่า เป็นการสร้างเอกสารเท็จ และต้องการใบเสร็จเท่านั้น เมื่อไม่มีใบเสร็จ จึงชี้มูลว่า มีการทุจริต

ซึ่งกรณีของครูชัยยศ เป็นผู้ตรวจรับพัสดุ ก็ตรวจนับตามที่มีการจัดซื้อมา ว่ามีของครบหรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ ก็ปฎิบัติมาแบบนี้หลายปี โดยไม่มีความรู้สึกว่า ตัวเองทำผิด


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/6Tq326aRTlk


คุณอาจสนใจ

Related News